แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ขณะที่มีการชำระบัญชี บริษัท ท. ยังเป็นหนี้ค่าภาษีอากรค้างแก่โจทก์อยู่จำนวนหนึ่ง ดังนั้นการที่ผู้ชำระบัญชีของบริษัท ท. แบ่งเงินอันเป็นสินทรัพย์ที่เหลืออยู่ของบริษัทให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นไป ไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะรับไว้โดยสุจริตหรือไม่ ก็เป็นการฝ่าฝืน ป.พ.พ. มาตรา 1269 และถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้รับเงินส่วนแบ่งดังกล่าวมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ เงินส่วนแบ่งดังกล่าวจึงเป็นลาภมิควรได้ที่จำเลยที่ 1 ต้องคืนให้แก่บริษัท ท. ผู้เป็นเจ้าของเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 406
กรณีที่บริษัท ท. โดยผู้ชำระบัญชี ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 คืนเงินส่วนแบ่งที่ได้รับไปคืน หรือเพิกเฉยไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าของหนี้ค่าภาษีอากรค้างต้องเสียประโยชน์ โจทก์ก็มีสิทธิที่จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนบริษัท ท. ลูกหนี้ได้ โดยต้องขอหมายเรียกบริษัท ท. เข้ามาในคดีด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 และ 234
โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีแทนบริษัท ท. เพราะบริษัทดังกล่าว โดย ส. ผู้ชำระบัญชีได้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 คืนเงินส่วนแบ่งที่จำเลยที่ 1 รับไปโดยมิชอบแก่บริษัท ท. หรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าว รวมทั้งมิได้ขอหมายเรียกบริษัท ท. ซึ่งเป็นลูกหนี้โดยตรงของโจทก์เข้ามาในคดีนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 และ 234 แต่ฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 คืนเงินส่วนแบ่งสินทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากผู้ชำระบัญชีโดยมิชอบให้แก่โจทก์โดยตรง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรม หรือมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องคืนเงินสินทรัพย์ของบริษัท ท. ที่ตนได้รับไว้ให้แก่โจทก์แต่อย่างใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า การที่ผู้ชำระบัญชีของบริษัท ท. แบ่งสินทรัพย์ของบริษัทให้แก่จำเลยทั้งเจ็ด เป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๕๐ , ๑๒๖๙ ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดคืนเงินสินทรัพย์ส่วนแบ่งที่ได้รับดังกล่าวให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๗ เนื่องจากจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๗ ได้ชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ศาลชั้นต้นอนุญาตและมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๗ ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ ๑ ได้รับเงินส่วนแบ่งสินทรัพย์จากผู้ชำระบัญชีเป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ เงินดังกล่าวจึงเป็นลาภมิควรได้ แต่การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ค่าภาษีอากรค้างของบริษัท ท. จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัทดังกล่าวเรียกเงินคืนจากจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๓ โดยโจทก์จะต้องร้องขอให้เรียกผู้ชำระบัญชีของบริษัท ท. ซึ่งเป็นลูกหนี้ของตนเข้ามาในคดีด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๔ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗ (๓) หรือฟ้องลูกหนี้เข้ามาในคดีเสียแต่แรก โจทก์จะดำเนินคดีลำพังหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องหรือร้องขอดังกล่าว ศาลย่อมไม่อาจพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้โดยตรงแก่โจทก์ได้ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นอีกต่อไป พิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ท. ได้รับเงินส่วนแบ่งสินทรัพย์จากบริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์ไปในขณะที่โจทก์ยังมิได้รับชำระหนี้ ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๖๙ จึงเป็นการรับสินทรัพย์ของบริษัทดังกล่าวไปโดยมิชอบ โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิติดตามเอาสินทรัพย์ดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ ๑ ได้ในฐานลาภมิควรได้ตามมาตรา ๔๐๖ และคดีนี้มิใช่เป็นการฟ้องเรียกให้จำเลยที่ ๑ ชำระภาษีอากรโดยตรง จึงชอบที่โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ ๑ ต่อศาลชั้นต้น (ศาลแพ่งกรุงเทพใต้) ได้ บริษัท ท. มีหนี้ค่าภาษีอากรค้างแก่โจทก์ตามจำนวนที่โจทก์ฟ้อง และคดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๑๙ พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินส่วนแบ่งสินทรัพย์ที่เหลืออีกจำนวน ๔,๓๕๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดีในศาลอุทธรณ์โดยกำหนดค่าทนายความ ๕๐,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นที่ยุติได้ว่า บริษัท ท. ได้เลิกประกอบกิจการและผู้ชำระบัญชีได้แบ่งคืนเงินสินทรัพย์ของบริษัทที่เหลืออยู่จำนวน ๗,๕๕๕,๕๕๓.๘๗ บาท ให้แก่จำเลยทั้งเจ็ดซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวตามส่วนโดยจำเลยที่ ๑ ได้รับเงินส่วนแบ่งจำนวน ๖,๙๗๐,๑๐๐ บาท แล้วนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีและเลิกบริษัทให้ตามคำขอของผู้ชำระบัญชีเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๓๖ ก่อนเสร็จการชำระบัญชีดังกล่าว โจทก์เริ่มตรวจสอบการเสียภาษีของบริษัท ท. พบว่าบริษัทดังกล่าวยังเสียภาษีอากรไม่ถูกต้องครบถ้วน โจทก์จึงฟ้องบริษัท ท. ให้ชำระหนี้ค่าภาษีอากรที่ค้างชำระดังกล่าวต่อศาลภาษีอากรกลางและฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๓๘ ต่อมาวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ ศาลภาษีอากรกลางมีคำพิพากษาให้บริษัท ท. ชำระเงินค่าภาษีอากรที่ค้างชำระดังกล่าวพร้อมเงินเพิ่มจำนวน ๑๔,๐๗๔,๓๑๙.๗๕ บาท แก่โจทก์ คดีถึงที่สุด เมื่อโจทก์ทวงถามหนี้ค่าภาษีอากรค้างดังกล่าวไปยังจำเลยทั้งเจ็ด จำเลยทั้งเจ็ดได้นำเงินส่วนแบ่งสินทรัพย์ที่ได้รับจากผู้ชำระบัญชีไปชำระให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๗ ยอมชำระเงินส่วนแบ่งสินทรัพย์ที่แต่ละคนได้รับมาทั้งหมดให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๑ ยอมชำระให้แก่โจทก์เพียง ๒,๖๒๐,๑๐๐ บาท คงเหลือเงินส่วนแบ่งสินทรัพย์อีกจำนวน ๔,๓๕๐,๐๐๐ บาท ที่จำเลยที่ ๑ ยังมิได้ชำระให้แก่โจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ ๑ เป็นคดีนี้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ ๑ หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๖๙ ได้บัญญัติไว้ว่า “อันทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนหรือของบริษัทนั้น จะแบ่งคืนให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นได้แต่เพียงเท่าที่ไม่ต้องเอาไว้ใช้ในการชำระหนี้ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเท่านั้น” เมื่อปรากฏว่าขณะที่มีการชำระบัญชีอยู่นั้น ความจริงแล้วบริษัท ท. ยังเป็นหนี้ค่าภาษีอากรค้างแก่โจทก์อยู่จำนวนหนึ่ง เนื่องจากบริษัทดังกล่าวเสียภาษีอากรสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี ๒๕๓๒ ถึง ๒๕๓๔ ยังไม่ถูกต้องครบถ้วน ดังนั้นที่ผู้ชำระบัญชีของบริษัท ท. แบ่งเงินอันเป็นสินทรัพย์ที่เหลืออยู่ของบริษัทให้แก่จำเลยที่ ๑ ไป ไม่ว่าจำเลยที่ ๑ จะรับไว้โดยสุจริตหรือไม่ก็ตาม ก็เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ ได้รับเงินส่วนแบ่งสินทรัพย์ของบริษัท ท. มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ เงินส่วนแบ่งสินทรัพย์ดังกล่าวจึงถือว่าเป็นลาภมิควรได้ที่จำเลยที่ ๑ จำต้องคืนให้แก่บริษัท ท. ผู้เป็นเจ้าของเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๐๖ หรือกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า บริษัท ท. หรือผู้ชำระบัญชีของบริษัทดังกล่าวมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินส่วนแบ่งซึ่งเป็นสินทรัพย์ของบริษัทดังกล่าวให้แก่บริษัทดังกล่าวในฐานลาภมิควรได้และหากปรากฏว่าบริษัททิพยานานันท์ จำกัด โดยผู้ชำระบัญชีขัดขืน ไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยเสีย ไม่ใช่สิทธิเรียกร้องนั้น เป็นเหตุให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ค่าภาษีอากรค้างต้องเสียประโยชน์ไซร้ โจทก์ก็มีสิทธิที่จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้น ในนามของตนเองแทนบริษันทิพยนานันท์ จำกัด ลูกหนี้ได้โดยโจทก์จะต้องขอหมายเรียกบริษัททิพยนานันท์ จำกัด เข้ามาในคดีด้วย ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๓ และมาตรา ๒๓๔ แต่คดีนี้ โจทกมิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องแทนบริษัททิพยนานันท์ จำกัด เพราะบริษัท ท. โดยนายแสงสุภาพ ผู้ชำระบัญชีได้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินส่วนแบ่งที่จำเลยที่ ๑ รับไปโดยมิชอบแก่บริษัท ท. หรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวแต่อย่างใด รวมทั้งโจทก์มิได้ขอหมายเรียกบริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นลูกหนี้โดยตรงของโจทก์เข้ามาในคดีนี้ตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น คำฟ้องโจทก์คดีนี้จึงต้องถือว่าเป็นการฟ้องเรียกให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินส่วนแบ่งสินทรัพย์ที่จำเลยที่ ๑ ได้รับจากผู้ชำระบัญชีโดยมิชอบให้แก่โจทก์เองโดยตรงซึ่งโจทก์หามีอำนาจที่จะฟ้องจำเลยที่ ๑ เช่นนั้นไม่ เนื่องจากจำเลยที่ ๑ ไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมหรือมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องคืนเงินสินทรัพย์ของบริษัททิพยนานันท์ จำกัด ที่ตนได้รับไว้คืนให้แก่โจทก์แต่อย่างใด จึงชอบที่ศาลจะต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ เป็นคดีนี้จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ข้อนี้ฟังขึ้น ปัญหาประการอื่นตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไป เพราะไม่อาจทำให้ผลของคำพิพากษานี้เปลี่ยนแปลงไปได้
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่ให้ถูกต้องภายในกำหนดอายุความ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.