คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 26/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 297 โดยคำฟ้องของโจทก์ซึ่งโจทก์ร่วมทั้งสองขอถือเอาเป็นคำฟ้องด้วยบรรยายแต่เพียงว่า จำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายโดยใช้มือจับแขนของผู้เสียหาย แล้วเหวี่ยงอย่างแรงจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายล้มลงก้นกระแทกพื้นรับอันตรายสาหัสต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ซึ่งตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณสะโพกขวาช้ำและอักเสบอย่างรุนแรง ใช้เวลารักษา 6 ถึง 8 สัปดาห์ ไม่ได้ความว่าผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้แม้โจทก์ร่วมทั้งสองจะยื่นคำร้องอ้างว่า การทำร้ายของจำเลยทำให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะบริเวณท้ายทอยต้องเข้ารักษาพยาบาลผ่าตัดเอาก้อนเลือดที่บริเวณท้ายทอยออก และรักษาตัวจนถึงแก่ความตาย โดยโจทก์ไม่คัดค้านการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม แต่ผู้เสียหายถึงแก่ความตายหลังเกิดเหตุนานเกือบ 9 เดือน และบาดแผลที่เป็นสาเหตุให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายมิใช่บาดแผลที่ผู้เสียหายถูกจำเลยทำร้ายตามฟ้อง ทั้งโจทก์มิได้ยืนยันแน่นอนว่าบาดแผลที่ทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายเกิดจากการกระทำของจำเลย ดังนี้ โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นผู้บุพการีของผู้เสียหาย จึงไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายโดยเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) โจทก์ร่วมทั้งสองจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2547 เวลากลางวันจำเลยใช้มือจับแขนนายกมลชัย ผู้เสียหาย แล้วเหวี่ยงอย่างแรงเป็นเหตุให้ผู้เสียหายล้มก้นกระแทกกับพื้นได้รับอันตรายสาหัส ต้องเจ็บป่วยด้วยอาการทุกขเวทนาและประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายเกษม และนางเม่ง บิดามารดาของผู้เสียหาย ยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2548 ผู้เสียหายถึงแก่ความตายด้วยสาเหตุเลือดออกในสมอง อันเป็นผลโดยตรงจากการกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้กระทำร้ายรับอันตรายสาหัสของจำเลย ซึ่งทำให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บข้อสะโพกข้างขวาหลุดต้องเข้ารักษาต่อเนื่องและได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะบริเวณท้ายทอยต้องเข้ารักษาพยาบาลผ่าตัดเอาก้อนเลือดที่บริเวณท้ายทอยออกและพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลจนถึงแก่ความตาย ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ โดยขอถือเอาคำฟ้องและบัญชีระบุพยานของพนักงานอัยการเป็นเสมือนคำฟ้องและบัญชีระบุพยานของผู้ร้องด้วย ศาลชั้นต้นสอบโจทก์แล้วไม่ค้านและมีคำสั่งว่าได้ความว่าผู้เสียหายถึงแก่ความตายไปแล้ว ผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เสียหาย จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 3 (2) และมาตรา 5 (2) อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าร่วมเป็นโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับว่า จำเลยที่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญ มาตรา 297 (8) จำคุก 1 ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) บัญญัติว่า “บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้ (2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้” แต่จากคำฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ซึ่งโจทก์ร่วมทั้งสองขอถือเอาเป็นคำฟ้องด้วยคงบรรยายแต่เพียงว่า จำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายโดยใช้มือจับแขนของผู้เสียหาย แล้วเหวี่ยงอย่างแรงจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายล้มลงก้นกระแทกพื้นรับอันตรายสาหัสต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ซึ่งตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารท้ายฟ้อง ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณสะโพกขวาช้ำและอักเสบอย่างรุนแรง (เอกซเรย์ไม่พบกระดูกสะโพกแตกและเคลื่อน) ใช้เวลารักษา 6 ถึง 8 สัปดาห์ ตามคำฟ้องดังกล่าวไม่ได้ความว่าผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ แต่อย่างใด แม้โจทก์ร่วมทั้งสองจะยื่นคำร้องอ้างว่า การทำร้ายของจำเลยทำให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะบริเวณท้ายทอยต้องเข้ารักษาพยาบาลผ่าตัดเอาก้อนเลือดที่บริเวณท้ายทอยออก และรักษาตัวถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2548 จึงถึงแก่ความตาย โดยโจทก์ไม่คัดค้านการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมก็ตาม แต่ผู้เสียหายถึงแก่ความตายหลังเกิดเหตุนานเกือบ 9 เดือน และบาดแผลที่เป็นสาเหตุให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายก็มิใช่บาดแผลที่ผู้เสียหายถูกจำเลยทำร้ายตามฟ้อง ทั้งโจทก์ก็มิได้ยืนยันแน่นอนว่าบาดแผลที่ทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายเกิดจากการกระทำของจำเลยจริง ดังนั้น โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นผู้บุพการีของผู้เสียหาย จึงไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายโดยเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้ได้เนื่องจากไม่อยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) โจทก์ร่วมทั้งสองจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าว เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จะพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลย ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัย เนื่องจากเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้บังคับไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และยกฎีกาของจำเลย

Share