คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1202/2491

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกฎหมายลักษณะผัวเมีย ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติว่า เมื่อชายไม่พอใจหญิง ก็ทิ้งหญิงได้ โดยหญิงไม่ต้องยินยอม และขาดจากการเป็นสามีภรรยากันได้ การที่สามีไม่พอใจภรรยาแล้วเขียนหนังสือเก็บไว้และไม่ไปมาหาสู่ภริยา ไม่ว่าจะเขียนหนังสือนั้น และเลิกติดต่อกับภริยาเมื่อใดก็ตาม ไม่ทำให้ขาดจากการเป็นสามีภริยากันได้
ในคดีแพ่ง ถ้าจำเลยประสงค์จะต่อสู้ในข้อใด จำเลยจะต้องกล่าวในคำให้การโดยชัดแจ้งพร้อมทั้งเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง
เมื่อศาลฟังว่าภริยามีสินเดิม ศาลก็พิพากษาให้ส่วนแบ่งในสินสมรสได้ ไม่มีกฎหมายจำกัดว่าแม้จะมีสินเดิม ก็ต้องอยู่ร่วมบ้านด้วย จึงจะได้ส่วนแบ่งในสินสมรส
การแบ่งทรัพย์ระหว่างสามีภริยาจะต้องหักสินสมรสใช้สินเดิม ก็ต่อเมื่อปรากฏว่าสินเดิมสูญไปแล้ว
แม้โจทก์จะกล่าวในฟ้องว่า สินเดิมของจำเลยไม่ปรากฏแต่โจทก์ก็ตั้งรูปฟ้องมาในทางหาว่าจำเลยมีส่วนแบ่งในสินสมรสด้วย ฉะนั้นในการที่ศาลจะคำนวณส่วนแบ่งในสินสมรสอันโจทก์ซึ่งเป็นภรรยาคนหนึ่งจะได้รับศาลก็จำต้องคำนวณโดยถือว่าจำเลยมีส่วนในสินสมรสด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับนายบุญมา (หรือพิชัย วัธนสักขี) เป็นสามีภริยา โดยโจทก์มีสินเดิม ๆ นายบุญมาไม่ปรากฏนางอ่อง นางกุหลาบจำเลยเป็นอนุภริยาของนายพิชัย นางอ่องจำเลยมีสินเดิม แต่สินเดิมนางกุหลาบไม่ปรากฏ นายพิชัยถึงแก่ความตายแล้ว มีโจทก์จำเลยเป็นทายาท จำเลยเป็นฝ่ายยึดถือพินัยกรรมและทรัพย์ไว้ไม่ยอมแบ่งปันให้โจทก์จึงขอให้จำเลยส่งทรัพย์เหล่านี้มาแบ่งปันให้แก่โจทก์ในฐานะภริยาหลวง จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่าโจทก์ได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับนายพิชัยตั้งแต่ก่อนนายพิชัยตาย มา 10 ปี แล้ว โจทก์ลักลอบได้กับนายพิชัย ไม่ได้อยู่ร่วมเรือนและไม่ได้ถูกยกย่องเชิดชูว่าเป็นภริยา นายพิชัยยกย่องนางอ่องจำเลยว่าเป็นภริยาหลวง จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายพิชัย หากว่าจะถือว่าเป็น ก็ได้เลิกร้างหย่าขาดกันไปนานกว่า 10 ปีแล้ว สินเดิมของโจทก์ไม่มี

ศาลชั้นต้นฟังว่า ขณะนายพิชัยตาย นายพิชัยกับโจทก์ยังเป็นสามีภริยากันอยู่ พิพากษาให้แบ่งทรัพย์แก่โจทก์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

นางอ่อง จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า

(1) ตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย ชายหญิงที่เป็นสามีภริยาจะขาดจากการเป็นสามีภริยากันได้ ก็แต่โดยการตายจากกัน การหย่าขาดตามพิธีที่กฎหมายกำหนดไว้หรือมีพฤติการณ์ต้องตามที่กฎหมายบัญญัติกำหนดไว้ แต่สำหรับกรณีหลังนี้ ต้องเป็นกรณีต้องตามที่บัญญัติไว้นั้น จึงจะขาดจากเป็นสามีภริยากัน หามีกฎหมายใดบัญญัติว่าเมื่อชายไม่พอใจหญิง ก็ทิ้งหญิงได้ โดยหญิงไม่ต้องยินยอม และขาดจากการเป็นสามีภริยากันได้เสมอดังจำเลยอ้างไม่ การกระทำของนายพิชัยที่เขียนหนังสือเก็บไว้ และไม่ไปมาหาสู่โจทก์ ไม่ว่าจะเขียนหนังสือนั้น และเลิกติดต่อกับโจทก์เมื่อใดก็ตาม ไม่ทำให้ขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์

(2) นางอ่องจำเลยฎีกาว่าพฤติการณ์ที่โจทก์กับนายพิชัยต่างคนต่างอยู่เข้าลักษณะเมียร้าง ซึ่งตามกฎหมายโจทก์ไม่มีสิทธิจะได้สมรสในทรัพย์ที่นายพิชัยหาได้ในระหว่างนั้น ศาลฎีกาได้ตรวจคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยแล้ว จำเลยไม่ได้ยกข้อว่าโจทก์เป็นภริยาร้างขึ้นต่อสู้เลย ซึ่งถ้าจำเลยประสงค์จะต่อสู้ในข้อนี้ จำเลยชอบที่จะกล่าวไว้โดยชัดแจ้ง พร้อมทั้งเหตุ ดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรค 2 กำหนดไว้

(3) ในเรื่องสินเดิมของโจทก์ ศาลแพ่งฟังว่า เมื่อโจทก์ได้กับนายพิชัย โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและเรือนที่อยู่ นายพิชัยได้ไปอยู่กับโจทก์ที่เรือนนี้ทั้งได้เคยลงสำมะโนครัวที่บ้านนี้ด้วย ย่อมถือว่าโจทก์มีสินเดิม เมื่อศาลฟังว่าโจทก์มีสินเดิม การที่ศาลพิพากษาให้ส่วนแบ่งในสมรส จึงเป็นการถูกต้อง ไม่มีกฎหมายจำกัดว่าแม้จะมีสินเดิมก็ต้องอยู่ร่วมบ้านด้วย จึงจะได้ส่วนแบ่งในสินสมรส

(4) ฟ้องโจทก์กล่าวว่า นางอ่องมีสินเดิม 350 บาทจริงแต่ที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งนี้ ขอแบ่งสินสมรส หาได้พาดพิงไปถึงสินเดิมของจำเลยไม่ การแบ่งทรัพย์ระหว่างสามีภริยา จะต้องหักสินสมรสใช้สินเดิมต่อเมื่อปรากฏว่าสินเดิมสูญไปแล้ว คดีเรื่องนี้หาปรากฏเช่นนั้นไม่

(5) แม้ในคำฟ้องกล่าวว่า สินเดิมของนางกุหลาบจำเลย ไม่ปรากฏแต่โจทก์ก็ตั้งรูปฟ้องมาในทางว่า นางกุหลาบมีส่วนแบ่งในสินสมรสด้วย ฉะนั้นการที่ศาลจะคำนวณส่วนแบ่งอันโจทก์จะได้รับ ศาลก็จำต้องคำนวณ โดยถือว่านางกุหลาบจำเลยมีส่วนแบ่งในสินสมรสด้วย แต่ที่ศาลแพ่งพิพากษา ศาลแพ่งเป็นแต่เพียงคำนวณส่วนของนางกุหลาบไว้ เพื่อจะให้รู้ส่วนของโจทก์ และพิพากษาให้โจทก์ได้เท่านั้น

พิพากษายืน

Share