แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระบุเพียงว่า “บริษัท ฯ ตกลงจัดให้มีการพักย่อย 15 นาที เพิ่มเติมจากการหยุดพักปกติโดยให้หยุดช่วงแรกเวลา 9.45-10.00 น. และช่วงที่สองเวลา 15.00-15.15 น.” เท่านั้น โดยไม่ได้จำกัดว่าจำเลยต้องจัดสถานที่พักย่อยให้เฉพาะที่โรงอาหาร จำเลยจึงอาจจัดสถานที่พักย่อยให้แก่ลูกจ้างได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม ซึ่งอาจต้องพิจารณาถึงสถานที่ ลักษณะการทำงาน และจำนวนลูกจ้าง เพื่อประสิทธิภาพในการทำงาน ดังนั้น แม้ว่าจำเลยจะเคยให้ลูกจ้างออกจากอาคารโรงงานไปพักย่อยที่โรงอาหาร แต่เมื่อลูกจ้างของจำเลยเกือบทั้งหมดประมาณ 300 คน สละสิทธิพักย่อยโดยขอรับเงินเพิ่มเดือนละ 60 บาทแทน ดังนั้น ในขณะที่โจทก์พักย่อย ลูกจ้างของจำเลยเกือบทั้งหมดจึงอยู่ระหว่างการทำงาน และเวลาพักย่อยแต่ละช่วงมีเพียง 15 นาทีเท่านั้น ทั้งเป็นเพียงการพักสายตาซึ่งสามารถพักในบริเวณที่นั่งทำงานได้ การที่จำเลยเปลี่ยนสถานที่พักย่อยให้โจทก์พักเฉพาะในบริเวณที่กำหนดจึงไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง เมื่อจำเลยมีคำสั่งไม่ให้โจทก์ออกนอกอาคารโรงงาน แต่โจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งจำเลยออกไปพักย่อยที่โรงอาหารจำเลยจึงมีคำสั่งลงโทษตักเตือนเป็นหนังสือ แต่โจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวอีกจึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมซึ่งนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยชอบและไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์เรียงตามสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3
โจทก์ทั้งสามฟ้องเป็นใจความว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างของจำเลยทำหน้าที่เจียระไนเพชร วันเข้าทำงานและอัตราค่าจ้างปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์แต่ละคนกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน จำเลยประกอบกิจการเจียระไนเพชรเพื่อการส่งออกมีลูกจ้าง 340 คน วันทำงานคือวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลาทำงานปกติ 7.30 นาฬิกา ถึง 18 นาฬิกา เวลาพัก 12 นาฬิกา ถึง 13 นาฬิกา และเวลาพักย่อย 9.45 นาฬิกา ถึง 10 นาฬิกา และ 15 นาฬิกา ถึง 15.15 นาฬิกา การพักย่อยดังกล่าวเป็นไปตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 20 มกราคม 2546 ซึ่งเกิดจากการที่สหภาพแรงงานเจียระไนเพชรแห่งประเทศไทยยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยโดยทางปฏิบัติลูกจ้างจะพักย่อยที่โรงอาหาร โจทก์ทั้งสามเป็นสมาชิกและกรรมการสหภาพแรงงานดังกล่าว ต่อมาจำเลยยื่นข้อเรียกร้องโดยขอปรึกษาหารือกับสหภาพแรงงานเกี่ยวกับการพัก แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จำเลยจึงประกาศเปลี่ยนเวลาพักย่อยเป็นเวลาทำงานปกติและสั่งห้ามโจทก์ทั้งสามพักย่อยที่โรงอาหารโดยไม่ให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเปิดประตู โจทก์ทั้งสามจึงพักย่อยในอาคารโรงงานจำเลยลงโทษโจทก์ทั้งสามด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือกล่าวหาว่าโจทก์ทั้งสามละทิ้งหน้าที่ โจทก์ทั้งสามจึงฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง คดีตกลงกันได้โดยจำเลยเพิกถอนคำสั่งลงโทษทั้งหมดให้ถือว่าโจทก์ทั้งสามไม่เคยกระทำความผิดวินัย หลังจากนั้นจำเลยให้โจทก์ทั้งสามพักย่อยในที่นั่งทำงานแต่โจทก์ทั้งสามยังคงใช้สิทธิพักย่อยที่โรงอาหาร จำเลยจึงปิดประกาศห้ามพนักงานออกนอกบริเวณที่กำหนด โจทก์ทั้งสามจึงพักย่อยในสถานที่พักย่อยของช่างฝีมือผู้ชำนาญการ ต่อมาจำเลยลงโทษโจทก์ทั้งสามหลายครั้งด้วยการตักเตือนด้วยวาจา ตักเตือนเป็นหนังสือและพักงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างในที่สุดจำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามใช้สิทธิพักย่อยตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยชอบ ไม่ได้ออกนอกสถานที่ทำงานในเวลาทำงาน ไม่ได้ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา ไม่ได้จงใจทำงานเฉื่อยไม่ได้ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายไม่ได้กระทำความผิด การที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสามนั่งพักย่อยในที่ทำงาน ไม่ให้พักย่อยนอกสถานที่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณต่อโจทก์ทั้งสามคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบและไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์ทั้งสามกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมและได้สิทธิประโยชน์ตามสภาพการจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม และจ่ายค่าจ้างนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับโจทก์ทั้งสามกลับเข้าทำงานพร้อมดอกเบี้ย หากไม่สามารถรับกลับเข้าทำงานได้ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สิทจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ทั้งสาม และจ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์ที่ 3 ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 13 ธันวาคม 2534 พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเนื่องจากโจทก์ทั้งสามฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย จำเลยกำหนดเวลาทำงานปกติ 7.30 นาฬิกา ถึง 18 นาฬิกา เวลาพัก 12 นาฬิกา ถึง 13 นาฬิกา และเวลาพักย่อย 9.45 นาฬิกา ถึง 10 นาฬิกา และ 15 นาฬิกา ถึง 15.15 นาฬิกา ต่อมาจำเลยประกาศยกเลิกเวลาพักย่อยทั้งหมด ลูกจ้างของจำเลยประมาณ 300 คน ยินยอมตามที่จำเลยขอ คงมีเพียงโจทก์ทั้งสามที่ไม่ยินยอมให้ยกเลิกเวลาพักย่อย จำเลยจึงให้โจทก์ทั้งสามพักย่อยตามเดิมแต่ต้องอยู่ภายในบริเวณสถานที่ทำงานของแต่ละคน ห้ามออกจากสถานที่ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากกิจการของจำเลยมีวัตถุดิบและผลงานเป็นเพชรและอัญมณีมีราคาสูง ต้องมีมาตรการเคร่งครัดและเข้มงวดต่อระเบียบในการตรวจสอบดูแลทรัพย์ จำเลยจึงต้องกำหนดสถานที่พักให้ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง โจทก์ทั้งสามไม่ยอมเชื่อฟังคำสั่งของจำเลยโดยลงไปชั้นล่างและออกนอกบริเวณพื้นที่ไปในสถานที่ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานที่ช่างผู้ชำนาญการ ช่างฝีมือช่าวต่างชาติ พูดคุยกับเพื่อนร่วมงานแผนกอื่น ไม่ตั้งใจทำงานเต็มความสามารถ (เฉื่อยงาน) แสดงกิริยาวาจาหยาบคายต่อผู้บังคับบัญชาจำเลยตักเตือนด้วยวาจา ตัดเตือนเป็นหนังสือ และสั่งพักงานหลายครั้ง แต่โจทก์ทั้งสามไม่เชื่อฟัง กระทำความผิดซ้ำคำเตือน จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามโดยไม่จ่ายค่าชดเชยก่อนถูกเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเคยนำเรื่องที่จำเลยลงโทษทางวินัยไปร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน พนักงานตรวจแรงงานมีคำวินิจฉัยว่าจำเลยลงโทษโจทก์ทั้งสามชอบด้วยระเบียบข้อบังคับ คำสั่งถึงที่สุด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์ทั้งสามกลับเข้าทำงานในตำแหน่งอัตราค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์ไม่ต่ำกว่าเดิมโดยนับอายุงานต่อเนื่อง พร้อมทั้งชำระค่าเสียหายเท่ากับอัตราค่าจ้างอัตราสุดท้ายนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงานแก่โจทก์แต่ละคน หากจำเลยไม่ยอมรับโจทก์ทั้งสามกลับเข้าทำงานให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสาม และให้จำเลยจ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์ที่ 3 ตามจำนวนในบัญชีท้ายคำพิพากษา พร้อมดอกเบี้ย คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 20 มกราคม 2546 ข้อ 1 ระบุเพียงว่า “บริษัท ฯ ตกลงจัดให้มีการพักย่อย 15 นาที เพิ่มเติมจากการหยุดพักปกติโดยให้หยุดช่วงแรกเวลา 9.45-10.00 น. และช่วงที่สองเวลา 15.00-15.15 น.” เท่านั้น โดยไม่ได้จำกัดว่าจำเลยต้องจัดสถานที่พักย่อยให้เฉพาะที่โรงอาหาร จำเลยจึงอาจจัดสถานที่พักย่อยให้แก่ลูกจ้างได้ตามความจำเป็นและความเหาะสม ซึ่งอาจต้องพิจารณาถึงสถานที่ ลักษณะการทำงานและจำนวนลูกจ้าง เพื่อประสิทธิในการทำงาน อีกทั้งกิจการของจำเลยเป็นกิจการเกี่ยวกับการเจียระไนเพชร ซึ่งมีราคาสูงและโดยสภาพมีขนาดเล็กสามารถลักลอบพกพาออกไปได้สะดวก จึงอาจจำต้องคำนึงถึงความปลอดภัยต่อทรัพย์สินของจำเลยด้วย ซึ่งในคดีที่โจทก์ทั้งสามฟ้องต่อศาลแรงงานกลางและศาลไกล่เกลี่ยแล้วจำเลยตกลงเพิกถอนคำสั่งที่เคยลงโทษโจทก์ทั้งสามเกี่ยวกับเรื่องการพักย่อยทุกคำสั่งโดยถือว่าโจทก์ทั้งสามไม่เคยกระทำความผิดทางวินัยมาก่อนและให้โจทก์ทั้งสามใช้สิทธิพักย่อยได้ โจทก์ทั้งสามจึงถอนฟ้องตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2548 ซึ่งตามรายงานกระบวนพิจารณาก็ระบุเพียงว่าจำเลยตกลงให้โจทก์ทั้งสามใช้สิทธิพักย่อยได้ตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 20 มกราคม 2546 มิได้ระบุเฉพาะเจาะจงว่าให้โจทก์ทั้งสามไปพักย่อยที่โรงอาหาร ตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาปรากฏว่าหลังจากนั้นจำเลยออกคำสั่งไม่ให้โจทก์ทั้งสามออกนอกอาคารโรงงานแต่โจทก์ทั้งสามคงออกไปพักย่อยที่โรงอาหารตามเดิม จำเลยจึงมีคำสั่งลงโทษตักเตือนเป็นหนังสือ ต่อมาจำเลยให้พนักงานรักษาความปลอดภัยปิดประตูเข้าออกระหว่างอาคารโรงงานกับโรงอาหาร โจทก์ทั้งสามจึงเดินอยู่ภายในอาคารโรงงานช่วงเวลาพักย่อย จำเลยก็มีคำสั่งลงโทษตักเตือนโจทก์ทั้งสามเป็นหนังสือฐานไม่เชื่อฟังคำสั่งที่ออกนอกบริเวณที่กำหนด ฐานออกนอกสถานที่ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยยังมีคำสั่งพักงานโจทก์ทั้งสามโดยไม่จ่ายค่าจ้างและไม่จ่ายค่าจ้างในวันลาป่วย โจทก์ทั้งสามร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งที่ 77/2548 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2548 และคำสั่งที่ 86/2548 ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ว่า จำเลยจึงมีสิทธิลงโทษพักงานโจทก์ทั้งสามโดยไม่จ่ายค่าจ้างได้และคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานถึงที่สุด ปรากฏว่าหลังจากนั้นโจทก์ทั้งสามก็ยังคงออกไปพักย่อยนอกบริเวณที่กำหนดและจำเลยมีหนังสือเตือนโจทก์ทั้งสามหลายครั้งในที่สุดจำเลยจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้ง การที่ไม่มีข้อตกลงไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยจะต้องจัดสถานที่พักย่อยให้แก่ลูกจ้างที่โรงอาหาร และการจัดสถานที่พักย่อยจะต้องคำนึงถึงความจำเป็นและความเหมาะสมดังที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น ทั้งศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยไว้ว่าการพักย่อยเป็นการถนอมสมรรถภาพทางสายตาของลูกจ้าง ดังนั้น แม้ว่าจำเลยจะเคยให้ลูกจ้างออกจากอาคารโรงงานไปพักย่อยที่โรงอาหาร แต่เมื่อลูกจ้างของจำเลยเกือบทั้งหมดประมาณ 300 คน สละสิทธิพักย่อยโดยขอรับเงินเพิ่มเดือนละ 60 บาทแทน ดังนั้น ในขณะที่โจทก์ทั้งสามพักย่อยลูกจ้างของจำเลยเกือบทั้งหมดจึงอยู่ระหว่างการทำงาน และเวลาพักย่อยแต่ละช่วงมีเพียง 15 นาทีเท่านั้น ทั้งเป็นเพียงการพักสายตาซึ่งสามารถพักในบริเวณที่นั่งทำงานได้ การที่จำเลยเปลี่ยนสถานที่พักย่อยให้โจทก์ทั้งสามพักเฉพาะในบริเวณที่กำหนดจึงไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเมื่อโจทก์ทั้งสามฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมซึ่งนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้โดยชอบและไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาที่จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่าการที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยมีจุดประสงค์เพื่อบีบบังคับกดดันโจทก์ทั้งสามให้จำยอมสละสิทธิพักย่อยที่ได้มาจากการเรียกร้องจนมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรือต้องการทำลายสหภาพแรงงาน หรือทำให้กรรมการสหภาพแรงงานหมดความสำคัญสำหรับลูกจ้าง เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดีหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องของโจทก์ทั้งสามในส่วนที่ขอให้จำเลยรับโจทก์ทั้งสามกลับเข้าทำงาน และที่ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเท่ากับอัตราค่าจ้างอัตราสุดท้ายนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน หากจำเลยไม่ยอมรับโจทก์ทั้งสามกลับเข้าทำงานให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง