แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 พาผู้เสียหายที่ 2 ไปขนำที่เกิดเหตุโดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่เต็มใจไปด้วย และผู้เสียหายที่ 2 ถูกจำเลยที่ 1 กระทำชำเรา เมื่อปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 2 เป็นบุตรผู้เยาว์อยู่ในความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 มารดาผู้ปกครองดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรและผู้เสียหายที่ 2 ไม่เต็มใจไปด้วยเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม
การที่จำเลยที่ 2 พาผู้เสียหายที่ 2 ไปพบจำเลยที่ 1 ที่ขนำที่เกิดเหตุในยามวิกาล ซุบซิบปรึกษากับจำเลยที่ 1 แล้วออกอุบายหลอกลวงเพื่อปลีกตัวหนีออกมาโดยปล่อยทิ้งผู้เสียหายที่ 2 อยู่กับจำเลยที่ 1 ตามลำพังจนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ในการกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานสนับสนุนจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานกระทำชำเราอีกกรรมหนึ่งหาใช่กรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91, 277, 317
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก จำคุก 6 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก ประกอบมาตรา 86 และ 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นผู้สนับสนุนความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน จำคุก 4 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 9 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนและทางนำสืบในชั้นพิจารณาของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ เห็นควรลดโทษให้จำเลยทั้งสองคนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี จำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ผู้เสียหายที่ 2 เป็นบุตรของผู้เสียหายที่ 1 เกิดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2527 ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 อายุ 14 ปี 11 เดือน 15 วัน โดยพักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 1 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาหรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 มีอายุเพียง 14 ปีเศษ แต่เบิกความแสดงรายละเอียดเป็นลำดับขั้นตอนสมเหตุสมผลไม่มีข้อพิรุธ โดยเฉพาะการที่ผู้เสียหายที่ 2 ถูกกระทำชำเราเป็นเรื่องที่น่าอับอายต่อเกียรติยศชื่อเสียงของตนและวงศ์ตระกูล หากไม่เป็นเรื่องจริงคงไม่กล้าเบิกความเช่นนั้น ทั้งผู้เสียหายที่ 2 ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองมาก่อน กรณีจึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าผู้เสียหายที่ 2 จะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 1 ว่ากระทำชำเราตนเองโดยไม่เป็นความจริง คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 จึงมีน้ำหนักให้รับฟังสอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ที่ให้การในวันเดียวกับที่ถูกจับกุมโดยไม่มีโอกาสบิดเบือนข้อเท็จจริงให้ตนเองพ้นผิดว่าผู้เสียหายที่ 2 ยินยอมให้ตนเองกระทำชำเรา ทำให้คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 มีน้ำหนักมั่นคงยิ่งขึ้น ประกอบกับหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เคยให้ผู้ใหญ่ไปเจรจาสู่ขอผู้เสียหายที่ 2 แต่ผู้ใหญ่ฝ่ายผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาเชื่อว่าจำเลยที่ 1 กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าตนเองไม่ได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 นั้น ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง แม้การตรวจร่างกายของผู้เสียหายที่ 2 จะไม่พบเชื้ออสุจิในช่องคลอด และบาดแผลที่อวัยวะเพศ ก็หาใช่เป็นข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 แต่อย่างใดไม่ เพราะแพทย์ตรวจร่างกายผู้เสียหายที่ 2 หลังเกิดเหตุแล้วถึง 2 วัน ทั้งอาจเป็นเพราะผู้เสียหายทำความสะอาดร่างกายแล้วก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะฟังว่าผู้เสียหายที่ 2 จะยินยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำชำเรา การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาในส่วนของจำเลยที่ 2 ที่ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานกระทำชำเราหาได้ไม่นั้น เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 2 ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 2 มาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 2 ให้ต้องรับโทษ คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 สอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของเด็กหญิงปัทมา โดยเฉพาะเด็กหญิงปัทมาเป็นคู่รักของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีเหตุที่จะแกล้งให้การปรักปรำจำเลยที่ 2 ให้ต้องรับโทษ เชื่อว่าจำเลยที่ 2 พาผู้เสียหายที่ 2 ไปขนำที่เกิดเหตุจริงโดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่เต็มใจไปด้วย และผู้เสียหายที่ 2 ถูกจำเลยที่ 1 กระทำชำเรา เมื่อปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 2 เป็นบุตรผู้เยาว์อยู่ในความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 มารดาผู้ปกครองดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรและผู้เสียหายที่ 2 ไม่เต็มใจไปด้วยเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม หาใช่มาตรา 317 วรรคแรก ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาไม่ การที่จำเลยที่ 2 พาผู้เสียหายที่ 2 ไปพบจำเลยที่ 1 ที่ขนำที่เกิดเหตุในยามวิกาล ซุบซิบปรึกษากับจำเลยที่ 1 แล้วออกอุบายหลอกลวงเพื่อปลีกตัวหนีออกมาโดยปล่อยทิ้งผู้เสียหายที่ 2 อยู่กับจำเลยที่ 1 ตามลำพังจนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ในการกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานสนับสนุนจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานกระทำชำเราอีกกรรมหนึ่ง หาใช่กรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาไม่…
พิพากษายืน