แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามธรรมดาบุคคลย่อมตั้งตัวแทนทำแทนตนได้เสมอ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษทำนองว่า ให้ต้องกระทำด้วยตนเอง หรือตามสภาพไม่เปิดช่องให้มอบหมายจัดการแทนกันได้
เรื่องร้องทุกข์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 3 และ 5 นั้น มิใช่หมายความว่า ห้ามขาดไม่ให้มีการมอบอำนาจกัน เป็นแต่บัญญัติให้บุคคลดังกล่าวในมาตรา 5 มีอำนาจกระทำกิจการที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 3 โดยไม่ต้องมีการมอบอำนาจซึ่งกันและกัน ส่วนกิจการในมาตรา 3 กิจการใดจะมอบอำนาจกันได้หรือไม่ ต้องเป็นไปตามหลักธรรมดา สุดแต่ว่า กรณีใดมีกฎหมายห้าม หรือเป็นกรณีตามสภาพต้องกระทำเองหรือไม่ เรื่องร้องทุกข์ไม่มีกฎหมายบังคับว่า ต้องกระทำด้วยตนเอง และตามสภาพของการร้องทุกข์ก็เป็นเรื่องเปิดช่องให้จัดการแทนกันได้ การร้องทุกข์จึงมอบอำนาจให้ร้องแทนกันได้
หนังสือถึงพนักงานสอบสวน ซึ่งมีข้อความว่า “เนื่องด้วยธนาคารมีเรื่องบางอย่างที่ต้องแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจแต่เนื่องจากข้าพเจ้า (กรรมการผู้จัดการนิติบุคคล) มีกิจจำเป็นไม่สามารถมาแจ้งความด้วยตนเองได้ โดยหนังสือฉบับนี้ ข้าพเจ้าขอมอบอำนาจให้นายสุรินทร์ เจ้าหน้าที่ของธนาคาร เป็นผู้แจ้งความแทนข้าพเจ้า และข้าพเจ้าขอรับรองผิดชอบในการที่นายสุรินทร์ปฏิบัติแทนข้าพเจ้า” และลงชื่อกรรมการผู้จัดการนิติบุคคลนั้น ถือว่า ไม่ใช่คำร้องทุกข์ โดยตนเองตามป.วิ.อ. มาตรา 123 จะว่าเป็นการมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ก็ไม่ถนัด เพราะการแจ้งความนั้น อาจเป็นการร้องทุกข์ก็ได้ ไม่ใช่ก็ได้ และก็ไม่มีข้อความให้เห็นว่า ให้มาแจ้งความเรื่องอะไร อันจะพอวินิจฉัยได้ว่าเป็นการมอบให้มาร้องทุกข์ ถือไม่ได้ว่าเป็นเอกสารมอบอำนาจให้ร้องทุกข์
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2502)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสมคบกันยักยอกทรัพย์ของธนาคารเอเชีย ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา ม.๓๑๔, ๓๑๙, ๖๓, ๖๕ และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์
จำเลยทั้งสองปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดฐานยักยอกตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๓๑๔ ให้จำคุกจำเลยคนละ ๒ ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ลดโทษจำเลยที่ ๒ เหลือ ๑ ปี ๔ เดือน
ในปัญหาเรื่องการร้องทุกข์ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นว่า เป็นการร้องทุกข์ ตาม ป.วิ.อ. แล้ว
จำเลยทั้งสองฎีกาว่า กรรมการผู้จัดการธนาคารต้องร้องทุกข์ด้วยตนเอง จะมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำแทนไม่ได้ ศาลฎีกา โดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ตามธรรมดาบุคคลย่อมตั้งตัวแทนทำแทนตานได้เสมอ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษทำนองว่า ให้ต้องกระทำด้วยตนเอง หรือตามสภาพไม่เปิดช่องให้มอบหมายจัดการแทนกันได้ เรื่องร้องทุกข์มีบัญญัติอยู่ใน ป.วิ.อ. มาตรา ๓ และ ๕ แต่ความใน ๒ มาตรานี้ มิใช่หมายความว่า ห้ามขาดไม่ให้มีการมอบอำนาจกันเป็นแต่บัญญัติให้บุคคลดังกล่าวในมาตรา ๕ มีอำนาจกระทำกิจการตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา ๓ โดยไม่ต้องมีการมอบอำนาจซึ่งกันและกัน ส่วนกิจการใน มาตรา ๓ กิจการใดจะมอบอำนาจกันได้หรือไม่ต้องเป็นไปตามหลักธรรมดาสุดแต่ว่ากรณีใดมีกฎหมายห้ามหรือเป็นกรณีตามสภาพต้องกระทำเองหรือไม่ เรื่องร้องทุกข์ไม่มีกฎหมายบังคับว่า ต้องกระทำด้วยตนเอง และตามสภาพ ของการร้องทุกข์ก็เป็นเรื่องเปิดช่องให้จัดการแทนกันได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้ว ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จึงลงมติว่า การร้องทุกข์นั้น มอบอำนาจให้ร้องแทนกันได้
แต่ในคดีนี้ หนังสือที่ว่ามอบอำนาจนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตัวเอกสารนี้ไม่ใช่คำร้องทุกข์โดยตนเองตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๒๓ จะว่าเป็นการมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ก็ไม่ถนัด เพราะการแจ้งความนั้น อาจเป็นการร้องทุกข์ก็ได้ ไม่ใช่ก็ได้ และเอกสารนี้ก็ไม่มีข้อความให้เห็นว่า ให้มาแจ้งความเรื่องอะไร อันจะพอวินิจฉัยได้ว่า เป็นการมอบให้มาร้องทุกข์ จึงยังฟังไม่ได้ว่า เป็นเอกสารมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ เมื่อฟังว่า ไม่มีคำร้องทุกข์ ตามระเบียบ อัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลล่างพิพากษาว่า เอกสารดังกล่าวใช้ได้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นด้วย
ศาลฎีกาพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์