คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2560/2529

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หลังจากโรงงานของจำเลยถูกไฟไหม้แล้วเป็นเวลา1 ปีเศษ จำเลยมิได้ดำเนินกิจการแต่ประการใด และไม่เป็นที่แน่นอนว่าจะเปิดดำเนินกิจการอีกเมื่อใด การที่จำเลยให้โจทก์เข้าทำงานที่บริษัทซึ่งเปิดกิจการทำนองเดียวกันแต่โจทก์ไม่ยอมทำตามจะถือว่าเป็นความผิดของโจทก์ไม่ได้เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะไปทำงานกับบริษัทใหม่หรือไม่ก็ได้จึงถือได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ในวันนัดพิจารณา คู่ความแถลงรับกันว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์2528 โรงงานของจำเลยที่ 1 เกิดไฟไหม้หมด จึงปิดกิจการชั่วคราวและจนบัดนี้ก็มิได้ดำเนินกิจการแต่อย่างใด เมื่อเดือนสิงหาคม2528 ได้มีบริษัทเพชรเกษมวิศวกรรม จำกัด เปิดกิจการใหม่ทำนองเดียวกับบริษัทจำเลยที่ 1 โดยอยู่ห่างจากโรงงานจำเลยที่ 1ประมาณ 2 กม. และดำเนินการโดยผู้บริหารเดียวกัน ส่วนจำเลยที่ 2เป็นเพียงกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า กลุ่มบริหารของจำเลยที่ 1 ไปดำเนินกิจการให้แก่บริษัทใหม่ พฤติการณ์ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยปริยายพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชย 15,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่จำเลยที่ 1อุทธรณ์ว่า โรงงานของจำเลยเกิดไฟไหม้ ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยจึงได้หยุดกิจการชั่วคราว ต่อมาบริษัทเพชรเกษมวิศวกรรม จำกัดได้เปิดกิจการทำนองเดียวกัน จำเลยที่ 1 จึงให้ลูกจ้างรวมทั้งโจทก์เข้าไปทำงาน แต่โจทก์ไม่ยอมทำงานเอง จำเลยที่ 1 ไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากโรงงานของจำเลยที่ 1 ถูกไฟไหม้แล้วเป็นเวลานานประมาณ 1 ปีเศษ จำเลยที่ 1 มิได้ดำเนินกิจการแต่ประการใด และไม่เป็นที่แน่นอนว่าจำเลยที่ 1 จะเปิดดำเนินกิจการอีกเมื่อใด หรือไม่ แม้จะฟังข้อเท็จจริงดังอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1ว่า จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ไปเข้าทำงานที่บริษัทเพชรเกษมวิศวกรรมจำกัด ซึ่งเป็นกิจการทำนองเดียวกัน แต่โจทก์ไม่ยอมทำก็ตามจะถือว่าเป็นความผิดของโจทก์หาได้ไม่เพราะการทำงานของที่บริษัทใหม่นั้น โจทก์ไม่ได้ทำงานให้กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างเดิมของโจทก์ต่อไป จึงเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะไปทำงานกับบริษัทใหม่หรือไม่ก็ได้ เห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวมาแล้วถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ ตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 วรรคสองเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กระทำความผิดตามข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share