คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2577/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้และไถ่ถอนจำนอง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุด ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลย บรรยายฟ้องว่า ก่อนฟ้องโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้และไถ่ถอนจำนอง คดีก่อนที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องเพราะโจทก์ยังมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ต่อมาเมื่อโจทก์ปฏิบัติตามเงื่อนไขแล้วฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ หนังสือให้ความยินยอมของสามีโจทก์ ไม่เป็นใบมอบอำนาจที่จะต้องปิดอากรแสตมป์ การบอกกล่าวบังคับจำนอง กำหนดเวลาให้ชำระหนี้ ภายใน 30 วันเป็นเวลาอันสมควร.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นหญิงมีสามีได้รับความยินยอมจากสามีให้ดำเนินคดีนี้แล้ว เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2527 จำเลยได้ทำสัญญาจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้จำนวน 600,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยผิดนัด โจทก์บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้และไถ่ถอนจำนอง จำเลยค้างชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์คิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 2 ปี เป็นเงินค่าดอกเบี้ยจำนวน 180,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยให้จำเลยชำระเงินจำนวน 780,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยหากจำเลยไม่ไถ่ถอนจำนองก็ให้นำทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า หนังสือให้ความยินยอมเป็นใบมอบอำนาจแต่ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ โจทก์ฟ้องคดีนี้ซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1247/2529 ก่อนฟ้องโจทก์ไม่ได้บอกกล่าวทวงถามไปยังจำเลยหากศาลเห็นว่าการส่งจดหมายบอกกล่าวของโจทก์นั้นชอบด้วยกฎหมายแล้วระยะเวลาที่โจทก์กำหนดให้จำเลยชำระหนี้เป็นระยะเวลาที่สั้นเกินสมควร การมอบอำนาจให้บอกกล่าวทวงถามต้องทำเป็นหนังสือ แต่โจทก์ได้มอบอำนาจด้วยวาจา ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 798 ในสัญญาจำนองระบุว่าให้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี แต่ความจริงโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน เท่ากับร้อยละ 24 ต่อปี ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ข้อกำหนดเรื่องดอกเบี้ยในสัญญาจำนองเป็นนิติกรรมอำพราง จึงตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ชำระหนี้โจทก์จำนวน 600,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่ผิดนัดเป็นจำนวนดอกเบี้ยไม่เกิน180,000 บาท ตามที่โจทก์ขอมาและดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่ไถ่ถอนจำนองชำระหนี้โจทก์ให้ยึดที่ดินจำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาแรกที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าคดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องเดียวกันกับคดีนี้ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรและแจ้งการบังคับจำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้โดยบรรยายฟ้องว่า ก่อนฟ้องโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้และไถ่ถอนจำนอง จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วเห็นว่าคดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ยังมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ต่อมาเมื่อโจทก์ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว โจทก์ได้ฟ้องคดีนี้ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน
ปัญหาต่อไปมีว่า หนังสือให้ความยินยอมของสามีโจทก์ เอกสารหมาย จ.1 เป็นใบมอบอำนาจที่จะต้องปิดอากรแสตมป์หรือไม่ เห็นว่าสามีโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเพราะสามีโจทก์มิได้เป็นคู่สัญญากับจำเลย สามีโจทก์จึงไม่ต้องทำใบมอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดีแทนแต่โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะเป็นคู่สัญญากับจำเลยโดยได้รับความยินยอมจากสามีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1479หนังสือให้ความยินยอมของสามีโจทก์ เอกสารหมาย จ.1 จึงไม่เป็นใบมอบอำนาจที่จะต้องปิดอากรแสตมป์
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยโดยชอบแล้วหรือไม่ และกำหนดเวลาให้ชำระหนี้ในคำบอกกล่าวนั้นเป็นเวลาอันสมควรหรือไม่ โจทก์นำสืบว่า เมื่อประมาณต้นเดือนตุลาคม 2529โจทก์ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ทนายโจทก์ติดต่อทวงถามจำเลยให้ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนอง ปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.4ทนายโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามจำเลยให้ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองภายใน30 วัน ปรากฏตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.5 ส่งไปให้จำเลยทั้งที่ทำงานและที่บ้าน สำหรับที่ทำงานจำเลยมีนายสมศักดิ์ กล้าเสมอซึ่งเป็นเวรรับหนังสือเป็นผู้เซ็นรับไว้แทน ปรากฏตามใบตอบรับเอกสารหมาย จ.6 ส่วนที่บ้านจำเลย ปรากฏว่าส่งไม่ได้เพราะผู้ที่อยู่ในบ้านไม่ยอมรับ ปรากฏตามซองจดหมายที่ถูกส่งคืน เอกสารหมายจ.7 ส่วนจำเลยนำสืบว่าตอนกลางวันที่บ้านจำเลยไม่มีคนอยู่เพราะจำเลยและสามีไปทำงานส่วนบุตรของจำเลยไปเรียนหนังสือ จำเลยไม่ได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองดังกล่าว จำเลยไม่รู้จักนายสมศักดิ์ กล้าเสมอ ผู้รับหนังสือตามเอกสารหมาย จ.6 เห็นว่า โจทก์มีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารมาสืบสนับสนุนข้ออ้าง ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยและสามีจำเลยมาเบิกความลอย ๆ ว่าไม่ได้รับหนังสือทวงถามพยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือว่าพยานหลักฐานจำเลยข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์มอบอำนาจให้ทนายโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยไถ่ถอนจำนอง ทนายโจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยและจำเลยได้รับโดยชอบแล้ว ส่วนกำหนดเวลาให้ชำระหนี้ภายใน 30 วัน ตามคำบอกกล่าว นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นเวลาอันสมควรแล้ว… การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยเดือนละ 12,000 บาทจากต้นเงิน 600,000 บาท จึงเป็นการคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2ต่อเดือน หรือร้อยละ 24 ต่อปีซึ่งเกินอัตราดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 และเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 (ก) ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยย่อมเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยแต่จำเลยยังต้องชำระหนี้จำนองแก่โจทก์ อย่างไรก็ตาม หนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 5 ระบุว่าจำนองมีกำหนดไถ่ถอนภายในหนึ่งปี เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนแล้วจำเลยไม่ชำระหนี้ จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องชำระดอกเบี้ยเพราะเหตุผิดนัดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 600,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share