คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2584/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของ ส. ในระหว่างสมรสเมื่อ พ.ศ. 2508 มารดาจำเลยยกที่ดินซึ่งเป็นส่วนของตนตามโฉนดที่พิพาท ให้แก่จำเลยโดยไม่ระบุว่าให้เป็นสินส่วนตัว ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับส. ตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม มาตรา 1464 และมาตรา 1466 แม้ต่อมาบทบัญญัติบรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ มาตรา 1471 และมาตรา1474 จะบัญญัติแตกต่างจากบทบัญญัติบรรพ 5 เดิม ก็ไม่ ทำให้ที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสอยู่แต่เดิมเปลี่ยนเป็นสินส่วนตัวของจำเลย เพราะกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่ได้บัญญัติให้เปลี่ยนแปลงไปดังกรณีสินเดิม ส. จึงมีอำนาจทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1481.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นทายาทของนายสิน เรืองศรีผู้ตาย โจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายคำสั่งศาล ผู้ตายมีภรรยา2 คน และจำเลยเป็นหนึ่งในภรรยาของผู้ตาย ขณะมีชีวิตผู้ตายมีทรัพย์สินคือที่ดินโฉนดพิพาท เนื้อที่ 3 ไร่ 41 วา โดยมีชื่อในโฉนด 3 คนซึ่งรวมถึงจำเลยด้วย เดิมที่ดินแปลงนี้เป็นของนางต่วน บุญยัง ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2508 นางต่วน บุญยังยกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้มีชื่อในโฉนดทั้งสามโดยจำเลยได้ 545ตารางวาเศษ การยกให้มิได้ระบุว่าเป็นสินเดิมหรือสินส่วนตัวขณะนั้นจำเลยเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ส่วนของจำเลยจึงเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ตาย ต่อมาเมื่อผู้ตายถึงแก่กรรมปรากฏว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยไม่ยอมส่งมอบโฉนดที่ดินและแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยแบ่งแยกที่ดินให้โจทก์ทั้งสองเป็นจำนวน 272.5 ตารางวาหากจำเลยไม่แบ่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่าเป็นภรรยาผู้ตายจริง แต่ที่ดินพิพาทจำเลยได้รับการยกให้จากมารดาโดยมิได้ระบุว่าเป็นสินสมรส จึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลย ไม่ใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย
ชั้นชี้สองสถานคู่ความรับกันว่า จำเลยกับผู้ตายเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมายจดทะเบียนสมรสกันเมื่อ พ.ศ. 2487ขณะเป็นสามีภรรยา จำเลยได้รับการยกที่ดินโฉนดพิพาทดังกล่าวจากนางต่วนมารดาของจำเลย และผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุตรต่างมารดากับจำเลยจริง ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยและวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยส่งมอบโฉนดพิพาทให้โจทก์ทั้งสองเพื่อไปดำเนินการใส่ชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยเท่ากับส่วนของผู้ตายตามฟ้อง และให้จำเลยแบ่งส่วนที่เป็นของโจทก์ทั้งสองแก่โจทก์ทั้งสอง ถ้าแบ่งไม่ได้ให้ประมูลระหว่างกันเอง หรือขายทอดตลาดเอาเงินมาแบ่งกันตามส่วน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายสิน เรืองศรี โดยจดทะเบียนสมรสตั้งแต่ปี พ.ศ. 2487 ระหว่างสมรสนางต่วน บุญยัง มารดาของจำเลยยกที่ดินเฉพาะส่วนของตนตามโฉนดที่ดินเลขที่ 11878 ตามเอกสารหมาย จ.2 ให้แก่จำเลยจำนวนเนื้อที่ 545 ตารางวาเศษ เมื่อวันที่9 กันยายน 2508 โดยไม่ระบุว่ายกให้เป็นสินส่วนตัว ต่อมานายสินทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสอง มีปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ และนายสินทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสองได้หรือไม่ เห็นว่า ขณะที่มารดาจำเลยยกที่ดินให้แก่จำเลยนั้นเป็นเวลาที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 เดิมยังใช้บังคับอยู่โดยมีมาตรา 1464 บัญญัติไว้ว่า”สินส่วนตัวได้แก่
(1)……………
(2)……………
(3) ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างเป็นสามีภรรยาโดยทางพินัยกรรม หรือยกให้โดยเสน่หา เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้นั้นแสดงไว้ให้เป็นสินส่วนตัว” และมาตรา 1466 บัญญัติว่า”สินสมรสได้แก่ทรัพย์สินทั้งหมดที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรสนอกจากที่ได้ระบุไว้ว่าเป็นสินเดิมหรือสินส่วนตัวตามมาตรา 1463 หรือ1464″ ดังนั้นที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับนายสินตามบทกฎหมายดังกล่าว แม้ต่อมาวันที่ 16 ตุลาคม 2519 มีบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ใช้บังคับและมีมาตรา 1471 บัญญัติไว้ว่า “สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน
(1)…………..
(2)…………..
(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา…” และมาตรา 1474 บัญญัติว่า “สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
(1)…………..
(2) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือ เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
(3)…………..แม้บทบัญญัติบรรพ 5 ใหม่จะแตกต่างจากบทบัญญัติบรรพ 5 เดิมก็ตามก็ไม่ทำให้ที่พิพาทซึ่งเป็นสินสมรสอยู่แต่เดิมเปลี่ยนเป็นสินส่วนตัวของจำเลย เพราะกฎหมายใหม่ไม่ได้บัญญัติให้เปลี่ยนแปลงไปดังกรณีสินเดิม นายสินจึงมีอำนาจทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1481 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share