คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6210/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 กู้เงินผู้คัดค้านสองจำนวน จำนวนละ 500,000 บาทจำนวนแรกไม่ได้มีหลักฐานการกู้ เพียงออกเช็ค 2 ฉบับไม่ลงวันที่มอบให้ผู้คัดค้านยึดถือจำนวนที่สองนำที่ดินพิพาท 8 แปลงมาจำนองยอมให้ถือว่าสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินโดยมีข้อตกลงว่าถ้าจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้ให้ผู้คัดค้านโอนที่ดินจำนองชำระหนี้ได้ จำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้ผู้คัดค้านโอนที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลงเป็นของผู้คัดค้าน แม้การรับจำนองดังกล่าวได้กระทำโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน และการโอนที่ดินเพื่อชำระหนี้จำนองเป็นการโอนโดยมีค่าตอบแทนแต่ที่ดิน 8 แปลง ที่นำมาจำนองมีราคาถึง 1,000,000บาท เศษ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นลูกหนี้ผู้คัดค้านอยู่เพียง 500,000 บาทการที่ผู้คัดค้านรับโอนที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลงจึงเป็นการกระทำที่รู้อยู่แล้วว่าทำให้จำเลยที่ 2 และเจ้าหนี้อื่นของจำเลยที่ 2เสียเปรียบ ย่อมถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านรับโอนไว้โดยสุจริตชอบที่จะเพิกถอนการโอนดังกล่าวได้ ศาลชั้นต้นพิมพ์จำนวนเงินผิด เป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข การเพิกถอนการโอนที่ดินเป็นไปโดยผลของคำสั่งหรือคำพิพากษาตราบใดยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาถือเป็นการโอนโดยชอบ ยังถือไม่ได้ว่าผิดนัดนับแต่วันยื่นคำร้องอันจะเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านรับผิดในเรื่องดอกเบี้ย ผู้ร้องมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเอง.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2530 โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ล้มละลาย ต่อมาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2530ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2531ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เดิมจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินรวม 8 โฉนดเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2528 จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาจำนองที่ดินทั้งแปดโฉนดดังกล่าวให้ผู้คัดค้าน และให้มีอำนาจโอนที่ดินชำระหนี้จำนองได้สัญญาจำนองและหนังสือมอบอำนาจให้โอนที่ดินทั้งแปดโฉนดชำระหนี้ดังกล่าวนั้นได้ทำขึ้นภายในกำหนดเวลา 3 ปีก่อนมีการขอให้ล้มละลาย ต่อมาผู้คัดค้านได้ใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวโอนที่ดินทั้งแปดโฉนดนั้นเป็นของตนอันเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต และไม่มีค่าตอบแทนขอให้เพิกถอนการจำนองและเพิกถอนการโอนที่ดินรวม 8 โฉนดระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้าน ให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่สามารถกลับคืนได้ให้ผู้คัดค้านใช้เงิน 1,214,500บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2528จำเลยที่ 2 ได้ขอกู้เงินจากผู้คัดค้าน 1,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 2ตกลงจะจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาททั้งแปดโฉนดเป็นประกันในวงเงิน500,000 บาท กำหนดชำระคืนภายใน 9 เดือนส่วนอีก 500,000 บาท กำหนดชำระคืนภายใน 3 เดือน โดยจะออกเช็คให้เป็นประกันและเพื่อให้เชื่อได้ว่าจะได้รับชำระหนี้คืน จำเลยที่ 2 จะทำหนังสือมอบอำนาจให้แก่ผู้คัดค้าน เพื่อโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเป็นของผู้คัดค้านหากจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้จำนอง ผู้คัดค้านตกลงให้จำเลยที่ 2กู้เงินโดยผู้คัดค้านได้เบิกเงินจากธนาคารจำนวน 490,000 บาทและได้เงินจากการขายบ้านกับที่ดินให้แก่นายปกรสิน ศิธรกุลอีก 300,000 บาท รวมเป็นเงิน 790,000 บาท มอบให้แก่จำเลยที่ 2เมื่อจำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็ค 2 ฉบับ รวมจำนวนเงิน 500,000 บาทและทำหนังสือมอบอำนาจเพื่อโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านผู้คัดค้านจึงจ่ายเงินกู้ที่เหลืออีก 210,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2ครั้นครบกำหนดชำระหนี้จำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้ตามเช็คทั้งสองฉบับและหนี้ตามสัญญาจำนองรวม 1,000,000 บาท ผู้คัดค้านจึงดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งแปดโฉนดเป็นของผู้คัดค้านการที่ผู้คัดค้านได้มอบเงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยครบถ้วน ถือว่าเป็นค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับราคาที่ดินที่ตีชำระหนี้แล้ว ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนเฉพาะการโอนที่ดินรวม 8 โฉนดระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้าน กลับไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้ผู้คัดค้านตามเดิม หรือผู้ร้องจะเลือกชำระหนี้เงินกู้500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี แก่ผู้คัดค้านในฐานะผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้มีประกันแทนการจดทะเบียนจำนองก็ได้ หากไม่สามารถโอนที่ดินกลับมาเป็นของจำเลยที่ 2 ให้ผู้คัดค้านใช้ราคาที่ดิน 1,204,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2531 อันเป็นวันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จโดยหักหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยดังกล่าวในฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันได้
ผู้ร้องและผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในชั้นนี้ฟังยุติได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้กู้เงินผู้คัดค้านโดยมิได้ทำสัญญากู้หรือหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือไว้แต่ได้ออกเช็ค 2 ฉบับ สั่งจ่ายเงินรวม 500,000 บาท โดยไม่ลงวันที่มอบให้ผู้คัดค้านยึดถือไว้กับนำที่ดินพิพาทจำนวน 8 แปลง มาจำนองเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ไว้เป็นจำนวน 500,000 บาท โดยยอมให้ถือว่าสัญญาจำนองนั้นเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินและได้ตกลงกับผู้คัดค้านไว้ล่วงหน้าว่าถ้าจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้ ให้ผู้คัดค้านโอนที่ดินจำนองชำระหนี้จำนองได้เลย ทั้งนี้จำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ล่วงหน้าเป็นวันที่ 3 กันยายน 2529 มอบไว้กับผู้คัดค้านด้วยโดยระบุให้ผู้คัดค้านโอนที่ดินจำนองจำนวน 8 แปลง นั้นชำระหนี้จำนองได้โดยไม่มีการเพิ่มจำนวนเงิน ครั้นถึงกำหนดวันที่ลงไว้ในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวและพ้นกำหนดเวลาชำระหนี้แล้ว จำเลยที่ 2ไม่ชำระหนี้ ผู้คัดค้านจึงใช้หนังสือมอบอำนาจนั้นจัดการโอนที่ดินทั้งแปดแปลงนั้นเป็นของผู้คัดค้านเป็นการชำระหนี้จำนองพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้เสร็จสิ้นไป การรับจำนองดังกล่าวได้กระทำไปโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน คดีคงมีปัญหาเพียงว่าการโอนที่ดินจำนวน8 แปลง ดังกล่าวไปเป็นของผู้คัดค้าน เป็นการกระทำโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือไม่ เห็นว่า ในเมื่อการโอนที่ดินจำนองไปเป็นของผู้คัดค้านเป็นการโอนเพื่อชำระหนี้จำนอง จึงเป็นการโอนโดยมีค่าตอบแทน ส่วนผู้คัดค้านจะได้รับโอนไว้โดยสุจริตหรือไม่นั้นผู้คัดค้านนำสืบโดยอ้างตนเองเข้าเบิกความเป็นพยานและมีนายไพรัชสามีมาเบิกความประกอบว่า จำเลยที่ 2 ได้กู้เงินผู้คัดค้านไป 2จำนวน 500,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,000,000 บาท ที่ดินจำนวน 8 แปลงที่จำเลยที่ 2 นำมาจำนองเป็นประกันหนี้ก็มีราคา 1,000,000 บาทเศษใกล้เคียงกับจำนวนหนี้ ซึ่งเป็นการนำสืบเพื่อแสดงว่าผู้คัดค้านได้รับโอนที่ดินจำนวน 8 แปลง นั้นไว้โดยสุจริตพิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้คัดค้านในข้อนี้แล้วเห็นว่า ผู้คัดค้านไม่มีพยานเอกสารมาสนับสนุนให้น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ได้กู้เงินผู้คัดค้านไปเป็นจำนวนถึง 1,000,000 บาท ตามสัญญาจำนอง ซึ่งผู้ร้องและผู้คัดค้านนำสืบรับกันก็ระบุว่า เป็นการจำนองประกันการชำระหนี้จำนวน500,000 บาท เท่านั้น ตามหนังสือมอบอำนาจที่จำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้ผู้คัดค้านจัดการโอนที่ดินเป็นของผู้คัดค้านได้นั้นก็แสดงชัดว่า ให้โอนที่ดินจำนวน 8 แปลง นั้นชำระหนี้จำนองโดยไม่มีการเพิ่มจำนวนเงิน คำเบิกความของผู้คัดค้านที่ว่า ผู้คัดค้านได้เงินจากการขายบ้านให้นายปกรสินจำนวน 300,000 บาท กับมีเงินของผู้คัดค้านเองอีก 210,000 บาท มาจ่ายให้จำเลยที่ 2 เพิ่มเติมไปจนครบ 1,000,000 บาท นั้นก็ไม่มีหลักฐานการรับจ่ายเงินมาแสดงและตามคำเบิกความของนายปกรสินก็ไม่ปรากฏว่านายปกรสินได้เห็นผู้คัดค้านเอาเงินที่ได้จากการขายบ้านจ่ายให้แก่จำเลยที่ 2แต่อย่างใด ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า ผู้คัดค้านได้ให้จำเลยที่ 2กู้เงินไปเป็นจำนวนถึง 1,000,000 บาท ฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 2ได้กู้เงินผู้คัดค้านเป็นจำนวน 500,000 บาท เท่าที่ปรากฏตามสัญญาจำนองเท่านั้น การที่ผู้คัดค้านรับโอนที่ดินจำนวน 8 แปลง ราคา1,000,000 บาทเศษ ของจำเลยที่ 2 ชำระหนี้จำนองจำนวน 500,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย จึงเป็นการกระทำโดยรู้อยู่แล้วว่าทำให้จำเลยที่ 2 และเจ้าหนี้รายอื่นของจำเลยที่ 2 เสียเปรียบ ฉะนั้น จึงถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านได้รับโอนที่ดินจำนวน 8 แปลง นั้นไว้โดยสุจริต ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนการโอนชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้ผู้คัดค้านใช้ราคาที่ดิน 1,204,500 บาท นั้น เนื่องจากคำสั่งศาลชั้นต้นพิมพ์จำนวนเงินผิด ซึ่งเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 143 วรรคแรก และที่ศาลล่างทั้งสองให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น เห็นว่า การเพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทเป็นไปโดยผลของคำสั่งหรือคำพิพากษา ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนการโอนก็ยังถือเป็นการโอนโดยชอบอยู่กรณียังถือไม่ได้ว่ามีการผิดนัดนับแต่วันยื่นคำร้องอันจะเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยตามขอ ผู้ร้องคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 153”
พิพากษาแก้เป็นว่า หากไม่สามารถโอนที่ดินกลับมาเป็นของจำเลยที่ 2 ให้ผู้คัดค้านใช้ราคาที่ดิน 1,214,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share