คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1655/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิตถือเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างให้จำคุกจำเลยเกินห้าปี โจทก์จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ตามป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคสอง และข้อห้ามฎีกานี้ใช้บังคับโจทก์ร่วมด้วย เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4)ได้นิยามศัพท์คำว่า “โจทก์” ไว้ให้รวมถึงโจทก์ร่วมด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันลักทรัพย์ของนายสุธีผู้เสียหาย และร่วมกันฆ่านางสุวรรณีและนางทองใบ โดยไตร่ตรองไว้ก่อนและโดยทารุณโหดร้าย เพื่อสะดวกในการกระทำความผิดขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 288, 289, 91, 83, 33
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณาผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคท้าย, 289(6)(7) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 แต่อัตราโทษตามบทมาตราทั้งสองเท่ากัน จึงลงโทษตามมาตรา 340 วรรคท้าย วางโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งสาม คำรับสารภาพของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 78 ประกอบมาตรา 52(2) คงจำคุกตลอดชีวิต
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามตลอดชีวิตและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ถือเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างให้จำคุกจำเลยเกินห้าปี โจทก์จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคสอง ข้อห้ามฎีกาดังกล่าวนี้ย่อมใช้บังคับโจทก์ร่วมด้วย เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(14)ได้นิยามศัพท์คำว่า “โจทก์” ไว้ว่า “หมายความถึงพนักงานอัยการหรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาล หรือทั้งคู่ในเมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน” ที่โจทก์ร่วมฎีกาว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือเป็นการฆ่าโดยการกระทำทารุณโหดร้ายและทรมาน รวมทั้งคดีไม่มีเหตุสมควรที่จะลดโทษให้จำเลยทั้งสามนั้นล้วนเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ร่วมมาก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของโจทก์ร่วม

Share