คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2583/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สามีจดทะเบียนสมรสกับหญิงอื่นโดยที่ยังไม่ขาดจากภริยาเดิมที่ได้จดทะเบียนสมรสไว้ แต่อ้างกับเจ้าหน้าที่จดทะเบียนว่าไม่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน ภริยาเดิมเป็นผู้เสียหายฟ้องสามีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา137 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นว่าการสมรสใหม่เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490, 1445(3) โจทก์ไม่เสียหายโดยตรงจากการแจ้งความเท็จ พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 16 มกราคม2513 โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลย ณ สำนักทะเบียนอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ต่อมาวันที่ 6 พฤษภาคม 2514 จำเลยแจ้งแก่นายนิธิ กระเวนเวช เจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่จดทะเบียนสมรสในเขตภาษีเจริญว่า จำเลยไม่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อนเลย อันเป็นความเท็จ เพราะจำเลยกับโจทก์ยังเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานได้จดทะเบียนสมรสให้จำเลยกับนางสาวสุจิตรา ต้นติเรืองเจริญ
ปัญหาว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การจดทะเบียนสมรสคดีนี้เกิดขึ้นระหว่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิมใช้บังคับ ดังนั้น แม้ข้อความอันเป็นเท็จที่จำเลยแจ้งแก่เจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่จดทะเบียนสมรสเขตภาษีเจริญจะเกี่ยวกับฐานะส่วนตัวของจำเลยเองและไม่มีข้อความพาดพึงถึงโจทก์ ดังข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ก็ตาม และแม้การสมรสผิดเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1445(3) เดิมบุคคลใดจะอ้างว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะไม่ได้ เพราะศาลยังมิได้พิพากษาว่าเป็นเช่นนั้น ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1488 เหตุนี้ การสมรสระหว่างจำเลยกับนางสาวสุจิตราจึงยังมีผลอยู่ตามกฎหมายทำให้นางสาวสุจิตราเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยเพิ่มขึ้นมาอีกคนหนึ่งโจทก์มีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งให้เพิกถอนการสมรสนั้นได้ตามมาตรา 1490 แต่การสมรสที่ถูกเพิกถอนไม่เป็นผลให้นางสาวสุจิตราผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสนั้นตามมาตรา 1494 เช่าถ้าจำเลยถึงแก่ความตายก่อนศาลสั่งให้เพิกถอนการสมรส นางสุจิตราก็มีสิทธิในการรับมรดกในฐานะเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย กรณีเช่นที่ว่านี้ได้มีคำพิพากษาฎีกาที่ 1924/2522ระหว่างนางประมวล วสีนนท์หรือปิ่นไพโรจน์ โจทก์ นางสอาด วสีนนท์ กับพวกจำเลย วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว เป็นต้น เห็นได้ว่าการกระทำของจำเลยกระทบกระเทือนถึงฐานะบุคคลของโจทก์ซึ่งเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิรับมรดกอยู่ก่อนแต่คนเดียว โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและได้รับความเสียหายในกรณีที่เกิดขึ้นโดยตรงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(4) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีเรื่องนี้ต่อศาลตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28(2)
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ประทับฟ้องไว้ ให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาต่อไปและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี”

Share