คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2586/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะตัวแทนโจทก์จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นตัวแทนโจทก์แต่เป็นตัวแทนจำเลยร่วมประเด็นข้อพิพาทมีเพียงว่าโจทก์ตั้งจำเลยเป็นตัวแทนหรือไม่ส่วนที่จำเลยให้การเลยไปถึงว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ตั้งจำเลยเป็นตัวแทนนั้นศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเลยไปถึงว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์จึงเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือจากประเด็นข้อพิพาท จำเลยร่วมซึ่งร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยโดยอ้างเหตุว่ามีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีตามป.วิ.พ.มาตรา57(2)มีฐานะเสมอด้วยจำเลยและมีสิทธิต่อสู้คดีได้เพียงเท่าที่จำเลยมีอยู่เท่านั้นจึงไม่ต้องกำหนดประเด็นข้อพิพาทขึ้นใหม่เพื่อวินิจฉัยว่าจำเลยร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นหรือไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ตั้งจำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์มอบอำนาจให้ทำการแบ่งขายที่ดินของโจทก์ให้กับบุคคให้ทำการแบ่งขายที่ดินของโจทก์ให้กับบุคคลทั่วไป โดยจำเลยไม่คิดค่าบำเหน็จตอบแทน จำเลยขายที่ดินได้และรับเงินไว้แทนโจทก์และนำไปจ่ายแทนโจทก์เป็นค่าไถ่ถอนจำนอง ค่าธรรมเนียมการโอนและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ คงเหลือเงินจำนวน 1,621,793.10 บาท จำเลยผิดนัดขอให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยให้การ โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินตามฟ้อง โจทก์ไม่เคยแต่งตั้งจำเลยเป็นตัวแทน แต่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงได้แต่งตั้งจำเลยเป็นตัวแทนขายที่ดิน ตกลงให้บำเหน็จร้อยละ 10 ของราคาขาย ขอให้ยกฟ้อง
นายอุทัย ถนอมกุลบุตร ร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมอ้างว่ามีส่วนได้เสียในคดี ศาลชั้นต้นอนุญาตตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(2)
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลจะมีอำนาจวินิจฉัยได้หรือไม่ว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว และโจทก์ได้มอบให้จำเลยเป็นตัวแทนดำเนินการขายที่ดินทั้งสองแปลงใช่หรือไม่ ในประการแรก เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินและทรัพย์สินบรรดาที่จำเลยในฐานะตัวแทนโจทก์ได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทน เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธว่าจำเลยไม่ได้เป็นตัวแทนโจทก์ แต่จำเลยเป็นตัวแทนของจำเลยร่วมศาลชั้นต้นจึงกำหนดประเด็นพิพาทเพียงว่า โจทก์ตั้งจำเลยเป็นตัวแทนหรือไม่ส่วนที่จำเลยให้การไปถึงว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ตั้งจำเลยเป็นตัวแทนนั้น ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทในเรื่องนี้ไว้ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเลยไปถึงว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 8101 และ 8104จึงเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือจากประเด็นข้อพิพาท และดังนั้น จำเลยร่วมซึ่งร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยโดยอ้างเหตุว่ามีส่วนได้เสียในผลแห่งคดี และศาลได้สั่งอนุญาตให้เข้าเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(2) จำเลยร่วมจึงมีฐานะเสมอด้วยจำเลยและคงมีสิทธิต่อสู้คดีได้เพียงเท่าที่จำเลยมีอยู่เท่านั้น และกรณีนี้ศาลหาจำต้องกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่ดังที่จำเลยและจำเลยร่วมแก้ฎีกาแต่ประการใดไม่ เมื่อเป็นดังนี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยถึงจำเลยร่วมว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 8101 และ 8104 หรือไม่ด้วยมีปัญหาตามฎีกาโจทก์ประการต่อมาว่า โจทก์ได้มอบให้จำเลยเป็นตัวแทนดำเนินการขายที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงดังกล่าวใช่หรือไม่ เห็นว่า ตามเอกสาร จ.1และ จ.2 ปรากฎชัดว่าที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นของโจทก์ และปรากฎตามเอกสารหมาย จ.14, จ.15 ต่อมาว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้จำเลยขายที่ดินโฉนดเลขที่ 8104 เมื่อจำเลยได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินการขายแล้ว จำเลยเองยังได้มีหนังสือถึงผู้เช่าที่ดินพิพาทรายหนึ่ง ให้มีสิทธิซื้อที่ดินได้ก่อน โดยจำเลยยืนยันตามหนังสือดังกล่าวว่าจำเลยเป็นตัวแทนโจทก์ ปรากฎตามเอกสารหมาย จ.33,จ.34 ยิ่งกว่านั้นเมื่อเกิดกรณีพิพาทกัน จำเลยยังได้ไปทำความตกลงกับโจทก์ที่สถานีตำรวจนครบาลดอนเมืองจนถึงขั้นมีการทำบันทึกข้อตกลงกันไว้ ปรากฎตามภาพถ่ายรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.21 ซึ่งจำเลยหาได้โต้แย้งเป็นประการอื่นไม่ แต่กลับยอมรับที่จะแสดงบัญชีการจัดการทรัพย์สินตามที่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ภายใน 3 เดือน รวมทั้งมอบประโยชน์หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ได้มาจากการจัดการแก่โจทก์ด้วย ส่วนเอกสารหมาย ล.4ที่จำเลยและจำเลยร่วมอ้างมานั้น ได้ความว่าเป็นเอกสารที่ฝ่ายจำเลยและจำเลยร่วมทำขึ้นเพื่อแสดงว่าเป็นบันทึกของนายเงินแต่นายเงินก็ได้ปฏิเสธไว้ แล้วว่าไม่ได้ทำเอกสารดังกล่าวและไม่ได้ลงชื่อไว้ด้วย ส่วนเอกสารหมาย ล.13 แม้เป็นข้อความบันทึกคำให้การของนายเงินต่อพนักงานสอบสวน แต่ก็ไม่ปรากฎว่าพนักงานสอบสวนนำตัวนายเงินซึ่งมีอายุถึง 80 ปีเศษ มาจากบ้านนำมาให้การในฐานะอะไร พนักงานสอบสวนเองก็ไม่ยอมลงชื่อไว้ แต่จะอย่างไรก็ตามบันทึกคำให้การของนายเงินดังกล่าวก็หามีผลผูกพันโจทก์ไม่ อีกทั้งข้อความตามเอกสารดังกล่าวก็ไม่เกี่ยวกับความเป็นตัวการตัวแทนระหว่างโจทก์จำเลยแต่อย่างใด เอกสารดังกล่าวจึงไม่เป็นผลแก่คดีของจำเลยและจำเลยร่วมเมื่อจำเลยเป็นตัวแทนโจทก์จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบเงินและทรัพย์สินที่จำเลยได้รับไว้ในฐานะเป็นตัวแทนโจทก์แก่โจทก์ทั้งสิ้นเป็นเงิน 2,122,200 บาท ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายในการไถ่ถอนจำนอง ค่าธรรมเนียมการโอนแบ่งแยกและค่าใช้จ่ายอื่น เป็นเงิน 500,406.90 บาท คงเป็นเงินที่จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งมอบให้โจทก์จำนวน 1,621,793.10 บาท และตามเอกสารหมาย จ.21 จำเลยตกลงจะส่งมอบเงินและทรัพย์สินให้โจทก์ภายใน3 เดือน จำเลยทำความตกลงกับโจทก์เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2521จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2522 จำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีอีกด้วยเมื่อเป็นดังนี้ฎีกาของโจทก์นอกจากนี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เว้นแต่ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีให้นับตั้งแต่วันที่ 19มีนาคม 2522 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องให้ไม่เกิน80,089.60 บาท ให้จำเลยและจำเลยร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสามศาลโดยกำหนดค่าทนายความรวม 60,000 บาท”.

Share