คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2557/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เครื่องหมายบริการ แถบสี “น้ำเงิน – เขียว” โดยไม่มีลักษณะพิเศษนั้นไม่ใช่ชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใดๆ ในความหมายแห่งบทบัญญัติของ ป.อ. มาตรา 272 (1) สำหรับรูปลักษณ์และข้อความ “เราคนไทยใช้บางจาก” นั้น จำเลยทั้งสองใช้ป้ายรณรงค์ที่เลียนแบบเครื่องหมายสัญลักษณ์มือของโจทก์ เพียงแต่ของโจทก์นั้นใช้สัญลักษณ์มือขวา ส่วนของจำเลยทั้งสองนำสัญลักษณ์มือซ้ายมาใช้ โดยมีข้อความล้อเลียนว่า “เราชาวไทย” แต่ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) นั้น จะต้องเป็นการนำชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใดๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ ซึ่งชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใดๆ ที่นำมาใช้นี้ต้องนำมาใช้ในชื่อหรือข้อความเดียวกัน หรือในรูปรอยประดิษฐ์ ที่ตั้งใจให้เหมือนกันในลักษณะปลอมไม่ใช่เพียงแต่เลียนแบบ ส่วนการที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (2) นั้น จะต้องเป็นการเลียนป้ายหรือสิ่งอื่นในทำนองเดียวกัน จนประชาชนน่าจะหลงเชื่อว่าสถานที่การค้าของตนเป็นสถานที่การค้าของผู้อื่นที่ตั้งอยู่ใกล้เคียง เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องมาด้วยว่าสถานที่ประกอบการค้าของโจทก์อยู่ใกล้เคียงบริเวณดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2546 ถึงวันฟ้อง ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันตลอดมา จำเลยทั้งสองให้บริการสถานีบริการน้ำมันและจำหน่ายน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมชนิดต่างๆ โดยเอาเครื่องหมายบริการ ชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ และข้อความในการประกอบการค้าของโจทก์ตามฟ้องไปใช้โดยแสดงหรือทำให้ปรากฏอยู่ ณ ป้ายแสดง เครื่องหมายบริการริมถนน บนหลังคาคลุมแท่นตู้จ่ายน้ำมัน และกล่องไฟเหนือตู้จ่ายน้ำมัน จำนวน 4 สถานี โดยจำเลยทั้งสองทราบดีว่า เครื่องหมายบริการ ชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ และข้อความดังกล่าวเป็นเครื่องหมายบริการ ชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ และข้อความในการประกอบการค้าของโจทก์ ทั้งนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสองมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหรือผู้พบเห็นสถานีบริการน้ำมันดังกล่าวหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของโจทก์ ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียงทางการค้า เหตุเกิดที่ตำบลบางกระสอ และตำบลบางรักน้อย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี แขวงบางโคล่ (บางเขน) เขตยานนาวา (บางรัก) และแขวงสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ) เขตพญาไทย กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 และ 272 ห้ามจำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายบริการ แถบสี “น้ำเงิน – เขียว” และชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ และข้อความ “เราคนไทยใช้บางจาก”
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้อง และมีคำสั่งว่าฟ้องโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คดีของโจทก์มีมูลหรือไม่ เห็นว่า สำหรับเครื่องหมายบริการ แถบสี “น้ำเงิน – เขียว” โดยไม่มีลักษณะพิเศษนั้น ไม่ใช่ชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใดๆ ในความหมายแห่งบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) โจทก์จึงไม่อาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดเกี่ยวกับเครื่องหมายบริการ แถบสี “น้ำเงิน – เขียว” ตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ สำหรับรูปลักษณ์และข้อความ “เราคนไทยใช้บางจาก” นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำเบิกความของนายประวิทย์ สุนทรสิทธิพงศ์ ผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองใช้ป้ายรณรงค์ที่เลียนแบบเครื่องหมายสัญลักษณ์มือของโจทก์ เพียงแต่ของโจทก์นั้นใช้สัญลักษณ์มือขวา ส่วนของจำเลยทั้งสองนั้นได้นำสัญลักษณ์มือซ้ายมาใช้ นอกจากนั้น ยังมีข้อความล้อเลียน โดยใช้คำว่า “เราชาวไทย” เห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) นั้น จะต้องเป็นการนำชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใดๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ ซึ่งชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใดๆ ที่นำมาใช้นี้ต้องนำมาใช้ในชื่อหรือข้อความเดียวกัน หรือในรูปรอยประดิษฐ์ ที่ตั้งใจให้เหมือนกันในลักษณะปลอมไม่ใช่เพียงแต่เลียนแบบดังที่พยานโจทก์เบิกความ ส่วนการที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (2) นั้น จะต้องเป็นการเลียนป้าย หรือสิ่งอื่นในทำนองเดียวกัน จนประชาชนน่าจะหลงเชื่อว่าสถานที่การค้าของตนเป็นสถานที่การค้าของผู้อื่นที่ตั้งอยู่ใกล้เคียง เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องมาด้วยว่าสถานที่ประกอบการค้าของโจทก์อยู่ใกล้เคียงบริเวณดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานนี้ และไม่อาจรับฟังว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share