คำสั่งคำร้องที่ 1154/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า ผู้ร้องฎีกา แต่เนื่องจากฎีกาของผู้ร้อง ได้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงผู้ร้องจึงมี ความประสงค์ที่จะขอแก้ไขและขอเพิ่มเติมข้อความในฎีกาดังกล่าว ให้ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งข้อความที่ขอแก้ไขและเพิ่มเติม นั้น ปรากฏรายละเอียดตามข้อความในคำร้องและเอกสารท้ายคำร้อง โปรดอนุญาต
หมายเหตุ คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 496 ตำบลสาธรอำเภอสาธร (บางรัก) กรุงเทพมหานคร เฉพาะส่วนตามแผนที่สังเขปเนื้อที่125 ตารางวา ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนางสาวองุ่น สุรสิทธิ์กุลผู้ร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ต่อมานางสาวองุ่น สุรสิทธิ์กุล ผู้ร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ ถึงแก่กรรม นางสุรัตน์ มาเสมอ ผู้ร้องซึ่งเป็นน้องของผู้ร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ได้ขอให้เจ้าพนักงานที่ดิน แบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ 496 แขวงสาธร(สีลม)เขตสาธร (บางรัก) กรุงเทพมหานคร ออกเป็นเนื้อที่ 1229/10 ตารางวา เท่าจำนวนเนื้อที่ดินที่ผู้ร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ครอบครอง แต่ เจ้าพนักงานที่ดินไม่ยอมจัดการให้โดยอ้างว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ในคดีหมายเลขแดงที่ 418/2534 ของศาลชั้นต้น ให้เจ้าพนักงาน ที่ดินงดจดทะเบียนสิทธินิติกรรมใด ๆ ในโฉนดที่ดินเลขที่ 496แขวงสาธร(สีลม)เขตสาธร(บางรัก) กรุงเทพมหานครทั้งแปลง แต่ผู้ร้องเห็นว่าคำสั่งศาลชั้นต้นสั่งให้งดทำ นิติกรรมเฉพาะนางจุไรรัตน์ทัดตวร ผู้ร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในคดีดังกล่าวไม่เกี่ยวกับผู้ร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์คดีนี้ ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนแบ่งแยกออกโฉนด ที่ดินใหม่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 496 แขวงสาธร(สีลม)เขตสาธร(บางรัก) กรุงเทพมหานคร ให้แก่นางสาวองุ่น สุรสิทธิ์กุลผู้ร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ที่ดินแปลงนี้ปรากฏว่าเป็นป่าช้า หรือสุสานฝังศพอันถือได้ว่าเป็นที่ดินสาธารณะไม่ใช่เป็น ที่ดินของนายโลไกจวย ดังที่ผู้ร้องนำสืบในชั้นไต่สวนขอแสดงกรรมสิทธิ์ ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องนำสืบว่า เป็นที่ดิน ของนายโลไกจวย ดังที่ปรากฏในคำสั่งศาลชั้นต้น จึงไม่ตรงกับหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน (โฉนด) ซึ่งระบุว่า เป็นที่ ป่าช้า จึงไม่อาจมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ ได้ ให้ยกคำร้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา (สำนวนตอนที่ 2 อันดับ 20)
คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา
ผู้ร้องยื่นคำร้องดังกล่าว (สำนวนตอนที่ 2 อันดับ 21)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว การยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกา คือการยื่นฎีกาผู้ร้องจะกระทำได้ภายในอายุฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาพ้นกำหนดเวลายื่นฎีกาแล้ว จึงรับเป็นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาไม่ได้ ให้ยกคำร้อง

Share