คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 258/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ล. เจ้าของที่ดินขายที่ดินให้ ม. โดยทำหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้ว ล. นำที่ดินนั้นไปจำนองต่อจำเลยที่ 3 โดยทำหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เช่นกัน ต่อมาภายหลัง ล. ได้นำที่ดินรายเดียวกันนี้ไปขายให้โจทก์อีก โจทก์ไม่ทราบเรื่องที่ ล. ขายให้ ม. จึงรับซื้อไว้ และชำระราคาที่ดินให้จำเลยที่ 3 เป็นค่าไถ่ถอนจำนอง ดังนี้ ถือว่าในขณะที่ ล. จำนองที่ดินนั้น ล. ผู้จำนอง ไม่ใช่เจ้าของที่ดิน สัญญาจำนองระหว่าง ล. กับจำเลยที่ 3 จึงไม่มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย การที่โจทก์มอบเงินให้จำเลยที่ 3 ไปเป็นการไถ่ถอนจำนอง และจำเลยที่ 3 รับไว้จึงเป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมาย และทำให้โจทก์เสียเปรียบ. โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกเงินที่ชำระไป คืนจากจำเลยที่ 3 ได้ในฐานลาภมิควรได้
คำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า จำเลยที่ 3 ไม่มีสิทธิอันใดที่จะได้เงินค่าที่ดินไปจากโจทก์. ขอให้จำเลยที่ 3คืนเงินให้โจทก์ เป็นที่เห็นได้แล้วว่าโจทก์ขอบังคับให้จำเลยคืนเงินให้โจทก์ฐานลาภมิควรได้

ย่อยาว

คดีนี้ ในชั้นเดิมโจทก์ฟ้องจำเลยรวม 6 คน แต่ต่อมาขอถอนฟ้องจำเลยอื่น เว้นแต่จำเลยที่ 3

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ว่า เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2508 จำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับมอบอำนาจ ได้เอาที่สวน 1 แปลงจำนองแก่จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับมอบอำนาจจัดการรับจำนองแทนเพื่อประกันหนี้ซึ่งนายยุทธ อิสสระไพบูลย์ จะพึงมีต่อจำเลยที่ 3 ภายในวงเงินไม่เกิน 60,000 บาท ได้ทำหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว โดยจำเลยที่ 4 รู้แล้วว่าที่ดินนั้นจำเลยที่ 1ได้ขายให้แก่นายมนัส สุวรรณรัตน์ ไปแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม 2505โดยทำหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมาระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2508 จำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1, 2 และ 4 สมคบกันหลอกลวงโจทก์ว่าที่ดินดังกล่าวยังเป็นของจำเลยที่ 1 และขายให้โจทก์ โจทก์รับซื้อไว้โดยทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เช่นกัน ทั้งนี้โดยจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ทำการไถ่ถอนจำนองแล้วขายให้โจทก์ จำเลยที่ 3 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 รับการไถ่ถอนจำนอง โจทก์ได้ชำระเงิน 60,000 บาทเป็นค่าไถ่ถอนจำนองให้แก่จำเลยที่ 3 แล้ว ต่อมาโจทก์จึงเข้าครอบครองที่ดินที่ซื้อแต่เข้าครอบครองไม่ได้ เพราะนายมนัส สุวรรณรัตน์ ครอบครองอยู่อ้างว่าจำเลยที่ 1 ขายให้แล้ว การที่จำเลยที่ 3 ได้เงินไปจากโจทก์เป็นการได้ไปโดยทุจริต เพราะการทำหนังสือจำนองไม่มีที่ดินที่จำนองโดยจำเลยที่ 1 ขายขาดให้นายมนัสไปก่อนแล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่มีสิทธิอันใดที่จะได้เงินค่าที่ดินไปจากโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยที่ 3 ส่งมอบที่ดินตามสัญญาซื้อขายให้โจทก์ ถ้าส่งมอบไม่ได้ ก็ขอให้คืนเงิน 60,000 บาท กับค่าเสียหาย 20,000 บาทให้โจทก์

จำเลยที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 3 รับจำนองที่ดินตามฟ้องไว้โดยสุจริต จำเลยที่ 3 ไม่รู้และไม่อยู่ในฐานะอันควรรู้ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินรายนี้ให้นายมนัส สุวรรณรัตน์ แล้ว และมิได้รับจำนองไว้เพื่อลวงบุคคลภายนอกให้หลงเชื่อ มิได้หลอกลวงโจทก์ว่าที่ดินตามฟ้องเป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำนองไว้ การซื้อขายรายนี้โจทก์กับเจ้าของที่ดินตกลงซื้อขายกันเอง แล้วติดต่อขอชำระหนี้จำนองเพื่อปลดที่ดินรายนี้ให้ปลอดจำนองจำเลยที่ 3 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 3 ไม่ได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องจากจำเลยอื่นแล้ว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ขณะที่นางล้วนลี้จำเลยที่ 1 จำนองที่พิพาทไว้กับจำเลยที่ 3 นั้น นางล้วนลี้ได้โอนขายที่พิพาทให้นายมนัสไปก่อนโดยชอบแล้ว นางล้วนลี้ผู้จำนองจึงไม่ใช่เจ้าของที่พิพาท ฉะนั้น สัญญาจำนองระหว่างนางล้วนลี้กับจำเลยที่ 3 จึงไม่มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย ความรับผิดของนางล้วนลี้ต่อธนาคารจำเลยที่ 3 จึงหามีไม่ ฉะนั้น การที่โจทก์มอบเงิน 60,000 บาทให้จำเลยที่ 3 ไป เป็นการไถ่ถอนจำนอง และจำเลยที่ 3 รับไว้ จึงเป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมาย และทำให้โจทก์เสียเปรียบ เพราะโจทก์ไม่ได้ที่ดินตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายไว้ชัดว่าจำเลยที่ 3 ไม่มีสิทธิอันใดที่จะได้เงินค่าที่ดินไปจากโจทก์ ขอให้จำเลยที่ 3 คืนเงินให้โจทก์ กรณีเป็นที่เห็นได้แล้วว่าโจทก์ขอบังคับจำเลยคืนเงินให้โจทก์ในฐานลาภมิควรได้

พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 3 คืนเงินให้โจทก์ 60,000 บาท

Share