แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สัญญาจ้างที่จะถือว่าเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนนั้นหมายถึงการจ้างซึ่งกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้ว่าจะจ้างกันกี่วัน กี่เดือน หรือกี่ปี เมื่อถึงกำหนดระยะเวลานั้นแล้วการจ้างเป็นอันระงับสิ้นสุดกันทันที และฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหามีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนกำหนดนั้นไม่ การเป็นลูกจ้างประจำหรือไม่อยู่ที่การงานของนายจ้างเป็นสำคัญ โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยซึ่งประกอบกิจการเดินเรือรับจ้างขนส่งสินค้าและคนโดยสารระหว่างประเทศ สภาพงานของจำเลยมิใช่มีลักษณะเป็นครั้งคราวเป็นการจรหรือเป็นเป็นไปตามฤดูกาลจึงต้องถือว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย และเป็นกรณีที่จำเลยจ้างโจทก์โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนดังนี้ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมด้วยดอกเบี้ยและค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์โดยสัญญาจ้างมีข้อตกลงเกี่ยวกับระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน จำเลยไม่ต้องรับผิดในเงินที่โจทก์เรียกร้องเพราะเป็นการเลิกจ้างที่ครบกำหนดตามสัญญาจ้าง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยมิได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำเพราะจำเลยจ้างโจทก์ให้ทำงานบนเรือ ซึ่งสภาพการทำงานบนเรือไม่สามารถทำให้จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำได้ โจทก์จึงมิได้เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยอย่างไรก็ตาม การที่จำเลยจ้างโจทก์นั้นเป็นการจ้างให้ทำงานบนเรือในแต่ละเที่ยวโดยถือเอาระยะเวลาการเดินเรือเป็นระยะเวลาการจ้าง และจำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์เฉพาะช่วงที่โจทก์ทำงานบนเรือให้แก่จำเลยเท่านั้น เมื่อโจทก์ขึ้นบกแล้ว โจทก์กับจำเลยก็สิ้นความผูกพันกัน ทั้งตามเอกสารเลิกจ้างหมาย จ.11ระบุเหตุเลิกจ้างไว้ชัดแจ้งว่า ครบกำหนดตามสัญญา ฉะนั้นจึงถือสัญญาที่จำเลยจ้างโจทก์เป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ได้แบ่งลูกจ้างออกเป็นสองประเภทคือ ลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างประจำหมายความว่าลูกจ้างซึ่งนายจ้างตกลงจ้างไว้เป็นการประจำ และลูกจ้างชั่วคราวหมายความว่า ลูกจ้างซึ่งนายจ้างตกลงจ้างไว้ไม่เป็นการประจำเพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจร หรือเป็นไปตามฤดูกาลดังนั้น การเป็นลูกจ้างประจำหรือไม่จึงอยู่ที่การงานของนายจ้างเป็นสำคัญ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยประกอบกิจการเดินเรือรับจ้างขนส่งสินค้าและคนโดยสารระหว่างประเทศ จำเลยย่อมมีงานซึ่งจะต้องทำเป็นประจำและสามารถให้โจทก์ทำได้เสมอ เมื่อจำเลยต้องการแม้การเดินเรือของจำเลยแต่ละครั้งไม่ติดต่อกัน หรือโจทก์มิได้ทำงานในเรือของจำเลยทุกเที่ยว แต่สภาพงานของจำเลยมิใช่งานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจรหรือเป็นไปตามฤดูกาลซึ่งเมื่อทำเสร็จแล้วก็จะเสร็จสิ้นกันไปโดยไม่มีทำอีก ก็ต้องถือว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย สำหรับปัญหาที่ว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนแล้วหรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า สัญญาจ้างซึ่งจะถือว่าเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนนั้น หมายถึง การจ้างซึ่งกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้ว่าจะจ้างกันกี่วัน กี่เดือน หรือกี่ปีเมื่อถึงกำหนดระยะเวลาแล้วการจ้างเป็นอันระงับสิ้นสุดกันทันทีและฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหามีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนกำหนดนั้นได้ไม่แต่สัญญาจ้างทำงานเป็นลูกเรือในเรือเดินทะเลระหว่างจำเลยกับโจทก์ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติแล้วว่า การที่โจทก์ลงเรือแต่ละครั้งได้ทำสัญญาตกลงกำหนดระยะเวลาจ้างเป็นคราว ๆ โดยปกติกำหนดไว้คราวละ 3 เดือน หรือ 6 เดือน แต่เวลาทำงานบนเรือไม่แน่นอนไม่เป็นไปตามกำหนดที่ระบุไว้เป็นคราว ๆ ในสัญญา บางครั้งทำงานเกินกำหนดไปหลายเดือน แต่บางครั้งก็ทำงานไม่ครบกำหนดตามสัญญานั้นแต่การจ่ายค่าจ้างคงจ่ายตามวันที่ทำงาน กำหนดระยะเวลาการจ้างเป็นคราว ๆ ไม่มีผลบังคับกันอย่างแท้จริงประการหนึ่ง ทั้งตามข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับพฤติการณ์ที่คู่ความถือปฏิบัติต่อกันและศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่าเมื่อครบกำหนดสัญญาแล้วครั้งหนึ่ง ๆโจทก์มีโอกาสขึ้นจากเรือไปพักผ่อนกับครอบครัวไม่ต้องไปทำงานแต่โจทก์จะต้องทำใบร้องขอลงเรือที่บริษัทจำเลยเพื่อดูว่าทางบริษัทจำเลยจะจัดให้ลงเรือเที่ยวต่อไปที่เรือลำใดหรือไม่เมื่อโจทก์ขึ้นจากเรือแล้ว บริษัทจำเลยจะจ่ายเรือลีฟเปย์หรือเงินลาพักเป็นพิเศษแก่โจทก์ตามสัญญา ทั้งนี้เพื่อผูกพันให้โจทก์ต้องลงเรือให้จำเลย โดยไม่มีสิทธิลงเรือของบริษัทอื่น ระหว่างโจทก์ขึ้นบกแล้วโจทก์ยังต้องรอฟังคำสั่งจากบริษัทจำเลยผู้เป็นนายจ้างว่าจะสั่งให้ลงเรือลำใดต่อไป หากโจทก์ลงชื่อในสัญญาลงเรือแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงในเรือจำเลยจะจ่ายค่ารอการลงเรือให้โจทก์ครึ่งหนึ่งของอัตราค่าจ้างปกติ เมื่อโจทก์ทำงานครบ 1 ปีแล้วยังได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือนอีก นอกจากนี้บริษัทจำเลยให้โจทก์จัดหาหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาประกันความเสียหายให้บริษัทจำเลยมีกำหนด 1 ปี ซึ่งไม่ตรงกับกำหนดระยะเวลาในสัญญาลงเรือที่ทำไว้ และศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยว่า จากพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุผลสนับสนุนว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับโจทก์ยังคงมีอยู่ติดต่อกันไม่ขาดตอน หรือระงับไปตามอายุของสัญญาจ้างจึงต้องถือว่า การที่จำเลยจ้างโจทก์กรณีเช่นนี้เป็นการจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ดังนั้น เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด และไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 3526 ถึง 3530/2530 ระหว่างนายจตุพร นาจพินิจ กับพวก โจทก์ บริษัทยูไนเต็ดไทย ชิปปิ้งจำกัด จำเลย
ส่วนข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยยังมิได้เลิกจ้างโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้นศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาที่ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้วหรือไม่เป็นข้อเท็จจริง เมื่อศาลแรงงานกลางฟังว่า จำเลยได้เลิกโจทก์แล้วข้อเท็จจริงย่อมยุติ จำเลยจะอุทธรณ์โต้เถียงคำพิพากษาศาลแรงงานกลางอีกหาได้ไม่ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อุทธรณ์ของจำเลยบางข้อฟังไม่ขึ้น และบางข้อศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน