คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2541/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ฟ้องแย้งของจำเลยจะเกี่ยวกับฟ้องเดิม ซึ่งทำให้สามารถยื่นเข้ามาในคำให้การได้ แต่ฟ้องแย้งมีลักษณะเป็นคำฟ้อง การเสนอคำฟ้องแย้ง จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 2 (1) เมื่อฟ้องแย้งของจำเลยมีทุนทรัพย์เกินกว่า 300,000 บาท จึงไม่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะรับคดีไว้พิจารณาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) การจะนำ ป.วิ.พ. มาตรา 192 วรรคสี่ มาใช้บังคับแก่คดีได้นั้น จะต้องเป็นศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 244,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 230,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ แก้ไขคำการ และฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินจำนวน 307,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 300,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำให้การจำเลย ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยมีทุนทรัพย์เกินสามแสนบาท ไม่อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาพิพากษา จึงไม่รับฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยไว้พิจารณาชอบหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า แม้ฟ้องแย้งของจำเลยมีทุนทรัพย์เกินกว่า 300,000 บาท ซึ่งทำให้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลชั้นต้นก็ตาม แต่ฟ้องแย้งของจำเลยเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับฟ้องเดิม และตามเจตนารมณ์ในการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 192 วรรคสี่ ขึ้นใหม่ ก็เพื่อให้ศาลที่ไม่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีดังเช่นศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาคดีในส่วนคำฟ้องแย้งของจำเลยได้ เพื่อความรวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่ายและเป็นธรรมแก่คู่ความทุกฝ่าย เห็นว่า แม้ฟ้องแย้งของจำเลยจะเกี่ยวกับฟ้องเดิม ซึ่งทำให้จำเลยสามารถยื่นฟ้องแย้งมาในคำให้การได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ก็ตาม แต่ฟ้องแย้งมีลักษณะเป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (3) ดังนั้น การเสนอคำฟ้องแย้งต่อศาลจึงต้องอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 2 (1) กล่าวคือ ศาลนั้นต้องมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีตามฟ้องแย้งนั้นได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม เมื่อฟ้องแย้งของจำเลยมีทุนทรัพย์ 307,500 บาท เกินกว่า 300,000 บาท จึงไม่อยู่ในอำนาจศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นศาลแขวงที่จะรับไว้พิจารณาพิพากษาได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 192 วรรคสี่ ที่จำเลยอ้างมาในฎีกานั้น เป็นเรื่องวิธีพิจารณาคดีที่ให้อำนาจศาลชั้นต้นในกรณีที่จำเลยฟ้องแย้งเข้ามาในคดีมโนสาเร่ว่าจะดำเนินการพิจารณาคดีไปอย่างคดีสามัญหรืออย่างคดีมโนสาเร่อันเป็นวิธีพิจารณาวิสามัญ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ศาลที่มีอำนาจสั่งให้นำวิธีพิจารณาคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 192 วรรคสี่ มาใช้บังคับแก่คดีได้ จะต้องเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมได้ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share