คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2557/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยปัญหาอายุความว่า ผู้ร้องที่ 2 ไม่ใช่บุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ตามสัญญาซึ่งไม่ถูกต้องแล้วนับอายุความสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องทั้งสองในฐานะตัวการตัวแทนจึงไม่ถูกต้อง อันเป็นการวินิจฉัยสถานะของคู่ความโดยปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้องไม่ใช่เพียงการวินิจฉัยอายุความเท่านั้น แต่เป็นกรณีปรากฏต่อศาลว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้ร้องทั้งสองมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) และศาลมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข)

ย่อยาว

ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ในคดีระหว่างผู้ร้องทั้งสองกับผู้คัดค้าน หมายเลขดำที่ 90/2553 หมายเลขแดงที่ 67/2556 ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม เนื่องจากคณะอนุญาโตตุลาการ (เสียงข้างมาก) วินิจฉัยชี้ขาดนอกคำเสนอข้อพิพาทและคำคัดค้านและเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาท ไม่ชอบด้วยกฎหมายและการยอมรับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ (เสียงข้างมาก) เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 40 (1) (ง) และมาตรา 40 (2) (ข) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 และให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวน 190,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2548 จนถึงวันเสนอข้อพิพาทรวมเป็นเงิน 331,797,260.27 บาท และให้ผู้คัดค้านชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินค่าตอบแทนจำนวน 190,000,000 บาท นับถัดจากวันเสนอข้อพิพาทจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องทั้งสอง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง
ศาลแพ่งพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 90/2553 หมายเลขแดงที่ 67/2556 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2556 ระหว่างคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ 1998 ผู้ร้องที่ 1 และการกีฬาแห่งประเทศไทย ผู้ร้องที่ 2 กับบริษัทสามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้คัดค้าน ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ให้ผู้คัดค้านชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท ส่วนคำขอบังคับให้ยกเสีย
ผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังว่า ผู้ร้องที่ 1 เป็นคณะบุคคล ใช้ชื่อว่า คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ 1998 (Bangkok Asian Games 1998 Organizing Committee เรียกโดยย่อว่า BAGOC) หรือคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13 จัดตั้งขึ้นตามมติของคณะรัฐมนตรี สืบเนื่องจากการที่ประเทศไทยได้รับคัดเลือกจากสภาโอลิมปิคแห่งเอเชีย (The Olympic Council Of Asia เรียกโดยย่อว่า OCA) ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 6 ถึง 20 ธันวาคม 2541 ซึ่งเดิมมีคณะกรรมการจำนวน 54 คน ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานที่ปรึกษา รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลการบริหารราชการการกีฬาแห่งประเทศไทยเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่สั่งและปฏิบัติราชการการกีฬาแห่งประเทศไทย กับประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยเป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลัง อัยการสูงสุดผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นต้น เป็นกรรมการเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยเป็นกรรมการและเลขาธิการโดยตำแหน่ง คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่จัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13 ให้บรรลุเป้าหมายเป็นผลดีที่สุดแก่ประเทศชาติและเป็นไปตามกฎธรรมนูญสหพันธ์ ตลอดจนการขอรับการสนับสนุนในการเตรียมงานและจัดการแข่งขันจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน และจัดทำรายงานเสนอเมื่อเสร็จสิ้นการแข่งขัน รวมทั้งมีอำนาจจัดการสิทธิประโยชน์ต่างๆ และติดตามหนี้สิน ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอให้ปรับปรุงคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13 เนื่องจากยังมีภารกิจที่จะต้องดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวกับการติดตามหนี้สิน ค่าสิทธิประโยชน์และอื่นๆ ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นคู่สัญญาต่างๆ ต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ ผู้ร้องที่ 2 เป็นนิติบุคคลใช้ชื่อว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2528 มีชื่อภาษาอังกฤษว่า SPORTS AUTHORITY OF THAILAND เรียกโดยย่อว่า SAT และเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากมีการปฏิรูประบบราชการเมื่อปี 2545 ผู้ร้องที่ 2 โอนไปสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจนถึงปัจจุบัน ผู้ร้องที่ 2 มีอำนาจหน้าที่ดูแลงานด้านกีฬาของประเทศ ตลอดจนเป็นผู้ดำเนินการให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งผู้ร้องที่ 1 ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานการดำเนินการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 และปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการของผู้ร้องที่ 1 ผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้ดูแลสนามที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 รวมทั้งงานพิธีเปิดและปิดกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ปัจจุบันมีนายกนกพันธ์ เป็นผู้ว่าการและเป็นผู้แทนตามกฎหมาย ผู้ร้องที่ 1 มอบอำนาจให้ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทยดำเนินคดีแทน ผู้คัดค้านเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้าและให้บริการต่าง ๆ มีนายเจริญรัฐ นายวัฒน์ชัยและนายศิริชัย เป็นกรรมการและกรรมการ 2 ใน 3 คน ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัทกระทำการแทนจำเลยได้ คณะรัฐมนตรีมีมติให้ผู้ร้องที่ 1 เป็นคู่สัญญากับผู้เข้าทำสัญญาสนับสนุนการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13
วันที่ 8 กรกฎาคม 2540 ผู้คัดค้านตกลงทำสัญญาเป็นผู้สนับสนุนหลักในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13 (Partner Agreement) กับผู้ร้องที่ 1 โดยผู้ร้องที่ 1 ตกลงให้ผู้คัดค้านเป็นผู้สนับสนุนหลักรายหนึ่งในจำนวนผู้สนับสนุนหลักทั้งหมด 11 ราย โดยผู้ร้องที่ 1 ตกลงให้สิทธิประโยชน์และโอกาสแก่ผู้คัดค้านในส่วนที่เกี่ยวกับสินค้าและพื้นที่ที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนดในสัญญาและเพื่อตอบแทนการได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ผู้คัดค้านตกลงให้ค่าตอบแทนแก่ผู้ร้องที่ 1 มีมูลค่ารวม 10,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นเงินสด 2,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ และเป็นค่าตอบแทนในรูปสินค้าและบริการอีกจำนวน 7,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยผู้คัดค้านต้องชำระเงินค่าตอบแทนส่วนที่เป็นเงินสดจำนวน 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ ภายใน 15 วัน นับแต่วันทำสัญญา ที่เหลืออีกจำนวน 2,250,000 ดอลลาร์สหรัฐ ผู้คัดค้านตกลงชำระในวันที่ 6 ธันวาคม 2541 ด้วยวิธีโอนเงินแต่ละงวดไปยังบัญชีชื่อ OCA/BAGOC Trust Account เลขที่ 59405062A ของธนาคาร Union Bank of Switzerland ส่วนค่าตอบแทนในรูปแบบสินค้าและบริการ ผู้คัดค้านตกลงจัดหาสินค้าและบริการประเภทเครือข่ายและสื่อสารโทรคมนาคมในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการแข่งขันกีฬาและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการแข่งขันกีฬาในมูลค่ารวม 7,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ผู้ร้องที่ 1 ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2541 หากมูลค่าสิ่งตอบแทนในรูปสินค้าและบริการที่ผู้คัดค้านมอบให้ต่ำกว่าจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในสัญญา ผู้คัดค้านตกลงจะชำระส่วนต่างเป็นเงินแก่ผู้ร้องที่ 1 ภายใน 48 วัน นับจากวันที่ครบกำหนดส่งรายงานแสดงจำนวน ลักษณะมูลค่าและผู้รับสิ่งตอบแทนในไตรมาสสุดท้ายและหากผู้คัดค้านชำระเงินจำนวนใดจำนวนหนึ่งล่าช้า ผู้คัดค้านยินยอมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (ร้อยละ 18 ต่อปี) หรืออัตราสูงสุดตามกฎหมาย โดยใช้อัตราที่ต่ำกว่าสำหรับจำนวนที่ชำระล่าช้าและระยะเวลาที่ชำระล่าช้าให้แก่ผู้ร้องที่ 1 ตามสัญญาเข้าเป็นผู้สนับสนุนหลักในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 แต่ผู้คัดค้านประสบภาวะทางเศรษฐกิจไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาได้
วันที่ 11 ธันวาคม 2540 ผู้คัดค้านมีหนังสือขอลดวงเงินสนับสนุนการแข่งขันถึงนายสันติภาพ ประธานคณะกรรมการ สาขาธุรกิจและสิทธิประโยชน์ ว่าบริษัทผู้คัดค้านขาดเงินทุนหมุนเวียนและไม่สามารถจัดหาแหล่งเงินกู้มาสนับสนุนได้เต็มวงเงินที่เสนอไว้ จึงจำเป็นต้องขอลดวงเงินสนับสนุน จาก 10,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นสนับสนุนในวงเงิน 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ
วันที่ 21 มีนาคม 2541 ผู้คัดค้านมีหนังสือยืนยันการเป็นผู้สนับสนุนถึงนายสันติภาพโดยอ้างถึงหนังสือฉบับลงวันที่ 11 ธันวาคม 2540 ว่า ผู้คัดค้านขอยืนยันการสนับสนุนการแข่งขันกีฬาประเภทผู้สนับสนุนหลักระดับ Partner ตามเจตนารมณ์เดิม โดยขอสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ในวงเงิน 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตามรายละเอียดแนบท้ายหนังสือและขอสนับสนุนเป็นเงินจำนวน 190,000,000 บาท โดยในส่วนของเงินสนับสนุนจำนวน 190,000,000 บาท ผู้คัดค้านขอชำระให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลา 7 ปี
วันที่ 7 ตุลาคม 2541 ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน โดยนายพิชัย รองนายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมพร้อมด้วยเลขาธิการคณะกรรมการจัดการแข่งขันและคณะกรรมการฝ่ายอื่น รวมทั้งนายเจริญรัฐ ประธานกรรมการบริหารบริษัทผู้คัดค้านเพื่อพิจารณาแก้ไขสัญญาระหว่างผู้ร้องที่ 1 กับผู้คัดค้าน ที่ประชุมมีมติให้แก้ไขสัญญาระหว่างผู้ร้องที่ 1 กับผู้คัดค้านจากเงื่อนไขเดิมที่ผู้คัดค้านจะสนับสนุนแก่ผู้ร้องที่ 1 คิดเป็นมูลค่า 10,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ แก้ไขเป็นผู้คัดค้านจะสนับสนุนผู้ร้องที่ 1 ในรูปสินค้าและบริการจำนวน 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ และเงินสดจำนวน 190,000,000 บาท โดยเงินสดจำนวน 190,000,000 บาท นี้ จะผ่อนชำระให้หมดภายใน 7 ปี หลังจากเสร็จสิ้นการแข่งขัน โดยมอบหมายให้นายเรวัตร อธิบดีอัยการฝ่ายวิชาการร่วมกับคณะกรรมการฝ่ายการเงินและสิทธิประโยชน์ดำเนินการแก้ไขสัญญาให้แล้วเสร็จ
วันที่ 26 ตุลาคม 2541 นายพิชัย ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน มีหนังสือถึงนายเจริญรัฐ แจ้งเรื่องที่เคยหารือกันเกี่ยวกับเงินเพื่อช่วยให้ผู้สนับสนุนหลักสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาได้สำเร็จลุล่วง ภายใต้สัญญาหลักที่ได้มีการแก้ไขโดยสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม โดยระบุรูปแบบข้อตกลงว่า ผู้ร้องที่ 1 และการกีฬาแห่งประเทศไทย ผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับช่วงในผลประโยชน์จากผู้ร้องที่ 1 จะต้องชำระเงินล่วงหน้าเป็นจำนวน 190,000,000 บาท ให้แก่คณะกรรมการด้านไอทีของผู้ร้องที่ 1 เพื่อให้การติดตั้งเครือข่ายการจัดการแข่งขันเสร็จสมบูรณ์ โดยผู้สนับสนุนหลักจะต้องชำระเงินคืนให้แก่ผู้ร้องทั้งสองภายใน 7 ปี โดยผู้สนับสนุนหลักตกลงที่จะเข้าทำสัญญากับผู้ร้องทั้งสองเกี่ยวกับการชำระเงินคืนตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งผู้คัดค้านโดยนายเจริญรัฐ ประธานกรรมการบริหารได้ลงลายมือชื่อยอมรับและตกลง
วันเดียวกันนั้น (วันที่ 26 ตุลาคม 2541) ผู้ร้องที่ 1 ทำสัญญาการจัดซื้อระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเพื่อการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 จากผู้คัดค้านรวมราคา 165,000,000 บาท และต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2541 ผู้ร้องที่ 1 และผู้คัดค้านทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาหลัก ผู้คัดค้านได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากการเป็นผู้สนับสนุนหลักในการแข่งขันแล้ว แต่ผู้คัดค้านไม่ชำระค่าตอบแทนให้แก่ผู้ร้องทั้งสอง
วันที่ 23 กันยายน 2548 นายเจริญรัฐมีหนังสือถึงผู้ร้องที่ 2 ว่า บริษัทผู้คัดค้านพร้อมด้วยบริษัทสามารถไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) และบริษัทสามารถเทเลคอม จำกัด (มหาชน) มีความยินดีที่จะจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการขายของแต่ละบริษัทมาใช้สนับสนุนการดำเนินงานของผู้ร้องที่ 2 คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 200,000,000 บาท (รวมภาษี) แยกเป็นเงินสนับสนุน 60,000,000 บาท พร้อมสินค้าและบริการมูลค่า 140,000,000 บาท ในระยะเวลา 4 ปี นับแต่ พ.ศ.2548 – 2552 โดยขอให้ถือว่าการสนับสนุนที่ทั้งสามบริษัทจัดสรรให้แก่ผู้ร้องที่ 2 เป็นการทดแทนภาระการสนับสนุนทั้งในรูปแบบของเงินสนับสนุนพร้อมสินค้าและบริการที่ผู้คัดค้านยังมีอยู่ต่อผู้ร้องที่ 2 และ/หรือที่ผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้รับประโยชน์อยู่ก่อนหน้านี้ทั้งหมด แต่ผู้ร้องทั้งสองไม่ตกลง
วันที่ 22 มกราคม 2550 ผู้ร้องที่ 2 มีหนังสือแจ้งผู้คัดค้านให้ชำระเงินจำนวน 190,000,000 บาท แต่ผู้คัดค้านเพิกเฉย
วันที่ 21 ตุลาคม 2553 ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เป็นข้อพิพาทคดีหมายเลขดำที่ 90/2553 ระหว่างคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ 1998 (Bangkok Asian Games 1998 Organizing Committee เรียกโดยย่อว่า BAGOC) หรือ คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13 ที่ 1 การกีฬาแห่งประเทศไทย ที่ 2 ผู้เรียกร้อง บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) ผู้คัดค้าน โดยขอให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวน 331,797,260.27 บาท แก่ผู้ร้องทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 190,000,000 บาท นับจากวันถัดจากวันเสนอข้อพิพาทเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องทั้งสอง ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องทั้งสองไม่มีอำนาจเสนอข้อพิพาท เนื่องจากสัญญา Partner Agreement ทำขึ้นระหว่างผู้คัดค้านกับคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ชุดแรก ซึ่งเป็นคณะบุคคลที่ไม่ได้เป็นนิติบุคคล มิใช่ผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านทำสัญญาโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม เนื่องจากเข้าใจว่าคณะกรรมการชุดแรกได้รับคัดเลือกจากสภาโอลิมปิคแห่งเอเชียหรือ OCA ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 และเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิในรูปสัญลักษณ์ตราประจำการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 (รูปบ้านทรงไทย) และสัญลักษณ์ตัวนำโชคในการแข่งขันกีฬา (รูปช้างไชโย) แต่ผู้คัดค้านทราบภายหลังว่าความจริงมิได้เป็นเช่นดังกล่าวและคำเสนอข้อพิพาทของผู้เรียกร้องขาดอายุความ เนื่องจากสัญญาพิพาทเป็นสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องอายุความไว้เป็นการเฉพาะจึงต้องใช้อายุความโดยทั่วไป ตามมาตรา 193/30 ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 29 ตุลาคม 2551 ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำเสนอข้อพิพาทเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2553 สิทธิเรียกร้องตามสัญญาพิพาทจึงขาดอายุความ ผู้คัดค้านไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาพิพาทและความเสียหายจากการทดรองจ่ายเงินที่ผู้ร้องทั้งสองได้เรียกร้องมาในคำเสนอข้อพิพาทนั้นไม่มีจริงและผู้ร้องทั้งสองไม่ได้รับความเสียหาย และเบี้ยปรับที่เรียกมานั้นสูงเกินส่วน
คณะอนุญาโตตุลาการ กำหนดประเด็นข้อพิพาท ว่า
1. ผู้เรียกร้องมีสิทธิและอำนาจเสนอข้อพิพาทนี้หรือไม่
2. หนี้ขาดอายุความแล้วหรือไม่
3. คำเสนอข้อพิพาทเคลือบคลุมหรือไม่
4. ผู้เรียกร้องมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาหรือไม่ เพียงใด
วันที่ 22 สิงหาคม 2556 คณะอนุญาโตตุลาการมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ชี้ขาดให้ยกคำเสนอข้อพิพาทของผู้ร้องทั้งสอง เนื่องจากหนี้ที่เรียกร้องตามสัญญาพิพาทขาดอายุความตามคำชี้ขาดของคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการและความเห็นแย้งคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ต่อมาผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านว่า ผู้ร้องทั้งสองมีอำนาจเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการและยื่นคำร้องต่อศาลหรือไม่ เห็นว่า เมื่อสภาโอลิมปิคเอเชีย OCA คัดเลือกให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 คณะรัฐมนตรีมีมติตั้งผู้ร้องที่ 1 ให้มีอำนาจหน้าที่จัดการแข่งขันให้บรรลุเป้าหมายเป็นผลดีที่สุดแก่ประเทศชาติและเป็นไปตามธรรมนูญ OCA ตลอดจนการขอรับการสนับสนุนในการเตรียมงานและจัดการแข่งขันจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและเอกชนและจัดทำรายงานเสนอเมื่อเสร็จสิ้นการแข่งขัน รวมทั้งมีอำนาจจัดการสิทธิประโยชน์ต่างๆ และติดตามหนี้สิน ผู้ร้องที่ 1 จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทคณะบุคคลมีอำนาจหน้าที่จัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13 ในนามประเทศไทย ผู้คัดค้านเข้าทำสัญญาเป็นผู้สนับสนุนหลักในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13 (Partner Agreement) กับผู้ร้องที่ 1 ตกลงให้ค่าตอบแทนแก่ผู้ร้องที่ 1 มูลค่า 10,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นเงินสด 2,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ และเป็นค่าตอบแทนในรูปสินค้าและบริการอีกจำนวน 7,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาผู้คัดค้านมีหนังสือขอลดวงเงินสนับสนุนและหนังสือยืนยันการเป็นผู้สนับสนุนหลัก ผู้ร้องที่ 1 มีมติให้แก้ไขสัญญาเป็นให้ผู้คัดค้านสนับสนุนในรูปสินค้าและบริการมูลค่า 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ และเงินสด จำนวน 190,000,000 บาท ประธานคณะกรรมการผู้ร้องที่ 1 มีหนังสือแจ้งผู้คัดค้านแล้ว นายเจริญรัฐ ประธานกรรมการบริหารของผู้คัดค้านลงลายมือชื่อยอมรับและตกลง ต่อมาผู้ร้องที่ 1 ทำสัญญาจัดซื้อระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลราคา 165,000,000 บาท ตามสัญญาจัดซื้อและผู้ร้องที่ 1 กับผู้คัดค้านทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาหลัก แสดงว่าผู้คัดค้านยอมเข้าทำสัญญาผูกพันตนกับผู้ร้องที่ 1 และได้รับสิทธิประโยชน์ตามสัญญาไปแล้ว ครั้นมีข้อพิพาทว่าผู้คัดค้านไม่ชำระค่าตอบแทนแก่ผู้ร้องที่ 1 ตามสัญญา ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องที่ 1 ผู้ร้องที่ 1 มีสิทธิเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการและยื่นคำร้องต่อศาล แม้ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติปรับปรุงคณะกรรมการผู้ร้องที่ 1 เพื่อดำเนินการติดตามหนี้สิน ค่าสิทธิประโยชน์และอื่นๆ ต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ ก็เป็นเพียงการปรับปรุงตัวบุคคลเท่านั้น แต่สถานะความเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทคณะบุคคลยังคงเดิม สำหรับผู้ร้องที่ 2 เป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นนิติบุคคลประเภทรัฐวิสาหกิจมีอำนาจหน้าที่ดูแลงานด้านกีฬาของประเทศ ก่อนการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ผู้คัดค้านเสนอขอลดวงเงินสนับสนุนและมีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้ร้องที่ 1 กับผู้คัดค้านตกลงแก้ไขสัญญาเป็นว่า ผู้คัดค้านจะสนับสนุนผู้ร้องที่ 1 ในรูปสินค้าและบริการมูลค่า 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐและเงินสดจำนวน 190,000,000 บาท โดยกำหนดชำระเงินสดจำนวนนี้ให้ครบถ้วนภายใน 7 ปี หลังจากเสร็จสิ้นการแข่งขันตามข้อเสนอของผู้คัดค้านในหนังสือยืนยันการเป็นผู้สนับสนุนและที่ประชุมร่วมกันยอมตกลงตามข้อเสนอ ด้วยเหตุที่กำหนดชำระเงินสดหลังจากการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 6 ถึง 20 ธันวาคม 2541 เสร็จสิ้นแล้ว สัญญาแก้ไขเพิ่มเติมภาคผนวก E ข้อ 2 จึงระบุว่า ผู้ร้องที่ 1 จะแจ้งให้ผู้คัดค้านทราบถึงเวลาและสถานที่ในการส่งมอบและผู้รับมอบสิ่งตอบแทนแทนตัวเงิน ซึ่งผู้คัดค้านเองยอมรับว่า ผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้รับช่วงในผลประโยชน์จากผู้ร้องที่ 1 ตามที่ระบุในหนังสือ โดยนายเจริญรัฐ ประธานผู้บริหารของผู้คัดค้านลงลายมือชื่อไว้ ต่อมาปี 2548 ผู้คัดค้านก็ยังทำหนังสือถึงผู้ร้องที่ 2 ว่า ผู้คัดค้านกับบริษัทในเครืออีก 2 บริษัทจะจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานของผู้ร้องที่ 2 มูลค่ารวม 200,000,000 บาท (รวมภาษี) โดยถือว่าเป็นการทดแทนภาระที่ต้องสนับสนุนในรูปแบบของเงินและต่อมาผู้ร้องที่ 2 มีหนังสือแจ้งให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวน 190,000,000 บาท แก่ผู้ร้องที่ 2 ตามข้อตกลง ซึ่งจำนวนเงิน 190,000,000 บาท สอดคล้องกับข้อเสนอของผู้คัดค้านและผลการประชุมร่วมกัน อันแสดงว่าสัญญาให้การสนับสนุนระหว่างผู้ร้องที่ 1 กับผู้คัดค้าน แก้ไขเพิ่มเติมโดยสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม มีข้อตกลงว่าผู้คัดค้านจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอก ได้แก่ ผู้ร้องที่ 2 และผู้ร้องที่ 2 ได้แสดงเจตนาแก่ผู้คัดค้านแล้วว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น สิทธิของผู้ร้องที่ 2 ที่จะเรียกชำระหนี้จากผู้คัดค้านโดยตรงย่อมเกิดขึ้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ผู้ร้องที่ 2 มีสิทธิเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการและยื่นคำร้องต่อศาล ทั้งนี้ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาความเป็นตัวการและตัวแทนของผู้ร้องที่ 1 กับที่ 2 เพราะผู้ร้องที่ 2 ไม่ได้เป็นตัวการและผู้ร้องที่ 1 ไม่ได้เป็นตัวแทนในการเข้าทำสัญญาให้การสนับสนุน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านว่า สิทธิเรียกร้องของผู้ร้องทั้งสองขาดอายุความและมีเหตุสมควรเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการหรือไม่ เห็นว่า สัญญาแก้ไขเพิ่มเติมที่มีข้อตกลงให้ลดจำนวนเงินสดที่ผู้คัดค้านจะสนับสนุนเป็น 190,000,000 บาท กำหนดชำระภายใน 7 ปี หลังจากการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ทำขึ้น วันที่ 30 ตุลาคม 2541 ประกอบกับหนังสือที่ผู้คัดค้านยอมรับว่า ผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้รับช่วงในผลประโยชน์จากผู้ร้องที่ 1 ทำขึ้นวันที่ 26 ตุลาคม 2541 การแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 6 ถึง 20 ธันวาคม 2541 ครบกำหนด 7 ปี ที่ผู้คัดค้านจะต้องชำระเงินสนับสนุนตามสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมวันที่ 20 ธันวาคม 2548 แต่วันที่ 23 กันยายน 2548 ผู้คัดค้านทำหนังสือถึงผู้ร้องที่ 2 ว่า ผู้คัดค้านกับบริษัทในเครืออีก 2 บริษัท ยินดีจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานของผู้ร้องที่ 2 รวมจำนวน 200,000,000 บาท (รวมภาษี) โดยระบุด้วยว่าให้ถือว่าการจัดสรรเงินจำนวนดังกล่าวเป็นการทดแทนการสนับสนุนในรูปแบบเงินสนับสนุนพร้อมสินค้าและบริการที่ผู้คัดค้านยังมีอยู่ต่อผู้ร้องที่ 2 เอกสารฉบับนี้ผู้คัดค้านยืนยันความรับผิดตามสัญญาให้การสนับสนุนเป็นการรับสภาพหนี้ต่อผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) และอายุความต้องเริ่มนับใหม่ ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง ต่อมาผู้ร้องที่ 2 มีหนังสือแจ้งให้ผู้คัดค้านชำระเงินสนับสนุนจำนวน 190,000,000 บาท ตามสัญญาให้การสนับสนุน อันเป็นการแสดงเจตนาจะถือเอาประโยชน์จากสัญญา สิทธิของผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมเกิดขึ้นตั้งแต่เวลานั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ได้บัญญัติอายุความสิทธิเรียกร้องของบุคคลภายนอกไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 ผู้ร้องที่ 2 ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการวันที่ 21 ตุลาคม 2553 คดีของผู้ร้องที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ สำหรับผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญากับผู้คัดค้าน สัญญาให้การสนับสนุนประกอบสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมครบกำหนด 7 ปี หลังการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 วันที่ 20 ธันวาคม 2548 แต่ก่อนครบกำหนดผู้คัดค้านทำหนังสือยอมรับสภาพหนี้ต่อผู้ร้องที่ 2 ผู้รับประโยชน์ถือว่าลูกหนี้ยอมรับความรับผิดตามสัญญาต่อเจ้าหนี้เช่นกัน อายุความย่อมสะดุดหยุดลงและเริ่มนับใหม่ เมื่ออายุความสิทธิเรียกร้องตามสัญญาให้การสนับสนุนไม่มีบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ย่อมมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เช่นกัน ผู้ร้องที่ 1 ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการวันที่ 21 ตุลาคม 2553 คดีของผู้ร้องที่ 1 ก็ไม่ขาดอายุความเช่นกัน ปัญหาเรื่องอายุความนี้คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า ผู้ร้องที่ 2 ไม่ใช่บุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ตามสัญญาซึ่งไม่ถูกต้อง แล้วนับอายุความสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องทั้งสองในฐานะตัวการตัวแทนจึงไม่ถูกต้องเช่นกัน อันเป็นการวินิจฉัยสถานะของคู่พิพาทโดยปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้องไม่ใช่เพียงการวินิจฉัยอายุความเท่านั้น แต่เป็นกรณีปรากฏต่อศาลว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้ร้องทั้งสองมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) และศาลมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข)
อนึ่ง คดีคงมีปัญหาเพียงว่าจะต้องเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 หรือไม่ เท่านั้น ยังไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านผิดสัญญาให้การสนับสนุนประกอบสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ และจะต้องชำระเงินแก่ผู้ร้องทั้งสองหรือไม่ เพียงใด ซึ่งเป็นปัญหาที่คณะอนุญาโตตุลาการจะต้องวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นต่อไป
ศาลฎีกาเห็นด้วยในผลของคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการคดีนี้
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share