แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1310 และมาตรา 1312เป็นบทบัญญัติเรื่องที่ผู้สร้างมิได้รู้ว่า ที่ดินที่สร้างโรงเรือนหรือสร้างรุกล้ำนั้นเป็นที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต จะนำมาใช้ในกรณีจำเลยสร้างโรงเรือนในที่ดินขณะยังเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์จำเลยและบุคคลอื่นอยู่ หลังจากรังวัดแบ่งแยกที่ดินแล้วปรากฏว่า เรือนจำเลยปลูกสร้างอยู่ในที่ดินของโจทก์ไม่ได้ จำเลยต้องรื้อเรือนออกไป และไม่มีสิทธิฟ้องร้องว่ากล่าวเกี่ยวกับค่าแห่งที่ดินที่เพิ่มขึ้นเพราะการสร้างโรงเรือนของจำเลย
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินนั้นอีกต่อไป แต่ไม่ตัดสิทธิของจำเลยที่จะฟ้องร้องว่ากล่าวโจทก์เกี่ยวกับค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะการสร้างโรงเรือนของจำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เดิมโจทก์จำเลยกับผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 249 ตำบลหัวเวียง อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ร่วมกัน ต่อมาโจทก์จำเลยพิพาทกัน ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินให้แก่โจทก์กับผู้มีชื่อตามสัดส่วนที่แต่ละคนมีสิทธิ โดยโจทก์กับพวกได้ทางทิศตะวันออก จำเลยได้ส่วนที่เหลือ ต่อมาโจทก์ได้ร้องขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำปางไปรังวัดแบ่งแยกแล้วออกโฉนดใหม่ ปรากฏว่าโจทก์ได้รับส่วนแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 25252 ซึ่งมีเรือนของจำเลยปลูกอยู่ในที่ดินโฉนดดังกล่าวทั้งหลัง
ที่จำเลยฎีกาว่า ที่ศาลล่างทั้งสองนำเอาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1310 มาปรับแก่คดีนี้เป็นการไม่ชอบ ต้องนำเอามาตรา 1312 มาปรับแก่คดีนี้จึงจะชอบนั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า บทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าในขณะที่สร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นก็ดี ขณะที่สร้างโรงเรือนรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นก็ดี ผู้สร้างมิได้รู้ว่าที่ดินที่สร้างโรงเรือนหรือสร้างรุกล้ำนั้นเป็นที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าขณะที่จำเลยสร้างโรงเรือนนั้น ที่ดินยังเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์จำเลยและบุคคลอื่นอยู่ กรณีจึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติของทั้งสองมาตราดังกล่าวนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองหยิบยกบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1310 มาปรับแก่คดีโดยวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โรงเรือนของจำเลย แต่ต้องใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะสร้างโรงเรือนนั้นให้แก่จำเลยนั้น จึงเป็นการมิชอบ
อย่างไรก็ดี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลังจากรังวัดแบ่งแยกที่ดินตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้วเรือนของจำเลยปลูกสร้างอยู่ในที่ดินของโจทก์ โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนไปแล้ว จำเลยย่อมไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะอยู่ในที่ดินของโจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรื้อเรือนและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินโจทก์อีกต่อไปและจำเลยไม่มีสิทธิที่จะฟ้องร้องว่ากล่าวโจทก์เกี่ยวกับค่าแห่งที่ดินที่เพิ่มขึ้นเพราะการสร้างโรงเรือนของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ”