คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 259/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จที่ยังขาดอยู่แก่โจทก์โดยอ้างว่าจำเลยมีข้อบังคับให้จ่ายเงินบำเหน็จ แต่อุทธรณ์ว่าเดิมจำเลยมีข้อบังคับโรงพิมพ์ตำรวจว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2528 โดยไม่ระบุว่าเงินบำเหน็จสูงกว่าค่าชดเชยจะเป็นอย่างไร ต่อมาจำเลยออกข้อบังคับโรงพิมพ์ตำรวจว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2529 ยกเลิกฉบับปี พ.ศ. 2528 เพื่อประโยชน์แก่จำเลยข้อบังคับฉบับหลังนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ อุทธรณ์ของโจทก์เป็นข้อที่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องไว้ ทั้งกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเป็นเรื่องที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ หากโจทก์ตกลงด้วยก็มีผลใช้บังคับได้อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลางต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
ตามข้อบังคับโรงพิมพ์ตำรวจว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2529 กำหนดว่าในกรณีที่พนักงานออกจากงานโดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานแล้ว ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับนี้แต่ถ้าค่าชดเชยที่มีสิทธิได้รับต่ำกว่าเงินบำเหน็จที่จะได้รับตามข้อบังคับนี้ก็ให้จ่ายเพิ่มเฉพาะส่วนที่ยังขาดอยู่ ซึ่งมีความหมายว่าพนักงานของจำเลยคนใดที่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานอยู่แล้วหากค่าชดเชยนั้นมีจำนวนต่ำกว่าเงินบำเหน็จ จำเลยก็จะจ่ายค่าชดเชยให้เต็มจำนวนกับยังจ่ายเงินบำเหน็จให้อีกตามจำนวนที่แตกต่างกันเฉพาะส่วนที่มีจำนวนสูงกว่าค่าชดเชยนั้น เมื่อโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจากจำเลยเกินกว่าจำนวนค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวเงินที่โจทก์ได้รับจึงเป็นค่าชดเชยเต็มจำนวนแล้ว โจทก์คงมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเฉพาะส่วนที่ยังขาดอยู่เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๔,๘๓๐ บาท ค่าครองชีพเดือนละ ๓๐๐ บาท ต่อมาวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๐ จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุโดยโจทก์ไม่มีความผิดและจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์แล้ว โจทก์ยังคงมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเป็นเงิน ๑๖๙,๒๙๐ บาทแต่จำเลยจ่ายให้เพียง ๓๖,๘๔๐ บาท คงขาดอีกเป็นเงิน ๑๓๒,๔๕๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จจำนวน ๑๓๒,๔๕๐ บาทแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าเดิมโจทก์เป็นคนงานเหมาของโรงพิมพ์ตำรวจต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ โจทก์จึงเป็นพนักงานโรงพิมพ์ตำรวจ โรงพิมพ์ตำรวจมีข้อบังคับว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. ๒๕๒๙ กำหนดว่าในกรณีพนักงานออกจากงานโดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานแล้วไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับนี้ แต่ถ้าค่าชดเชยที่มีสิทธิได้รับต่ำกว่าเงินบำเหน็จที่จะได้รับตามข้อบังคับนี้ก็ให้จ่ายเพิ่มเฉพาะส่วนที่ยังขาดอยู่ และตามข้อบังคับของโรงพิมพ์ตำรวจดังกล่าวโจทก์มีระยะเวลาทำงานกับจำเลยเพียง ๑๔ ปี เพราะโจทก์ไม่มีสิทธินำระยะเวลาทำงานระหว่างเป็นคนงานเหมาชั่วคราวตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๗ แก่โจทก์ถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๑๗ มารวมคำนวณด้วย จำเลยจ่ายเงิน ๖๐,๖๒๐ บาทแก่โจทก์ แยกเป็นค่าชดเชย ๓๐,๗๘๐ บาท และเงินบำเหน็จ ๓๖,๘๔๐ บาท การจ่ายเงินบำเหน็จของจำเลยถูกต้องแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจำนวน ๖๗,๖๒๐ บาท แยกเป็นค่าชดเชย ๓๐,๗๘๐ บาท และเงินบำเหน็จจำนวน ๓๖,๘๔๐ บาท ซึ่งถูกต้องตามข้อบังคับโรงพิมพ์ตำรวจว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. ๒๕๒๙ ข้อ ๑๐ แล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า โจทก์อุทธรณ์ว่าเดิมจำเลยได้ออกข้อบังคับโรงพิมพ์ตำรวจว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. ๒๕๒๘ โดยไม่ระบุว่าเงินบำเหน็จสูงกว่าค่าชดเชยจะเป็นอย่างไร ซึ่งศาลแรงงานกลางเคยพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและเงินบำเหน็จทั้งสองจำนวนมาแล้ว จำเลยจึงได้ออกข้อบังคับโรงพิมพ์ตำรวจว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. ๒๕๒๙ ยกเลิกฉบับปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เพื่อประโยชน์แก่จำเลย ข้อบังคับโรงพิมพ์ตำรวจว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. ๒๕๒๙ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า ปัญหาข้อนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินบำเหน็จที่ยังขาดจากจำเลยโดยอ้างว่าจำเลยมีข้อบังคับให้จ่ายเงินบำเหน็จเท่านั้น โจทก์หาได้บรรยายฟ้องว่าเดิมจำเลยเคยมีข้อบังคับเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ประการใด และได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกันในเรื่องใด และจะขัดกันในสาระสำคัญว่าอย่างใด อันพึงเป็นข้อที่ศาลจะพิจารณาว่าเป็นคุณหรือไม่เป็นคุณแก่โจทก์ ทั้งกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับอันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนี้ แม้กรณีจะเป็นเรื่องที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ก็ตาม หากโจทก์ได้ตกลงด้วยก็ยังมีผลบังคับได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมายเช่นเดียวกัน แม้ในวันนัดพิจารณาจำเลยได้ส่งข้อบังคับโรงพิมพ์ตำรวจว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. ๒๕๒๘ ตามคำขอของโจทก์และโจทก์จำเลยต่างแถลงรับถึงความมีอยู่และความแท้จริงไว้แล้วก็ตาม ก็ไม่อาจถือได้ว่าได้มีประเด็นข้อพิพาทในปัญหาข้อนี้เกิดขึ้นแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นเรื่องที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า ตามข้อบังคับของจำเลยดังกล่าว เงินบำเหน็จเป็นเงินต่างประเภทกับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน จำเลยจึงต้องจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์เต็มจำนวนตามข้อบังคับเห็นว่าตามข้อบังคับโรงพิมพ์ตำรวจว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. ๒๕๒๙ ข้อ ๑๐ กำหนดว่าในกรณีที่พนักงานออกจากงานตามข้อ ๙ โดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานแล้วไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับนี้ แต่ถ้าค่าชดเชยที่มีสิทธิได้รับต่ำกว่าเงินบำเหน็จที่จะได้รับตามข้อบังคับนี้ก็ให้จ่ายเพิ่มเฉพาะส่วนที่ขาดอยู่ ซึ่งมีความหมายว่า พนักงานของจำเลยคนใดที่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน อยู่แล้ว หากค่าชดเชยนั้นมีจำนวนต่ำกว่าเงินบำเหน็จ จำเลยก็จะจ่ายค่าชดเชยให้เต็มจำนวนกับยังจ่ายเงินบำเหน็จให้อีกตามจำนวนที่แตกต่างกันของค่าชดเชยกับเงินบำเหน็จเฉพาะส่วนที่มีจำนวนสูงกว่าค่าชดเชยนั้น โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจากจำเลยเกินกว่าจำนวนค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๖ เงินที่ได้รับเป็นค่าชดเชยเต็มจำนวนแล้ว เมื่อโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยที่มีจำนวนต่ำกว่าเงินบำเหน็จ โจทก์จึงคงมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเฉพาะส่วนที่ยังขาดอยู่ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินบำเหน็จเต็มจำนวนได้
พิพากษายืน

Share