แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 10 ปี และให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนมีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี และขั้นสูง 3 ปี นับแต่วันพิพากษาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104(2) ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นอันเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย จึงไม่เป็นการลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 และต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปีศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งประกอบ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 124
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289, 340, 340 ตรี, 80, 83, 33 คืนเครื่องยนต์ของกลางแก่เจ้าของริบประแจและรถยนต์บรรทุกเล็กของกลาง นับโทษจำเลยต่อจากโทษในอีกคดีหนึ่ง
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 340 ตรี,83 ขณะกระทำผิดจำเลยอายุ 16 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ให้จำคุก 15 ปีจำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 10 ปีพิเคราะห์รายงานสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราชประกอบแล้ว เห็นว่า จำเลยมีความประพฤติเสียหาย กระทำผิดร้ายแรงเป็นภัยต่อสุจริตชน ทั้งสภาพครอบครัวไม่เอื้ออำนวยต่อการที่จำเลยจะเป็นพลเมืองดีต่อไปได้เห็นควรได้รับการฝึกและอบรมเพื่อขัดเกลานิสัย ทั้งจะได้มีวิชาชีพต่อไป อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534มาตรา 104(2) โทษจำคุกให้เปลี่ยนแปลงเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี ขั้นสูง 3 ปี นับแต่วันพิพากษา ริบประแจและรถยนต์ของกลาง คืนเครื่องยนต์ของกลางแก่เจ้าของ ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อให้ยกและยกฟ้องในข้อหาพยายามฆ่า
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 10 ปี และให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี และขั้นสูง 3 ปีนับแต่วันพิพากษา ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534มาตรา 104(2) ซึ่งการเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวไปฝึกและอบรมเช่นนี้เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นอันเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย จึงไม่เป็นการลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 18 และต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 124 ที่จำเลยฎีกาโดยสรุปว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายนั้นเป็นการฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาจำเลย