แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โรงเรือนของโจทก์เป็นประเภทโรงงาน โรงเรือนของบริษัท ท.เป็นโรงเรือนธรรมดา สภาพของโรงเรือนไม่เหมือนกัน พนักงานของจำเลยที่ 1 นำอัตราค่าเช่าโรงเรือนของบริษัท ท. ซึ่งให้บริษัท ข. เช่ามาเป็นเกณฑ์คำนวณค่ารายปีของบริษัทโจทก์ด้วย จึงไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง และที่โรงเรือนของบริษัท ท.ให้เช่าได้เดือนละ 100,000 บาท ก็เป็นเรื่องเฉพาะรายไม่ใช่อัตราค่าเช่าทั่ว ๆ ไป ทั้งที่ดินและโรงเรือนดังกล่าวอยู่คนละถนนกัน การที่พนักงานของจำเลยที่ 1 แก้ไขค่ารายปีของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียภาษีโรงเรือนเพิ่มขึ้นมากมาย และอัตราส่วนที่เพิ่มก็ไม่แน่นอน ดังนี้ เป็นการประเมินเรียกเก็บภาษีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สมควรให้ประเมินเพิ่มขึ้นปีละ 20 เปอร์เซ็นต์ตามทภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น
โรงพ่นสีของโจทก์ให้เป็นที่พ่นสีกระเบื้องลอนคู่มุงหลังคาบ้าน ภายในโรงงานมีแท่นสายพาน 3 แท่น ยาวตลอดโรงงานติดตั้งถาวรกับเสาเหล็กมีกล่องเหล็กสำหรับอบความร้อนและพ่นสีหุ้นสายพาน มีเครื่องพ่นสีติดตั้งอยู่เหนือแท่นสายพาน มีเครื่องปั๊มลมอยู่ด้านหลัง ใกล้ ๆ เครื่องปั๊มลมมีเครื่องทำความร้อน 2 เครื่อง และมีท่อระบายความร้อนผ่านเหนือแท่นสายพาน โรงพ่นสีของโจทก์จึงเป็นโรงเรือนที่ติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไก เพื่อให้ดำเนินอุตสาหกรรมผลิตกระเบื้องของโจทก์ ย่อมได้รับลดหย่อนค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามตาม มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 หาจำต้องเป็นเครื่องจักรกลไกที่มีลักษณะเป็นเครื่องกระทำหรือเครื่องกำเนิดสินค้าด้วยไม่
โจทก์เป็นบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้าและประกอบการอุตสาหกรรมผลิตกระเบื้องกระดาษเพื่อมุ่งหาผลกำไร สำนักงานนายช่างก็คือสถานที่ดำเนินงานของโจทก์ ส่วนโรงอาหารก็จัดไว้เพื่อพนักงานของโจทก์หรือผู้ที่มาติดต่อธุรกิจกับโจทก์ส่วนสถานพยาบาลก็เป็นสถานที่สำหรับรักษาพยาบาลให้แก่พนักงานของโจทก์โดยเฉพาะถือได้ว่าโจทก์ใช้โรงเรือนดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมของโจทก์มิใช่อยู่เองหรือให้ผู้แทนอยู่เฝ้ารักษาตามความหมาย ของมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475ที่แก้ไขแล้ว
พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 มาตรา 39 วรรคสอง มีความหมายว่า ในกรณีที่โจทก์ฟ้องขอคืนเงินค่าภาษีส่วนที่โจทก์จำต้องชำรเกินไปและศาลพิพากษาให้คืน จำเลยก็ต้องคืนให้โจทก์ภายในกำหนด 3 เดือนนับแต่คำพิพากษาถึงที่สุดโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย แต่ถ้าไม่คืนในกำหนดเวลาดังกล่าวจำเลยก็ต้องเสียดอกเบี้ย (ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี)ให้โจทก์โดยนับแต่วันครบกำหนด 3 เดือนจากวันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า พนักงานของจำเลยที่ ๑ ประเมินภาษีโรงเรือนของโจทก์รวม ๑๘ รายการ ใน พ.ศ. ๒๕๒๓ และ พ.ศ. ๒๕๒๔ สูงกว่าในปี ๒๕๒๒ มาก โดยสูงกว่าตั้งแต่ร้อยละ ๔๔ ถึงร้อยละ ๖๕๔ โดยเฉพาะโรงเรือนรายการที่ ๑๐ นั้นเป็นโรงพ่นสีควรได้รับลดหย่อนค่ารายปีลงหนึ่งในสาม และโรงเรือนรายการที่ ๑๖, ๑๗, ๑๘ คือสำนักงานนายช่าง โรงอาหาร และสถานพยาบาลเป็นโรงเรือนที่โจทก์ใช้ติดต่อธุรกิจของโจทก์เอง มิได้ใช้เป็นที่เก็บสินค้าหรือประกอบอุตสาหกรรม ย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือน แต่พนักงานของจำเลยที่ ๑ ไม่คำนวณให้ดังกล่าวภาวะค่าครองชีพหรือภาวะเศรษฐกิจสูงขึ้นปีละไม่เกินร้อยละ ๒๐ โจทก์ได้ร้องขอให้จำเลยที่ ๒ พิจารณาประเมินภาษีโรงเรือนใหม่โดยได้นำเงินค่าภาษีจำนวนที่พนักงานประเมินประเมินได้ไปชำระแก่จำเลยที่ ๑ แล้ว จำเลยที่ ๒ มีคำชี้ขาดให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือนตามจำนวนที่พนักงานของจำเลยที่ ๑ ได้ประเมินไว้โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วย ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๓ และ พ.ศ. ๒๕๒๔ และเพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลยที่ ๒ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินภาษีที่เรียกเก็บเกินไปพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า โรงเรือนรายการที่ ๑๖, ๑๗, ๑๘ โจทก์ใช้ติดต่อธุรกิจของโจทก์ใช้เป็นสถานพยาบาล เป็นการแสงหาประโยชน์จากโรงเรือนนั้นโดยตรง ไม่ได้รับงดเว้นภาษี พนักงานของจำเลยที่ ๑ ได้กำหนดค่ารายปีโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕ มาตรา ๘ ประกอบกับนำโรงเรือนพิพาทเทียบกับโรงเรือนของผู้อื่นซึ่งอยู่ในลักษณะคล้ายคลึงกัน และอยู่ในทำเลที่ตั้งคล้ายกับโรงเรือนของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๒ ได้ชี้ขาดไปตามความเห็นของคณะกรรมการที่เห็นด้วยกับการประเมิน การประเมินและคำชี้ขาดดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนประจำปี ๒๕๒๓ และ ๒๕๒๔ และเพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลยที่ ๒ ให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินค่าภาษีโรงเรือนแก่โจทก์จำนวน ๔๕๓,๕๑๙.๔๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงิน ๒๔๐,๗๑๓.๘๕ บาท นับแต่วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๒๓ และของจำนวนเงิน ๒๑๒,๘๐๕.๖๐ บาท นับแต่วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๒๔ จนถึงวันชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและคำชี้ขาดของจำเลยที่ ๒ ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแต่เห็นว่าสำหรับรายการที่ ๑๖, ๑๗, ๑๘ เป็นการประเมินเรียกเก็บโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมายไม่ใช่เป็นกรณีที่ลดภาษีตามมาตรา ๓๙ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕ จำเลยไม่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายมาตรานี้ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ คืนภาษีโรงเรือนแก่โจทก์จำนวน ๔๕๓,๕๐๙.๔๕ บาท (ควรเป็น ๔๕๓,๕๑๙.๖๐) ภายในกำหนดสามเดือน มิฉะนั้นให้จำเลยที่ ๑ เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน ๒๒๕,๖๐๘.๘๕ บาท นับแต่วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๒๓ และในต้นเงิน ๑๙๗,๗๐๐.๖๐ บาท นับแต่วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๒๔ จนถึงวันชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ นำอัตราค่าเช่าโรงเรือนของบริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด ซึ่งให้บริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ จำกัด เช่า มาเป็นเกณฑ์คิดคำนวณค่ารายปีของบริษัทโจทก์ด้วยนั้นยังไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะสภาพของโรงเรือนไม่เหมือนกัน คือ โรงเรือนของโจทก์เป็นประเภทโรงงาน ส่วนของบริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด เป็นโรงเรือนธรรมดา และการให้เช่าเดือนละ ๑๐๐,๐๐๐ บาทนั้น ก็เป็นเรื่องเฉพาะรายอาจเป็นความจำเป็นของผู้เช่าก็ได้ หาใช่เป็นอัตราค่าเช่าทั่ว ๆ ไปไม่ ทั้งที่ดินและโรงเรือนดังกล่าวก็อยู่คนละถนนกัน การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้แก้ไขค่ารายปีของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียภาษีโรงเรือนเพิ่มขึ้นมากมาย ซึ่งบางรายการเพิ่มขึ้นถึง ๖๕๔ เปอร์เซ็นต์ และภาษีที่เพิ่มขึ้นนั้นก็เพิ่มในอัตราส่วนที่ไม่แน่นอน บางรายการเพิ่มขึ้น ๖๕๔ เปอร์เซ็นต์ บางรายการเพิ่มขึ้น ๔๗๐ เปอร์เซ็นต์ และบางรายการก็เพิ่มขึ้น ๔๔ เปอร์เซ็นต์ เป็นการประเมินเรียกเก็บภาษีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สมควรให้ประเมินในอัตราที่เพิ่มขึ้นปีละ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ตามภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นดังที่โจทก์อ้าง
สำหรับโรงพ่นสีรายการที่ ๑๐ เมื่อศาลชั้นต้นออกไปตรวจสอบโรงเรือนพิพาทได้บันทึกเกี่ยวกับการตรวจสอบไว้ว่า เป็นอาคารที่ใช้เป็นที่พ่นสีกระเบื้องลอนคู่มุงหลังคาบ้าน ภายในโรงงานมีแท่นสายพาน ๓ แท่น ยาวตลอดโรงงาน ตัวสายพานเป็นลูกกลิ้งเหล็กใช้โซ่เป็นตัวฉุดลาก ติดตั้งถาวรกับเสาเหล็กมีกล่องเหล็กสำหรับอบความร้อนและพ่นสีหุ้มสายพาน มีเครื่องพ่นสีติดตั้งอยู่เหนือแท่นสายพาน มีเครื่องปั๊มลมอยู่ด้านหลัง ส่วนเครื่องทำความร้อนอยู่ใกล้ ๆ กับเครื่องปั๊มลม เครื่องทำความร้อนนี้ทำความร้อนได้ ๔๐,๐๐๐ แคลอรี่ต่อชั่วโมง รวม ๒ เครื่อง มีท่อลมระบายความร้อนจากเครื่องทำความร้อนผ่านไปเหนือแท่นสายพาน และข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อโจทก์ผลิตกระเบื้องขึ้นแล้วจะนำมาพ่นสีที่โรงงานแห่งนี้ เมื่อพิเคราะห์ข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วประกอบกับภาพถ่ายโรงงานพ่นสีหมาย จ.๓๓ ศาลฎีกาเห็นว่าโรงพ่นสีรายการที่ ๑๐ ของโจทก์ เป็นโรงเรือนที่ติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไก เพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมผลิตกระเบื้องของโจทก์ ย่อมได้รับลดหย่อนค่ารายปีลงเหลือ ๑ ใน ๓ ตามมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕ โดยเครื่องจักรกลไกที่นำมาติดตั้งนั้นหาจำเป็นต้องมีลักษณะเป็นเครื่องกระทำหรือเครื่องกำเนิดสินค้าด้วยไม่
โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นอันจะได้รับงดเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕ ที่แก้ไขโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๕ มาตรา ๓ นั้น ได้แก่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งเจ้าของอยู่เองหรือให้ผู้แทนอยู่เฝ้ารักษา และซึ่งมิได้ใช้เป็นที่ไว้สินค้าหรือประกอบอุตสาหกรรม พิเคราะห์แล้วเห็นว่าโจทก์เป็นบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้าและประกอบการอุตสาหกรรมผลิตกระเบื้องกระดาษเพื่อมุ่งหาผลกำไร สำนักงานนายช่างก็คือสถานที่ดำเนินงานของโจทก์นั้นเอง ส่วนโรงอาหารก็จัดไว้เพื่อพนักงานของโจทก์หรือผู้ที่มาติดต่อธุรกิจกับโจทก์ ส่วนสถานพยาบาลก็เป็นสถานที่สำหรับรักษาพยาบาลให้แก่พนักงานของโจทก์โดยเฉพาะ ย่อมถือได้ว่าโจทก์ใช้โรงเรือนดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมของโจทก์ มิใช่โจทก์อยู่เองหรือให้ผู้แทนอยู่เฝ้ารักษาตามความหมายของมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงไม่ได้รับงดเว้นภาษีโรงเรือน
พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕ มาตรา ๓๙ วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า “ถ้าศาลตัดสินให้ลดค่าภาษี ท่านให้คืนเงินส่วนที่ลดนั้นภายในสามเดือน โดยไม่คิดค่าอย่างใด” ซึ่งหมายความว่าในกรณีที่โจทก์ฟ้องขอคืนเงินค่าภาษีส่วนที่โจทก์จำต้องชำระเกินไปและศาลพิพากษาให้คืน จำเลยก็ต้องคืนให้โจทก์ภายในกำหนด ๓ เดือนนับแต่คำพิพากษาถึงที่สุด โดยมิต้องเสียดอกเบี้ย แต่ถ้าไม่คืนในกำหนดเวลาดังกล่าว จำเลยก็ต้องเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ โดยคิดดอกเบี้ยนับแต่วันครบกำหนด ๓ เดือนจากวันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด มิใช่นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินภาษี
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี ๒๕๒๓ เฉพาะรายการที่ ๑, ๒, ๕, ๘, ๙, ๑๐, ๑๑, ๑๒, ๑๔ และ ๑๕ โดยให้ลดภาษีเป็นจำนวนเงิน ๒๒๕,๖๐๘.๘๕ บาท และให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี ๒๕๒๔ เฉพาะรายการที่ ๑, ๒, ๘, ๙, ๑๐, ๑๑, ๑๒ และ ๑๕ โดยให้ลดค่าภาษีเป็นจำนวนเงิน ๑๙๗,๗๐๐.๖๐ บาท และให้เพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลยที่ ๒ เกี่ยวกับรายการดังกล่าวแล้วข้างต้น ให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแก่โจทก์จำนวน ๒๒๕,๖๐๘.๘๕ บาท และ ๑๙๗,๗๐๐.๖๐ รวมเป็นเงิน ๔๒๓,๓๐๙.๔๕ บาท ภายใน ๓ เดือน นับแต่วันฟังคำพิพากษาศาลฎีกาถ้าไม่ชำระในกำหนดเวลาดังกล่าว ก็ให้เสียดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันครบกำหนด ๓ เดือนจากวันฟังคำพิพากษาศาลฎีกา จนกว่าจะชำระเสร็จให้ยกฟ้องโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินรายการที่ ๑๖, ๑๗ และ ๑๘ สำหรับปีภาษี ๒๕๒๓ และ ๒๕๒๔ นั้นเสีย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.
(เสวก จันทร์ผ่อง – สหัส สิงหวิริยะ – สาระ เสาวมล)