แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินที่จำเลยซื้อจาก พ. เป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ซึ่งมีรูปแผนที่แสดงอาณาเขตและเขต ติดต่อไว้อย่างชัดแจ้ง การซื้อขายได้มีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยย่อมทราบเป็นอย่างดีว่าที่ดินที่ซื้อ ด้านทิศตะวันตกติดทางสาธารณประโยชน์ มิใช่ที่รกร้างว่างเปล่า เมื่อจำเลยปลูกสร้างบ้านและอาคารโรงงานล้ำเข้าไปในทางสาธารณประโยชน์ จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาเพื่อจะยึดถือครอบครองทางสาธารณประโยชน์เป็นของตนเอง จึงมีความผิดตาม ป.ที่ดินฯ มาตรา 9 (1), 108 ทวิ
ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณารับฟังได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุในฟ้องจำเลยยังยึดถือครอบครอง ที่พิพาทอันเป็นความผิดอยู่ ย่อมเป็นข้อเท็จจริงที่ตรงกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ หาใช่ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องอันเป็นสาระสำคัญที่จะต้องพิพากษายกฟ้องไม่
จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐหลังจากประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 มีผลใช้บังคับแล้ว ซึ่ง ป.ที่ดินฯ มาตรา 9 (1) ประกอบมาตรา 108 ทวิ บัญญัติให้การเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ เป็นความผิดในทันทีที่เข้าไปยึดถือครอบครอง โดยไม่จำต้องให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งและมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามเสียก่อน การที่โจทก์ไม่ได้บรรยายข้อความดังกล่าว ก็ไม่ทำให้ฟ้องโจทก์ขาดองค์ประกอบความผิด
จำเลยเริ่มเข้ายึดถือครอบครองที่พิพาทตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา อันถือเป็นวันเริ่มต้นกระทำความผิด เมื่อปรากฏว่าหลังจากนั้นจำเลยยังคงยึดถือครอบครองที่พิพาทตลอดมาจนถึงวันฟ้อง จึงเป็นความผิดต่อเนื่องอยู่ทุกขณะตราบเท่าที่จำเลยยังคงยึดถือครอบครองที่พิพาทอยู่ คดีจึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๙, ๑๐๘ ทวิ และให้จำเลยกับบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินนั้นด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๙, ๑๐๘ ทวิ (ที่ถูกเป็นมาตรา ๙ (๑), ๑๐๘ ทวิ วรรคสอง) จำคุก ๙ เดือน ให้จำเลยและบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินนั้นด้วย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดิน น.ส. ๓ ก. โดยซื้อมาจากนายพร้อมจิตต์ ภูมิวัฒน์ ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ที่ดินดังกล่าวด้านทิศตะวันตกติดทางสาธารณประโยชน์ จำเลยได้สร้างบ้านและอาคารโรงงานบนที่ดินของจำเลยล้ำเข้าไปในทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าวรวมเนื้อที่ประมาณ ๑๑๕ ตารางวา มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินที่จำเลยซื้อจากนายพร้อมจิตต์เป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ซึ่งมีรูปแผนที่แสดงอาณาเขตและเขตติดต่อไว้อย่างชัดแจ้งว่าทางด้านทิศตะวันตกตลอดแนวติดทางสาธารณประโยชน์ การซื้อขายได้มีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่พร้อมทั้งแนบแผนที่ที่แสดงขอบเขตของที่ดินที่ซื้อขายไว้ด้วย ดังนั้นจำเลยย่อมทราบเป็นอย่างดีว่าที่ดินที่ซื้อด้านทิศตะวันตกติดทางสาธารณประโยชน์ มิใช่ที่รกร้างว่างเปล่า การที่จำเลยปลูกสร้างบ้านและอาคารโรงงานล้ำเข้าไปในทางสาธารณประโยชน์จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาเพื่อจะยึดถือครอบครองทางสาธารณประโยชน์เป็นของตนเอง จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง
คดีนี้แม้ฟ้องโจทก์ระบุว่าจำเลยกระทำผิดตั้งแต่วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๓๘ จนถึงวันฟ้องและทางพิจารณาโจทก์นำสืบรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตั้งแต่ปี ๒๕๒๓ ซึ่งเป็นเวลาห่างกันหลายปีก็ตาม แต่ความผิดที่โจทก์ฟ้องเกิดขึ้นตั้งแต่ขณะจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองเอาที่พิพาทซึ่งเป็นของรัฐและจะยังคงเป็นความผิดเช่นนั้นตลอดไปจนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่พิพาท เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณารับฟังได้ว่าตามวันเวลาเกิดเหตุในฟ้อง จำเลยยังยึดถือครอบครองที่พิพาทอันเป็นความผิดอยู่ ย่อมเป็นข้อเท็จจริงที่ตรงกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ กรณีหาใช่ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง อันเป็นข้อสาระสำคัญที่จะต้องพิพากษายกฟ้องดังที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใดไม่
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐตั้งแต่วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๓๘ อันเป็นวันหลังจากประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๙๖ มีผลใช้บังคับแล้ว ซึ่งตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๙ (๑) ประกอบมาตรา ๑๐๘ ทวิ บัญญัติให้การเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ เป็นความผิดในทันทีที่เข้าไปยึดถือครอบครองโดยไม่จำต้องให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งและมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามเสียก่อน ที่โจทก์ไม่ได้บรรยายข้อความดังกล่าวไว้ หาทำให้ฟ้องโจทก์ขาดองค์ประกอบความผิดดังที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใดไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยเริ่มเข้ายึดถือครอบครองที่พิพาทตั้งแต่ปี ๒๕๒๓ เป็นต้นมา อันถือเป็นวันเริ่มต้นกระทำความผิดก็ตาม เมื่อปรากฏว่าหลังจากนั้นจำเลยยังคงยึดถือครอบครองที่พิพาทตลอดมา จึงเป็นความผิดต่อเนื่องอยู่ทุกขณะตราบเท่าที่จำเลยยังคงยึดถือครอบครองที่พิพาทอยู่ ดังนี้คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย ๑๐,๐๐๐ บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒.