คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1124/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องกล่าวเป็นประเด็นในคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสองยึดรถของโจทก์ไว้โดยไม่มีสิทธิและอำนาจที่จะพึงกระทำได้ โจทก์ไม่ได้กล่าวในฟ้องว่าเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจกระทำการยึดรถไว้โดยไม่มีความจำเป็นที่ต้องกระทำ ข้อเท็จจริงตามฎีกาโจทก์ที่ว่าเจ้าพนักงานไม่มีความจำเป็นต้องยึดรถโจทก์ไว้ต่อไปแล้ว จึงเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์เพิ่งยกขึ้นมาอ้างในชั้นฎีกา ไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
โจทก์อ้างว่า ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160วรรคแรก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินสองพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับคดีจะขาดอายุความในหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (5) พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจยึดรถไว้ถึงวันที่ 1 มกราคม 2527 เท่านั้น พ้นจากนั้นอำนาจในการยึดย่อมสิ้นสุดลง และจะต้องคืนรถทันที จำเลยทั้งสองไม่คืนให้เป็นการละเมิดโจทก์ ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 19 ธันวาคม2526 ในวันดังกล่าวจำเลยทั้งสองยังมีอำนาจยึดรถของโจทก์ไว้ได้ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ.2522 มาตรา 78 การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นละเมิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารปรับอากาศประเภททัวร์คันหมายเลขทะเบียน ๑๐ – ๐๘๐๕ นครสวรรค์ จำเลยที่ ๑ เป็นทบวงการเมือง มีฐานะเป็นกรมในรัฐบาล จำเลยที่ ๒ ในฐานะดำรงตำแหน่งสารวัตรใหญ่ตำรวจทางหลวงประตูน้ำพระอินทร์ กองกำกับการ ๑ กองบังคับการตำรวจทางหลวง ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองและบังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ และในฐานะส่วนตัวซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการสืบสวนและสอบสวนคดีที่เกิดขึ้นในท้องที่ของตนที่ได้รับคำสั่งแต่งตั้งมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งกับทั้งมีอำนาจปกครองดูแลเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชาตลอดจนปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบกฎข้อบังคับและตัวบทกฎหมายในหน่วยงานหรือส่วนราชการที่ได้รับมอบหมาย เมื่อคืนวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๖ คนขับรถยนต์โดยสารของโจทก์ขับรถยนต์โดยสารปรับอากาศประเภททัวร์คันหมายเลขทะเบียน ๑๐ – ๐๘๐๕ นครสวรรค์ ของโจทก์บรรทุกผู้โดยสารออกจากสถานีเดินรถขนส่งสายเหนือ (หมอชิต) กรุงเทพมหานคร มุ่งหน้าจะไปส่งผู้โดยสารที่จังหวัดลำปางไปตามถนนสายเอเชีย เมื่อขับไปอีกประมาณ ๓ – ๔ กิโลเมตร จะถึงทางแยกเข้าอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รถของโจทก์ได้แซงรถยนต์บรรทุกคันที่แล่นอยู่ข้างหน้าจนพ้นแล้วแล่นเข้าอยู่ในช่องทางเดินรถปกติ มีรถยนต์บรรทุกแก๊สคันหมายเลขทะเบียน ๗๐ – ๐๒๐๙ กรุงเทพมหานคร(ที่ถูกหมายเลขทะเบียน ๗๐ – ๐๒๒๑ กาญจนบุรี) แล่นสวนมาด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดและแล่นเดินทางเข้ามาเฉี่ยวตอนท้ายรถของโจทก์ เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกแก๊สเสียหลักพุ่งเข้าชนรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน ๑๐ – ๑๒๘๑ กรุงเทพมหานคร (ที่ถูกเป็นรถยนต์โดยสารปรับอากาศประเภททัวร์หมายเลขทะเบียน ๑๐ – ๑๒๘๑ กรุงเทพมหานคร)ซึ่งแล่นตามหลังรถของโจทก์มา จำเลยที่ ๒ ในฐานะสารวัตรใหญ่ตำรวจทางหลวงประตูน้ำพระอินทร์ไปนำเอารถยนต์ที่ชนกันรวมทั้งรถของโจทก์ไปเก็บไว้ที่สถานีตำรวจทางหลวงประตูน้ำพระอินทร์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อดำเนินการสืบสวนและสอบสวนตามกฎหมาย ต่อมาโจทก์มีหนังสือขอรถของโจทก์คืน จำเลยที่ ๒ ไม่ยอมคืนอ้างว่าโจทก์ยังมิได้มีการตกลงเรื่องค่าเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ ๒ ที่ยึดหน่วงรถของโจทก์ไว้โดยไม่มีสิทธิและอำนาจจะกระทำได้ เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำละเมิดต่อกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน ๑๐ – ๐๘๐๕ นครสวรรค์ แก่โจทก์ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ ๒,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ ๒ ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติของทางราชการอย่างไร หลังจากเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนกัน ๔ คัน นายเกษม ไทยขำ ผู้ขับรถยนต์ของโจทก์ไม่หยุดช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บหรือแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีและหลบหนีไป ร้อยตำรวจโทขันติ สุขกสิพนักงานสอบสวนจึงยึดรถของโจทก์ไว้เป็นของกลางเพื่อดำเนินคดีนายเกษมข้อหาขับรถยนต์โดยประมาททำให้รถชนกันเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัสและทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย กับหลบหนีไม่หยุดช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บหรือแจ้งเหตุต่อพนักงานใกล้เคียง พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแล้วเสนอความเห็นควรฟ้องนายเกษม พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องนายเกษมในข้อหาดังกล่าวและออกหมายจับนายเกษมภายในอายุความ ๑๐ ปี ขณะนี้ยังจับตัวนายเกษมไม่ได้ คดียังไม่ถึงที่สุดพนักงานสอบสวนมีอำนาจยึดรถของโจทก์ไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือได้ตัวนายเกษมมาลงโทษตามกฎหมาย เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๒๖ โจทก์มีหนังสือถึงผู้บังคับการตำรวจทางหลวงขอรับรถของโจทก์คืน แต่ผู้บังคับการตำรวจทางหลวงซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสั่งไม่อนุญาต เนื่องจากโจทก์ยังมิได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในการขอคืนรถของกลางของกรมตำรวจ กล่าวคือ โจทก์ยังไม่ได้ช่วยเหลือและบรรเทาผลร้ายเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล ค่าเสียหายจนผู้เสียหายพอใจ เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ได้ปฏิบัติถูกต้องโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของราชการ จำเลยทั้งสองมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่เสียหายตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน ๑๐ – ๐๘๐๕ นครสวรรค์ แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ๕๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๒๗ เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะคืนรถยนต์ให้โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๗๘ วรรตคสอง มีข้อความตอนหนึ่งว่า ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดรถคันที่ผู้ขับขี่หลบหนีไว้ได้จนกว่าคดีถึงที่สุดหรือได้ตัวผู้ขับขี่ โจทก์เห็นว่าความมุ่งหมายของกฎหมายดังกล่าวไม่ต้องการให้มีการยึดรถโดยเคร่งครัด กรณีให้ยึดรถไว้ได้จนกว่าคดีถึงที่สุดต้องมีความจำเป็นที่จะต้องยึดไว้เป็นพยานวัตถุเพื่อให้ศาลพิสูจน์ความผิด กรณีให้ยึดรถไว้ได้จนกว่าจะได้ตัวผู้ขับขี่ ก็เป็นเพียงเงื่อนไขในการที่จะให้ได้ตัวผู้ขับขี่มาเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ในความผิดเท่านั้น เมื่อรถยนต์ของโจทก์ไม่มีความจำเป็นตามที่กล่าวมาแล้วทั้งสองกรณี เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจก็น่าจะพิจารณาเพื่อความเป็นธรรมคืนรถยนต์ให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องกล่าวเป็นประเด็นในคำฟ้องว่าจำเลยทั้งสองยึดรถของโจทก์ไว้โดยไม่มีสิทธิและอำนาจที่จะพึงกระทำได้ โจทก์ไม่ได้กล่าวในฟ้องว่าเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจกระทำการยึดรถไว้โดยไม่มีความจำเป็นที่ต้องกระทำหรือไม่จึงเป็นข้อเท็จจริงซึ่งโจทก์เพิ่งยกขึ้นมาอ้างในชั้นฎีกา ไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้ ฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ยึดรถของโจทก์ไว้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๖ ถ้าจะยึดไว้จนกว่าคดีถึงที่สุด คดีนี้จะถึงที่สุดโดยคดีขาดอายุความทั้งนี้เพราะความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๖๐ วรรคแรก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินสองพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ คดีจะขาดอายุความในหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๕ (๕) พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจยึดไว้ได้ถึงวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๗ เท่านั้น พ้นจากนี้แล้วอำนาจในการยึดรถของโจทก์ไว้ย่อมสิ้นสุดลงและจะต้องคืนรถยนต์กลับคืนให้โจทก์ทันที แต่จำเลยทั้งสองไม่คืนให้โจทก์เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๒๖ โจทก์กล่าวอ้างในวันที่ยื่นฟ้องนั้นว่าจำเลยทั้งสองยึดรถของโจทก์ไว้โดยไม่มีสิทธิและอำนาจจะกระทำได้เมื่อฟังว่าในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้จำเลยทั้งสองยังมีอำนาจยึดรถของโจทก์ไว้ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พะ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๗๘ คือยังมีอำนาจยึดไว้ได้จนถึงวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๗การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นละเมิด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share