คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1776/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจจะเข้าจับกุมไม้แปรรูปและมิได้แปรรูปของกลาง เจ้าพนักงานสืบสวนแล้วทราบว่าบริเวณโรงสีของจำเลยที่ 2 ที่เกิดเหตุเป็นแหล่งลักลอบขนไม้เถื่อน จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของดำเนินกิจการเกี่ยวกับโรงสีทุกอย่างในเมื่อจำเลยที่ 2 ไม่อยู่หากจำเลยที่ 1 มิได้มีส่วนร่วมในการมีไม้ของกลางไว้ใน ครอบครอง ก็ไม่มีเหตุอันใดที่จำเลยที่ 1 จะปล่อยให้รถบรรทุกไม้ จำนวนถึง 13 คัน คลุมด้วยผ้าใบเข้าไปจอดในบริเวณโรงสี ซึ่งมีรั้วรอบขอบชิด บางคันซุกซ่อนอยู่ในโกดังโดยจำเลยที่ 1 ไม่ตรวจสอบ และเมื่อถูกจับกุมจำเลยที่ 1 ก็ให้การว่า เคยพบเห็นรถบรรทุกในลักษณะนี้เข้ามาจอดในโรงสีหลายครั้งแล้ว จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของโรงสีถ้ามิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ในการกระทำผิดด้วยแล้วก็ไม่มีเหตุอันใดที่จะยินยอมให้ รถบรรทุกไม้ของกลางเข้ามาจอดในโรงสีของตนได้เช่นนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวการมีไม้แปรรูปและมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองอันเป็นความผิดตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบสามตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 48, 69, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวาประกาศกระทรวงเกษตรเรื่อง กำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91 ที่แก้ไขแล้ว และสั่งริบของกลางทั้งหมด
จำเลยทั้งสิบสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1, ที่ 2 ที่ 4, ที่ 8 ที่ 10และที่ 13 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 48, 69 วรรคสอง(1), 73 วรรคสอง (1)ประกาศกระทรวงเกษตรเรื่อง กำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 จำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 6, ที่ 7ที่ 9 และที่ 11 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 48, 73 วรรคสอง (1) ประกาศกระทรวงเกษตรเรื่อง กำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 จำเลยที่ 12 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 6 วรรคสอง (1) ข้อหามีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 73 วรรคสอง (1)ลงโทษจำคุก จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 คนละ 2 ปี ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 4, ที่ 5, ที่ 6, ที่ 7, ที่ 8, ที่ 9, ที่ 10, ที่ 11และที่ 13 คนละ 1 ปี ข้อหามีไม้สักซึ่งยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 6 วรรคสอง (1)ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1, ที่ 2, ที่ 4, ที่ 8, ที่ 10, ที่ 12และที่ 13 คนละ 1 ปี รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 3 ปีจำคุกจำเลยที่ 3, ที่ 4, ที่ 8 ที่ 10 และที่ 13 คนละ 2 ปีจำคุกจำเลยที่ 5, ที่ 6, ที่ 7, ที่ 9, ที่ 11 และที่ 12คนละ 1 ปี ริบของกลาง ข้อหาอื่นตามฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3,ที่ 5, ที่ 6, ที่ 7, ที่ 9, ที่ 11 และที่ 12 ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสิบสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 73 วรรคสอง (1)ลงโทษจำคุกมีกำหนด 12 ปี และมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 69 วรรคสอง (1) ลงโทษจำคุกมีกำหนด 6 ปีรวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 18 ปี ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 13 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า วันเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2ได้ในขณะที่จำเลยที่ 2 ไม่อยู่พร้อมด้วยไม้สักแปรรูป จำนวน32,032 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 227.08 ลูกบาศก์เมตร โดยไม่รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม้สักซึ่งยังมิได้แปรรูปจำนวน 163 ท่อนปริมาตร 105.98 ลูกบาศก์เมตร โดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายประทับซึ่งบรรทุกอยู่ในรถยนต์บรรทุกสิบล้อจำนวน 13 คัน มีผ้าใบคลุมอยู่ที่ในบริเวณรั้วโรงสีกิจรุ่งเรือง 1ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 เจ้าพนักงานยึดไม้ รถบรรทุกและผ้าใบดังกล่าวเป็นของกลาง รถบรรทุกของกลางบางคันและบางจำนวนเป็นของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 13 บางคันและบางจำนวนเป็นของบุคคลอื่นซึ่งจำเลยดังกล่าวนี้เป็นผู้เช่าซื้อมา คดีมีประเด็นในชั้นฎีกาว่า จำเลยทั้งสิบสามได้ร่วมกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและดำเนินกิจการเกี่ยวกับโรงสีทุกอย่างในเมื่อจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นเจ้าของโรงสีไม่อยู่ หากจำเลยที่ 1 มิได้มีส่วนร่วมในการมีไม้ของกลางไว้ในครอบครองแล้วก็ไม่มีเหตุอันใดที่จำเลยที่ 1จะปล่อยให้รถบรรทุกจำนวนถึง 13 คัน เข้าไปจอดในบริเวณโรงสีซึ่งมีรั้วรอบขอบชิด รถบางคันถูกซุกซ่อนอยู่ในโกดังก่อนถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม จำเลยที่ 1 ก็รู้เห็นว่ามีรถบรรทุกเข้าไปจอดในลักษณะซุกซ่อนมีผ้าใบคลุมมิดชิดน่าจะได้ตรวจสอบแต่จำเลยที่ 1 ก็หาได้กระทำไม่ อันเป็นการผิดปกติวิสัยของผู้ดูแล เมื่อถูกจับกุมก็ให้การว่าเคยพบเห็นรถบรรทุกในลักษณะนี้เข้ามาจอดในโรงสีหลายครั้งแล้ว ซึ่งเป็นการเจือสมข้อนำสืบของโจทก์ว่าจากการสืบสวนได้ความจากสายลับว่าที่โรงสีเกิดเหตุเป็นแหล่งลักลอบขนไม้เถื่อน แห่งหนึ่งในจำนวน 3-4 แห่ง จำเลยที่ 2เป็นเจ้าของโรงสีถ้ามิได้มีส่วนร่วมรู้เห็นในการกระทำผิดด้วยแล้วก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่ยินยอมให้นำรถบรรทุกไม้ของกลางเข้ามาจอดในโรงสีของตนได้ จึงเชื่อได้ว่า ก่อนเกิดเหตุบริเวณโรงสีของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างมีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการโรงสีเป็นแหล่งลักลอบขนไม้เถื่อน มาก่อนและในวันเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจับไม้ซึ่งบรรทุกอยู่บนรถบรรทุกถึง 13 คันถูกคลุมด้วยผ้าใบอย่างมิดชิด รถบางคันถูกซุกซ่อนอยู่ในโกดังดังนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นตัวการร่วมกันมีไม้สักแปรรูปและมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองอันเป็นความผิดตามฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1, ที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 73 วรรคสอง (1)และมาตรา 69 วรรคสอง (1) ประกาศกระทรวงเกษตร เรื่องกำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484ลงโทษฐานมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตจำคุกคนละ 5 ปี ฐานมีไม้สักอันยังมิได้แปรรูปโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายประทับ จำคุกคนละ 2 ปีรวมจำคุกคนละ 7 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share