แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารที่พิพาทโดยได้ส่งคำสั่งให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองทราบโดยชอบแล้วโจทก์ไม่อุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยภายใน 15 วัน ตามที่ พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองฯ มาตรา 12 วรรคสองกำหนดไว้ ถือได้ว่าโจทก์มิได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งนั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 2 ที่สั่งให้โจทก์รื้อถอนอาคารของโจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตาม
(2) โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่
สำหรับประเด็นข้อ (1) ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายดำรงศักดิ์ นิลอำไพนายตรวจควบคุมอาคารเขตพระโขนง เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 นำคำสั่งให้รื้อถอนอาคารชำรุดทรุดโทรมอันมีลักษณะเป็นที่น่ารังเกียจไปปิดไว้ ณ อาคารพิพาทเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2514 โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2520 เพราะเพิ่งทราบคำสั่งเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2519 โจทก์ฎีกาว่า จำเลยแจ้งคำสั่งให้รื้อถอนอาคารดังกล่าวให้โจทก์ทราบโดยวิธีปิดคำสั่งเป็นการไม่ชอบ เพราะโจทก์ทุกคนได้ใช้สถานที่พิพาทเป็นที่อยู่อาศัยและประกอบการค้า จำเลยต้องแจ้งคำสั่งให้โจทก์เป็นเจ้าของอาคารทราบก่อน ถ้าไม่สามารถแจ้งให้โจทก์ทราบได้ จึงให้แจ้งผู้ครอบครองดำเนินการแทนตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2503 มาตรา 12 วรรคแรกนั้น ในเรื่องนี้ พระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 12 วรรคแรก ตอนท้ายบัญญัติ “ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารจัดการรื้อถอนให้เสร็จสิ้นภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง ถ้าไม่สามารถแจ้งคำสั่งให้ผู้เป็นเจ้าของดำเนินการดังกล่าวได้ ก็ให้แจ้งคำสั่งให้ผู้ครอบครองดำเนินการแทนในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ก็ให้ปิดคำสั่งไว้ ณ อาคารนั้นและให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองได้ทราบคำสั่งนั้นแล้วตั้งแต่วันที่ปิดคำสั่งนั้น” วรรคสองบัญญัติว่า “เจ้าของหรือผู้ครอบครองซึ่งจะต้องปฏิบัติตามความในวรรคก่อนมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยภายในสิบห้าวันนับแต่วันทราบคำสั่งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น” วรรคสี่บัญญัติว่า “คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด” ปัญหาวินิจฉัยมีว่า จำเลยแจ้งคำสั่งให้รื้อถอนอาคารให้โจทก์ทราบโดยวิธีปิดคำสั่งเป็นการชอบหรือไม่” ฯลฯ
ตามข้อเท็จจริงดังที่ได้วินิจฉัยมาเห็นได้ว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่สามารถแจ้งคำสั่งให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าของอาคารพิพาทหรือผู้ครอบครองดำเนินการรื้อถอนอาคารพิพาทได้ และถือได้ว่าเป็นกรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ดังนั้นที่นายดำรงศักดิ์เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 นำคำสั่งดังกล่าวไปปิดไว้ ณ อาคารพิพาทเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2519 จึงเป็นการชอบ และถือว่าโจทก์ได้ทราบคำสั่งนั้นแล้ว ตั้งแต่วันที่ปิดคำสั่งตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2503 มาตรา 12 วรรคแรก โจทก์เพิ่มมายื่นอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2 ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2520 จึงเกินกำหนดระยะเวลาที่อนุญาตให้ยื่นอุทธรณ์ตามวรรคสอง เมื่อโจทก์มิได้ดำเนินการตามขั้นตอนของบทบัญญัติตามกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจมาฟ้องจำเลย จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ว่าคำสั่งของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่”
พิพากษายืน