คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3249/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยมีความประสงค์จะให้สิทธิเช่าซื้อที่ดินแก่ประชาชนได้ออกประกาศประกวดราคาให้สิทธิเช่าซื้อที่ดินของจำเลยโดยผู้เข้าประกวดราคาต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการประกวดราคาที่กำหนดโดยมีเงื่อนไขในข้อ 11. ว่า การเคหะแห่งชาติสงวนไว้ซึ่งสิทธิที่จะเลือกทำสัญญากับผู้เข้าประกวดราคารายใดก็ได้ โดยไม่จำต้องทำสัญญากับผู้ประกวดราคาที่เสนอราคาให้สูงสุด หรือไม่เลือกผู้ประกวดราคารายใดเลยก็ได้ ดังนี้ เงื่อนไขตามประกาศประกวดราคาข้อ 11 นั้นจึงมีความหมายว่า แม้มีผู้เข้าประกวดราคาได้แล้ว จำเลยก็มีสิทธิยกเลิกการประกวดราคาได้ เมื่อจำเลยไม่ต้องผูกพันทำสัญญาตามประกาศประกาศประกวดราคาดังกล่าวจึงไม่เป็นคำเสนอของจำเลย ถือได้เพียงว่า เป็นคำเชื้อเชิญให้ทำคำเสนอเท่านั้น ส่วนหนังสือประกวดราคาของโจทก์นั้น นับได้ว่าเป็นคำเสนอของโจทก์ที่ประสงค์จะเข้าทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินพิพาทกับจำเลยนั่นเอง ส่วนที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิเช่าซื้อที่ดินพิพาทได้นั้น แต่ก็มีเงื่อนไขว่าโจทก์ต้องนำหลักฐานแสดงการตกลงระหว่างโจทก์กับผู้อยู่อาศัยในที่ดินพิพาทที่ว่าจะขนย้ายออกจากที่ดินโดยไม่เรียกร้องใด ๆ จากจำเลยมาแสดงภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ หนังสือดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นคำสนองอันมีข้อความเพิ่มเติม มีข้อจำกัดหรือมีข้อแก้ไขอย่างอื่นประกอบด้วยซึ่งถือว่าเป็นคำบอกปัดไม่รับคำเสนอบางส่วนของโจทก์ทั้งเป็นคำเสนอขึ้นใหม่ด้วยในตัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 359 วรรคสอง เมื่อโจทก์ไม่ได้ดำเนินการสนองตามคำเสนอของจำเลยภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงยังไม่เกิดขึ้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินพิพาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยได้ประกาศเสนอให้ประชาชนทั่วไปประกวดราคาใช้สิทธิเช่าซื้อที่ดินของจำเลย จำนวน 4 แปลงโจทก์ได้สนองตามประกาศเสนอราคาของจำเลยถูกต้องตามระเบียบปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้เสนอราคาได้สูงสุดในที่ดิน 2 แปลง จำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิเช่าซื้อที่ดินได้และให้โจทก์เตรียมหลักฐานมาทำสัญญาเช่าซื้อภายใน 30 วันเมื่อโจทก์ไปทำสัญญาภายในกำหนดเจ้าหน้าที่ของจำเลยแจ้งว่าต้องให้โจทก์นำหลักฐานการตกลงระหว่างผู้บุกรุกกับโจทก์ไปมอบให้แก่จำเลยก่อน ซึ่งเหตุดังกล่าวนี้ไม่ใช่เงื่อนไขของการประมูล ขอให้บังคับจำเลยทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินทั้ง 2 แปลงกับโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า ประกาศประกวดราคาให้สิทธิเช่าซื้อที่ดินพิพาทเป็นเพียงคำชวนเชิญเท่านั้น มิได้เป็นคำเสนอ การเสนอราคาขอเช่าซื้อที่ดินทั้ง 2 แปลงของโจทก์จึงเป็นเพียงคำเสนอซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจำเลยจะสนองตอบอย่างไร เมื่อปรากฏว่า โจทก์เป็นผู้เสนอราคาสูงกว่าผู้เสนอรายอื่น จำเลยจึงได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่า จำเลยพิจารณาให้โจทก์เป็นผู้ได้สิทธิเช่าซื้อที่ดินทั้ง 2 แปลง แต่มีเงื่อนไขว่าโจทก์ต้องนำหลักฐานการตกลงระหว่างโจทก์กับผู้บุกรุกในที่ดินพิพาทที่แสดงว่าผู้บุกรุกยินยอมย้ายออกจากที่ดินพิพาทโดยไม่เรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ มาแสดงภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากพ้นกำหนดแล้วจำเลยสงวนสิทธิที่จะดำเนินการตามที่เห็นสมควร หนังสือดังกล่าวของจำเลย จึงถือว่าเป็นคำบอกปัดไม่รับ ทั้งเป็นคำเสนอขึ้นใหม่ด้วยในตัว เมื่อโจทก์ไม่สามารถนำหลักฐานการตกลงระหว่างโจทก์กับผู้บุกรุกมาแสดงได้ภายในกำหนด คำเสนอขึ้นใหม่ของจำเลยจึงสิ้นความผูกพัน ขอให้ยกฟ้อง
ชั้นชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงประเด็นเดียวว่า โจทก์มีสิทธิจะบังคับให้จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ได้หรือไม่ เพียงใด และเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำฟ้องและคำให้การจำเลยว่าจำเลยมีความประสงค์จะให้สิทธิเช่าซื้อที่ดินจำนวน 4 แปลงแก่ประชาชน จึงออกประกาศประกวดราคาให้สิทธิเช่าซื้อที่ดินของจำเลยโดยผู้เข้าประกวดราคาต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการประกวดราคาที่กำหนดมีรายละเอียดตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1 โดยจะกล่าวเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ คือ
ข้อ 1 ความตอนท้ายที่ว่า “หากมีผู้อยู่อาศัยในที่ดินผู้ยื่นซองประกวดราคาได้จะต้องเป็นผู้ดำเนินการขับไล่ด้วยค่าใช้จ่ายของตนเอง
ข้อ 7 ภายหลังการเปิดซองประกวดราคาแล้ว ถ้าการเคหะแห่งชาติเห็นชอบในราคาที่เสนอในการประกวดราคา การเคหะแห่งชาติจะแจ้งให้ผู้ประกวดราคาได้มาทำสัญญาเช่าซื้อตามแบบและเงื่อนไข ซึ่งการเคหะแห่งชาติเป็นผู้กำหนดตามที่แนบท้ายประกาศนี้ ฯลฯ และ
ข้อ 11 การเคหะแห่งชาติสงวนไว้ซึ่งสิทธิที่จะเลือกทำสัญญากับผู้เข้าประกวดราคารายใดก็ได้ โดยไม่จำต้องทำสัญญากับผู้ประกวดราคาที่เสนอราคาให้สูงสุด หรือไม่เลือกผู้ประกวดราคารายใดเลยก็ได้
ต่อมาโจทก์เป็นผู้ประกวดราคาและเสนอราคาเช่าซื้อสูงสุดสำหรับที่ดินพิพาทคือ แปลงโฉนดเลขที่ 92132 เนื้อที่ 102 ตารางวาและแปลงโฉนดเลขที่ 92149 เนื้อที่ 87 ตารางวา ครั้นวันที่ 10สิงหาคม 2530 จำเลยได้ทำหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยตกลงให้โจทก์เป็นผู้ได้สิทธิเช่าซื้อที่ดินพิพาทและให้โจทก์นำหลักฐานการตกลงระหว่างโจทก์กับผู้อยู่อาศัยในที่ดินพิพาทที่ว่าจะไม่เรียกร้องใด ๆ จากจำเลยไปแสดง เพื่อทำสัญญาต่อไปภายใน 30 วันหากพ้นกำหนดจำเลยสงวนสิทธิที่จะดำเนินการตามที่เห็นสมควรปรากฏรายละเอียดตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2 ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวโจทก์พร้อมที่จะทำสัญญาได้ เพียงแต่ขาดหลักฐานการตกลงระหว่างโจทก์กับผู้อยู่อาศัยในที่ดินพิพาทที่ว่าจะไม่เรียกร้องใด ๆจากจำเลยเท่านั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2532 จำเลยได้ประกาศยกเลิกการประกวดราคาให้เช่าซื้อที่ดินพิพาท ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า โจทก์มีสิทธิบังคับให้จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินพิพาทกับโจทก์ได้หรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจะต้องพิจารณาก่อนว่า มีสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเกิดขึ้นแล้วหรือไม่ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าเงื่อนไขตามประกาศประกวดราคาข้อ 11นั้นมีความหมายว่า แม้มีผู้เข้าประกวดราคาได้แล้ว จำเลยก็มีสิทธิยกเลิกการประกวดราคาได้ เมื่อจำเลยไม่ต้องผูกพันทำสัญญาตามประกาศ ประกาศประกวดราคาดังกล่าว จึงไม่เป็นคำเสนอของจำเลยถือได้เพียงว่า เป็นคำเชื้อเชิญให้ทำคำเสนอเท่านั้น ส่วนหนังสือประกวดราคาของโจทก์นั้น นับได้ว่าเป็นคำเสนอของโจทก์ที่ประสงค์จะเข้าทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินพิพาทกับจำเลยนั่นเอง ที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิเช่าซื้อที่ดินพิพาทได้นั้น แต่ก็มีเงื่อนไขว่าโจทก์ต้องนำหลักฐานแสดงการตกลงระหว่างโจทก์กับผู้อยู่อาศัยในที่ดินพิพาทที่ว่าจะขนย้ายออกจากที่ดินโดยไม่เรียกร้องใด ๆ จากจำเลยมาแสดงภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ ดังนั้นหนังสือดังกล่าวของจำเลย จึงเป็นคำเสนออันมีข้อความเพิ่มเติม มีข้อจำกัดหรือมีข้อแก้ไขอย่างอื่นประกอบด้วย ซึ่งถือว่าเป็นคำบอกปัดไม่รับคำเสนอบางส่วนของโจทก์ทั้งเป็นคำเสนอขึ้นใหม่ด้วยในตัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 359 วรรคสองเมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้ดำเนินการสนองตามคำเสนอของจำเลยภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินพิพาทจึงชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น ปัญหาข้ออื่นตามฎีกาของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share