คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดในความประมาทเลินเล่อและยอมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 6,000บาท จากค่าเสียหายประมาณ 10,550 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระตามกำหนดให้โจทก์ฟ้องร้องทางแพ่งได้นั้น เป็นการตกลงชำระค่าเสียหายกันเป็นจำนวนที่แน่นอนแล้ว ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงระงับข้อพิพาทอันเกี่ยวกับค่าเสียหายซึ่งเกิดจากมูลละเมิดขับรถชนกันให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 มีผลทำให้การเรียกร้องในหนี้สินอันเกิดจากมูลละเมิดระงับสิ้นไปและทำให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เมื่อหนี้อันเกิดจากมูลละเมิดระงับไปแล้วความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิด และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างย่อมระงับไปด้วย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดจากจำเลยทั้งสาม ปัญหานี้แม้จำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้ฎีกามาแต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ขับรถโดยสารประจำทางไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วยความประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถยนต์ที่โจทก์ขับมาเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 11,308.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 10,550 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์เสียหายไม่เกิน 5,000 บาท โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว ตามสำเนาบันทึกประจำวันสถานีตำรวจนครบาลพญาไท เป็นผลให้มูลหนี้ละเมิดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ระงับสิ้นไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์เสียหายไม่เกิน 5,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 7,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า ข้อความตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.12 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระงับข้อพิพาทในมูลละเมิดหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารประจำทางเฉี่ยวชนกับรถยนต์ที่โจทก์ขับมาเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์เสียหายแล้วพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพญาไท ได้ลงบันทึกในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีแล้วให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.12 เห็นว่า ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีตามเอกสารหมาย จ.12 มีข้อความว่า “…หลังเกิดเหตุ นางแก้วตาฯ ยินยอมรับผิดและยอมชดใช้ค่าเสียหายให้โดยจะทำการตกลงชดใช้ให้นายนพพรฯ เป็นเงิน 6,000 บาท โดยนัดจะชำระเงินในวันที่10 มิถุนายน 2536 (ค่าเสียหายประมาณ 10,550 บาท) ถ้าหากนางแก้วตาไม่ชำระภายในกำหนด นายนพพรจะได้ทำการฟ้องร้องทางแพ่งต่อไป…” ดังนั้น การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีแสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงกันตามข้อความนั้นแล้ว ซึ่งตามข้อความดังกล่าวก็ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมรับผิดในความประมาทเลินเล่อและยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 6,000 บาท จากค่าเสียหายประมาณ 10,550 บาท ในวันที่ 10 มิถุนายน 2536 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระตามกำหนด โจทก์จะฟ้องร้องทางแพ่ง เห็นได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงชำระค่าเสียหายกันเป็นจำนวนที่แน่นอนแล้ว หากไม่ชำระตามกำหนดก็จะถูกฟ้องร้องทางแพ่งถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงกันระงับข้อพิพาทอันเกี่ยวกับค่าเสียหายซึ่งเกิดจากมูลละเมิดขับรถชนกันให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 มีผลทำให้การเรียกร้องในหนี้อันเกิดจากมูลละเมิดขับรถชนกันระงับสิ้นไป และทำให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เมื่อหนี้อันเกิดจากมูลละเมิดระงับไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 โดยอาศัยหนี้อันเกิดจากมูลละเมิดนั้น และย่อมทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิด และจำเลยที่ 3 ซึ่งต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างระงับไปด้วย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้เช่นกัน คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น และแม้จำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้ฎีกา แต่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่จำเลยที่ 2 ฎีกานั้น เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1)ประกอบมาตรา 247″

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share