คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2570/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามคำร้อง ของ จำเลยอ้างว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 วรรคสอง ซึ่งจำเลยต้องยื่นคัดค้านเสียก่อนที่การบังคับคดีได้เสร็จลงหรือภายใน 8 วัน นับแต่วันที่ทราบถึงการฝ่าฝืนนั้นแม้จำเลยจะไม่ทราบวันขายทอดตลาดอันเป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 306 ก็ตาม แต่จำเลยเพิ่งมายื่นคำร้องคัดค้านภายหลังจากที่การบังคับคดีได้เสร็จลงแล้วจึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 677,404.75 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสามไม่ยอมชำระ โจทก์ขอให้บังคับคดีแล้วนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยทั้งสามขายทอดตลาด วันที่ 27 มิถุนายน 2533ซึ่งเป็นวันนัดขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ปรากฏว่าโจทก์มาศาล จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มาศาล ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขายทรัพย์ของจำเลยทั้งสองให้แก่ผู้ประมูลราคาสูงสุด วันที่ 5พฤศจิกายน 2533 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องว่า ไม่ทราบวันนัดขายทอดตลาดดังกล่าว จึงไม่มีโอกาสนำผู้อื่นเข้าสู้ราคาและคัดค้านการขายทอดตลาดได้ ขอให้ยกเลิกการขายและดำเนินการขายใหม่
ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์รายนี้ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2533 โดยนางเอมอร อุฬารกุล เป็นผู้ประมูลซื้อได้ โจทก์ไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขายได้ ต่อมาวันที่ 11 กรกฎาคม 2533ผู้ซื้อได้ชำระเงินค่าซื้อทรัพย์ครบถ้วน โจทก์รับเงินค่าขายทรัพย์ไปเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2533 และในวันเดียวกันนั้นศาลชั้นต้นได้มีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสกลนครให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ซื้อ ครั้นต่อมาวันที่ 5พฤศจิกายน 2533 จำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลชั้นต้นว่าการขายทอดตลาดทรัพย์ในครั้งนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้แจ้งวันนัดให้จำเลยทั้งสองทราบ ทำให้จำเลยทั้งสองได้รับความเสียหายถ้าจำเลยทั้งสองทราบวันนัดก็จะติดต่อให้พี่สาวของจำเลยที่ 1มาประมูลซื้อทรัพย์ของจำเลยทั้งสองไว้และจะซื้อในราคาที่สูงกว่าผู้ซื้อรายนี้ ขอให้ศาลชั้นต้นสั่งยกเลิกการขายครั้งนี้เสียและขอให้ดำเนินการขายทอดตลาดใหม่อีกครั้ง พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามคำร้องของ จำเลยทั้งสองนั้น เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง จำเลยทั้งสองต้องคัดค้านเสียก่อนที่การบังคับคดีได้เสร็จลงหรือยื่นภายใน 8 วันนับแต่วันที่ทราบถึงการฝ่าฝืนนั้น แม้จะฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่ทราบวันขายทอดตลาดอันเป็นการบังคับคดีฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 306 ก็ตาม แต่กรณีของจำเลยทั้งสองเพิ่งมายื่นคำร้องคัดค้านภายหลังจากที่การบังคับคดีได้เสร็จลงแล้ว จึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share