แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ตายทำพินัยกรรมยกที่ดินบ้านเรือนให้โจทก์จำเลยคนละเท่าๆกัน โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าต่อไปภายหน้าผู้ที่ได้รับที่ดินบ้านเรือนนี้คนใดไม่ต้องการที่ดินบ้านเรือนรายนี้ ต้องขายให้แก่บรรดาผู้ที่ยังคงต้องการ โดยกำหนดราคาไว้ ผู้ใดที่ไม่ต้องการ ก็ให้ได้รับเงินแทนค่าที่ดินบ้านเรือนไปตามส่วนที่ตีราคาไว้ในพินัยกรรมนี้ โดยให้ผู้ต้องการอยู่จ่ายเงินตามส่วนที่กำหนดไว้นี้ให้ไป ผู้ใดไม่ต้องการ จะเรียกร้องเอาราคาที่เกินกว่าที่กำหนดไว้นี้ไม่ได้ ดังนี้ โจทก์ก็ยังมีสิทธิที่จะฟ้องร้องขอให้แบ่งทรัพย์รายนี้โดยวิธีประมูลราคาระหว่างโจทก์จำเลย ซึ่งถ้าไม่ตกลงกันก็ขายทอดตลาด เอาเงินมาแบ่งปันกันได้ เพราะไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ต้องการทรัพย์ที่ยกให้ตามพินัยกรรม อันจะต้องขายให้ผู้รับทรัพย์ร่วมกันตามข้อกำหนดในในพินัยกรรม แต่เป็นเรื่องที่โจทก์เรียกร้องให้แบ่งทรัพย์ที่โจทก์ได้รับมาแล้วร่วมกับจำเลยตามพินัยกรรม์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นเจ้าของทรัพย์รายพิพาทร่วมกัน ขอให้ขายทอดตลาดทรัพย์รายนี้ ได้เงินเงินสุทธิมากน้อยเท่าใด แบ่งให้โจทก์จำเลยคนละส่วนเท่าๆกัน จำเลยต่อสู้ว่า จะขายทอดตลาดไม่ได้ จำเลยยินดีชำระราคาตามข้อกำหนดพินัยกรรม
ศาลชั้นต้นฟังว่า นางสุดใจ เลขาวณิชย์วายชนม์ ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินบ้านเรือนซึ่งเป็นทรัพย์รายพิพาทให้โจทก์จำเลยคนละส่วนเท่าๆกัน โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าต่อไปภายหน้าผู้ที่ได้รับที่ดินบ้านเรือนนี้คนใดไม่ต้องการที่ดินบ้านเรือนรายนี้ต้องขายให้แก่บรรดาผู้ที่ยังคงต้องการ โดยกำหนดราคาไว้ดังนี้ คือที่ดินโฉนดที่ ๖๘๘ พร้อมด้วยบ้านเรือนโรงตีราคาไว้ ๒๐๐๐ บาท ที่ดินโฉนดที่ ๙๓๒ พร้อมด้วยบ้านเรือนโรงตีราคาไว้ ๘๐๐๐ บาท ผู้ใดที่ไม่ต้องการก็ให้ได้รับเงินแทนค่าที่ดินบ้านเรือนโรงไปตามส่วนที่ตีราคากำหนดไว้ในพินัยกรรมนี้ โดยให้ผู้ต้องการอยู่ จ่ายเงินตามส่วนที่กำหนดไว้นี้ให้ไป ผู้ใดไม่ต้องการจะรียกร้อง เอาราคาที่เกินกว่ากำหนดนี้ไม่ได้
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ผู้ทำพินัยกรรมมีความประสงค์ให้ผู้รับมีส่วนเท่าๆกัน จึงกำหนดราคาไว้เพื่อมิให้ผู้ใดโต้แย้ง หากผู้ทำพินัยกรรมคาดหมายได้ว่า ภายหลังค่าของเงินจะเปลี่ยนแปลงไปในทางสูงขึ้นหรือต่ำลงอาจจะไม่กำหนดข้อนี้ไว้ ฉะนั้น ยึดเอาราคาปัจจุบันเป็นหลัก ย่อมเป็นการชอบธรรมและตรงกับความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมจะให้ได้รับส่วนเท่าๆกันอยู่นั่นเอง ทั้งเงื่อนไขในเรื่องนี้ก็เท่ากับเป็นเงื่อนไขให้ผู้รับพินัยกรรม จำหน่ายทรัพย์ที่ยกให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งตาม ป.ม.แพ่งมาตรา ๑๗๐๗ ให้ถือว่าเงื่อนไขนั้นเป็นอันไม่มีเลย จึงพิพากษาให้แบ่งทรัพย์รายพิพาท โดยวิธีประมูลราคากันระหว่างโจทก์จำเลย หากไม่ตกลง ก็ให้ขายทอดตลาด แล้วแบ่งกันตามส่วน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตาม ก.ม.ยอมให้เจ้าของรวมมีสิทธิที่จะเรียกร้องขอให้แบ่งทรัพย์ที่เป็นเจ้าของร่วมกันได้ และศาลก็ย่อมพิพากษาให้แบ่ง ตาม ป.ม.แพ่งมาตรา ๑๓๖๔ กรณีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์เรียกร้องให้แบ่งทรัพย์ที่โจทก์ได้รับมาแล้วร่วมกับจำเลยตามพินัยกรรม มิใช่เป็นเรืองที่โจทก์ไม่ต้องการทรัพย์ที่ยกให้ตามพินัยกรรม อันจะต้องขายให้ผู้รับทรัพย์ร่วมกันตามข้อกำหนดในพินัยกรรม ฉะนั้น ฉะนั้นแม้จะถือว่าเงื่อนไขเช่นนี้ ไม่เข้ามาตรา ๑๗๐๗ ดังฎีกาของจำเลย จำเลยก็ไม่มีทางชนะคดีได้
จึงพิพากษายืน