คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 26/2491

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำนองที่ดินไว้แก่เขาภายหลังตกลงขายที่ดินนั้นแก่ผู้รับจำนองครึ่งหนึ่ง โดยตกลงกันให้หักหนี้ที่จำนองเป็นการชำระหนี้สินสิ้นเชิง
ถ้าการตกลงนั้นมิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือ ผู้รับจำนองไม่มีอำนาจฟ้องผู้จำนองให้โอนที่ดินครึ่งที่ขายให้ตนได้ และจะถือว่าเงินที่รับจำนองเท่าราคาซื้อขายจึงเป็นการชำระเงินแล้วก็ไม่ได้ เพราะผู้รับจำนองยังมิได้ปลดการจำนองให้ผู้จำนอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับนายเทียมฟ้องโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 5400 โจทก์และนางเทียบได้จำนองที่ดินดังกล่าวไว้แก่จำเลยเป็นเงิน 1,100 บาท ต่อมานายเทียบโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของนายเทียบให้โจทก์ ๆ ขอไถ่จากจำเลย ๆ ไม่ยอมจึงขอให้บังคับจำเลยรับไถ่ถอน

จำเลยให้การเป็นฟ้องแย้งว่า เมื่อโจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์จากนายเทียบแล้ว โจทก์ได้ตกลงขายที่ดินนั้นให้จำเลยครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 1,100 บาท โดยตกลงกันให้หักหนี้ที่จำนองเป็นการชำระหนี้สิ้นเชิงแล้วโจทก์ได้มายื่นคำขอต่อพนักงานที่ดินขอแบ่งแยกที่ดินโฉนด 5400 ออกครึ่งหนึ่งเพื่อขายให้จำเลย ภายหลังโจทก์กลับขอถอนการแบ่งแยกเสียจำเลยจึงขอให้ศาลบังคับโจทก์ให้จัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนด 5400 ให้จำเลยครึ่งหนึ่ง

โจทก์ให้การแก้ฟ้องว่า ได้ตกลงขายที่ดินให้จำเลย และขอให้เจ้าพนักงานไปรังวัดเพื่อแบ่งแยกจริง แต่ตกลงกับจำเลยด้วยปากเปล่าหาได้ทำหนังสือเป็นหลักฐานจำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456

ทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจสืบพยาน

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์โอนที่นาโฉนดที่ 5400 ให้จำเลยครึ่งหนึ่ง

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยรับไถ่ถอนจำนอง

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ถ้าคำขอแบ่งแยกที่ดินของโจทก์ มีข้อความชัดเจนว่า ขอแบ่งแยกเพื่อขายให้แก่จำเลยแล้ว ก็ย่อมเป็นหลักฐานตามความหมายแห่งมาตรา 456 แต่ในเรื่องนี้จำเลยมิได้อ้างคำขอนั้นมาจึงไม่สามารถทราบได้ว่า คำขอนั้นมีข้อความว่ากระไร เพราะอาจจะขอแบ่งแยกเฉย ๆ หรือเพื่อขาย แต่มิได้ระบุชื่อจำเลยได้ก็ได้ ตามคำแถลงรับของจำเลยก็มีเพียงว่า “โจทก์ ได้ขอให้เจ้าพนักงานไปทำการแบ่งแยกที่ดินจริง หาได้รับว่าในคำขอนั้นได้ระบุไว้ว่าจะขายให้จำเลยด้วยไม่ ทั้งโจทก์ก็ได้ต่อสู้ว่าข้อตกลงซื้อขายกัน พูดด้วยปากเปล่าไม่ผูกมัดโจทก์ตามกฎหมายดังนี้ จะฟังว่าเป็นคำรับผิดตามคำฟ้องแย้งไม่ได้ ส่วนข้อที่จำเลยอ้างว่าจำนวนเงินที่รับจำนองเท่ากับราคาซื้อขาย ควรถือว่าได้ชำระเงินแล้วนั้น ก็เห็นว่า แม้จำนวนเงินจะเท่ากัน แต่จำเลยยังมิได้ปลดการจำนองให้แก่โจทก์ จะถือว่าได้ชำระเงินจำนวนนั้นให้แก่โจทก์แล้วไม่ได้ จึงพิพากษายืน

Share