แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ขุดร่องน้ำในที่สาธารณะรับน้ำมายังนาของโจทก์ ราษฎรใช้น้ำในร่องน้ำนั้นทำนาและเลี้ยงสัตว์มา 40 ปี โดยขุดร่องน้ำเล็กชักน้ำมาสู่นาของตน ร่องน้ำนี้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยปิดร่องน้ำทำลายคันและทำนาในร่องน้ำ ทำให้โจทก์ใช้น้ำทำนาไม่ได้ ได้รับความเสียหายพิเศษ เป็นละเมิดต่อโจทก์ ศาลพิพากษาให้จำเลยสร้างคันดินและทำให้เป็นร่องน้ำตามเดิม
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้พิจารณาพิพากษาใหม่ จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาแรกที่ว่าร่องน้ำพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ เห็นว่าเมื่อประมาณ 40 ปีมาแล้ว โจทก์ขุดร่องน้ำพิพาทจากนาของนายขัน นายแขม และนายสี ยาวประมาณ 30 เส้น เพื่อรับน้ำมายังนาของโจทก์ โดยขุดร่องน้ำบนที่ดินสาธารณะนายแขม นายชุ่มนายสวัสดิ์ พยานโจทก์เบิกความสนับสนุนต้องกันว่าโจทก์เป็นผู้ขุดร่องน้ำดังกล่าวบนที่ดินสาธารณะมาประมาณ 40 ปี ราษฎรที่อยู่ใกล้ร่องน้ำใช้น้ำในร่องน้ำนั้นทำนาและเลี้ยงสัตว์ เมื่อศาลชั้นต้นไปเผชิญสืบร่องน้ำพิพาทปรากฏว่าร่องน้ำนั้นขุดบนที่ดินสาธารณะโดยตลอดเจ้าของนาใกล้เคียงอาศัยน้ำในร่องน้ำทำนาโดยขุดร่องน้ำเล็กจากร่องน้ำนั้นมาสู่นาของตน นายจำปา นายหมี พยานจำเลยรับว่าได้เห็นร่องน้ำนั้นมาประมาณ 40 ปีแล้ว ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวถือได้ว่า ร่องน้ำพิพาทเป็นร่องน้ำสาธารณประโยชน์ที่สงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ข้อนี้ชอบแล้ว
ปัญหาต่อไปที่ว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งโจทก์จำเลยนำสืบมาเสร็จสำนวนแล้ว แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ปัญหาว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่นั้น โจทก์เบิกความว่าจำเลยทำคันกั้นร่องน้ำที่แนว ก.ฉ. กับ ข.ช. และทำลายคันร่องน้ำแล้ว ทำนาในร่องน้ำบริเวณที่ระบายสีแดงในแผนที่พิพาท นายแขม นายชุ่ม นายสวัสดิ์ พยานโจทก์เบิกความต้องกันว่า จำเลยปิดกั้นร่องน้ำและทำนาในร่องน้ำเมื่อศาลชั้นต้นเผชิญสืบร่องน้ำพิพาทปรากฏว่า คันดินแนว ก.ฉ. กับ ข.ช. เป็นคันดินที่ทำขึ้นใหม่ ๆ ที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยไม่ได้ปิดกั้นร่องน้ำที่แนว ก.ฉ. กับ ข.ช. และนายกู้ศักดิ์ทำนาในร่องน้ำบริเวณที่ระบายสีแดงมาก่อนมานั้นเป็นของจำเลย จึงไม่น่าเชื่อ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทำคันดินกั้นน้ำดังกล่าวและทำลายคันร่องน้ำแล้วทำนาในร่องน้ำ โจทก์ใช้น้ำจากร่องน้ำพิพาทเพื่อทำนาของโจทก์ที่อยู่ทางทิศตะวันตกของถนนจากบ้านโพนบกไปยังบ้านโพนงามท่าถนนนั้นมีท่อระบายน้ำใกล้นาของโจทก์ปรากฏตามแผนที่พิพาท และปรากฏในนาของโจทก์มีร่องน้ำรับน้ำจากร่องน้ำพิพาทไหลผ่านท่อระบายน้ำของถนนไหลสู่นาของโจทก์ ตามฎีกาของจำเลยกล่าวว่า เมื่อน้ำเต็มร่องข้างถนนแล้วจึงจะไหลไปตามท่อระบายน้ำผ่านนาของโจทก์ไหลลงสู่หนองหาร เป็นข้อที่แสดงให้เห็นว่านาของโจทก์เป็นที่ดินต่ำ เชื่อว่าโจทก์ใช้น้ำจากร่องน้ำพิพาทซึ่งไหลมาจากที่ดินสูงในการทำนาของโจทก์ การที่จำเลยทำคันปิดกั้นร่องน้ำพิพาทและทำนาในร่องน้ำพิพาท ทำให้น้ำในร่องน้ำพิพาทไหลไปไม่ถึงนาของโจทก์ตามธรรมดาโจทก์ไม่อาจใช้น้ำจากร่องน้ำพิพาท เพื่อประโยชน์ในการทำนาได้ ทำให้ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ส่วนข้อที่จะบังคับจำเลยตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้เพียงไร เห็นว่า คำขอของโจทก์ที่ให้บังคับจำเลยทำนาห่างคันคลอง (ร่องน้ำ) ตามแนว ฉ.ช.ซ.ค. ตามแผนที่ท้ายฟ้องหรือแนว ม.ฉ.ช.ซ.ค. ตามแผนที่พิพาทมาทางทิศใต้ 2 เมตรตลอดแนวเขตของร่องน้ำนั้น ทางพิจารณาโจทก์นำสืบไม่ได้ความว่าเขตของร่องน้ำอยู่ห่างแนว ฉ.ช.ซ.ค. มาทางทิศใต้ 2 เมตร จึงบังคับจำเลยตามคำขอนี้ไม่ได้ ส่วนคำขอข้ออื่นเป็นผลที่เนื่องจากการกระทำละเมิดของจำเลย จึงบังคับให้ได้ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยขุดคันดินตามแนว ก.ฉ. และ ข.ซ. ตามแผนที่พิพาทให้มีสภาพเป็นร่องน้ำตามเดิม ให้จำเลยสร้างคันดินตามแนวช.ซ.ค. ตามแผนที่พิพาทให้มีสภาพเป็นคันดินของร่องน้ำตามสภาพเดิม ห้ามจำเลยทำนาในร่องน้ำบริเวณที่ระบายสีแดงในแผนที่พิพาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมสามศาลโดยกำหนดค่าทนายความสามศาล 1,000 บาทแทนโจทก์”