คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2592/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์นำรถยนต์กระบะส่วนตัวของโจทก์รับลูกค้าของจำเลยออกจากโรงแรมของจำเลยไปส่งที่ถนนใหญ่หน้าโรงแรม 1 ครั้ง และไปส่งในเมืองภูเก็ตอีก 1 ครั้ง และแม้โจทก์จะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน 200 บาท ก็มีลักษณะเป็นค่าทิปหรือสินน้ำใจจากแขกที่อาศัยรถยนต์ของโจทก์เท่านั้น โจทก์มิได้ประกอบธุรกิจการค้าหรือมุ่งหวังจะรับส่งแขกของจำเลยโดยเรียกค่าบริการระยะเวลาที่โจทก์รับแขกของจำเลยออกจากโรงแรมครั้งแรกและครั้งที่ 2 ก็ห่างกันถึง 5 วัน การกระทำของโจทก์มิได้มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับธุรกิจบริการของจำเลยประกอบกับการรับส่งแขกดังกล่าวโจทก์ก็มิได้แอบอ้างว่าเป็นธุรกิจของจำเลย จึงไม่ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงในธุรกิจของจำเลยทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์รับส่งลูกค้าของจำเลยในเวลาทำงานหรือไม่ การกระทำของโจทก์แม้จะเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แต่ลักษณะของการกระทำของโจทก์ประกอบกับสภาพของความเสียหายที่อาจจะก่อให้เกิดแก่จำเลยแล้ว ยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีร้ายแรงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่ พ.ศ. 2530 เป็นต้นมาตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงานรับโทรศัพท์ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 6,710 บาทเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2542 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด และไม่เป็นธรรม โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน67,100 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 67,100 บาท และค่าเสียหายเป็นเงิน 1,610,400 บาท แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ลักลอบนำรถยนต์ส่วนตัวไปดำเนินการค้าและรับส่งลูกค้าของจำเลยโดยเรียกและรับค่าบริการซึ่งขัดต่อวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจของจำเลย อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรง นอกจากนี้จำเลยเคยว่ากล่าวตักเตือนโจทก์มาก่อนแล้วแต่โจทก์เพิกเฉย และยังคงปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ จำเลยจึงเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์การที่โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยแม้จะมิใช่กรณีร้ายแรง จำเลยก็มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายให้แก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 67,000 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงข้อเดียวว่า การที่โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยโดยนำรถยนต์ส่วนตัวรับส่งแขกซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยในกรณีร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 9 และ 14 มกราคม 2542 โจทก์นำรถยนต์กระบะส่วนตัวของโจทก์รับแขกซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยออกจากโรงแรมของจำเลยไปส่งที่ถนนใหญ่หน้าโรงแรม 1 ครั้ง และไปส่งในเมืองภูเก็ตอีก 1 ครั้ง และแม้โจทก์จะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน 200 บาท ก็มีลักษณะเป็นค่าทิปหรือสินน้ำใจจากแขกที่อาศัยรถยนต์ของโจทก์เท่านั้น โจทก์มิได้ประกอบธุรกิจการค้าหรือมุ่งหวังจะรับส่งแขกของจำเลยโดยเรียกค่าบริการแต่อย่างใด ระยะเวลาที่โจทก์รับแขกของจำเลยออกจากโรงแรมครั้งแรกและครั้งที่ 2 ก็ห่างกันถึง 5 วันการกระทำของโจทก์มิได้มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับธุรกิจบริการของจำเลยประกอบกับการรับส่งแขกดังกล่าวโจทก์ก็มิได้แอบอ้างว่าเป็นธุรกิจของจำเลยจึงไม่ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงในธุรกิจของจำเลยแต่ประการใด การกระทำของโจทก์แม้จะรับฟังได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยแต่ลักษณะของการกระทำของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์รับส่งแขกซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยในเวลาทำงานหรือไม่ ประกอบกับสภาพของความเสียหายที่อาจจะก่อให้เกิดแก่จำเลยแล้ว ยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีร้ายแรงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(4)

พิพากษายืน

Share