แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตาม ป.อ. มาตรา 22 วรรคแรก ที่บัญญัติให้นำจำนวนวันที่ผู้ต้องคำพิพากษาถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษามาหักออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษานั้น จะต้องเป็นกรณีที่ผู้ต้องคำพิพากษาถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษาในคดีนั้นเอง หาใช่ถูกคุมขังในคดีอื่นแต่อย่างใดไม่ แม้ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติห้ามไว้ว่า เมื่อจำเลยถูกหมายขังในคดีหนึ่งแล้วจะถูกหมายขังในคดีอื่นอีกไม่ได้ก็ตาม แต่ปรากฏว่านับตั้งแต่จำเลยถูกฟ้องร่วมกับ ร. ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 456/2541 ของศาลชั้นต้น จำเลยมิได้ถูกคุมขังเนื่องจากได้รับการปล่อยชั่วคราวตลอดมา การที่ต่อมาจำเลยไปกระทำความผิดและถูกคุมขังระหว่างพิจารณาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 937/2541 ของศาลจังหวัดสุโขทัย ก็เป็นการถูกคุมขังเฉพาะในคดีดังกล่าว ไม่เกี่ยวกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 456/2541 ของศาลชั้นต้น แม้ต่อมา ร. จะให้การรับสารภาพและศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยเข้ามาใหม่เป็นคดีนี้ ศาลชั้นต้นก็มิได้ออกหมายขังจำเลยในคดีนี้แต่อย่างใด ศาลชั้นต้นเพิ่งออกหมายขังจำเลยหลังจากศาลจังหวัดสุโขทัยดำเนินการแก่จำเลยเสร็จ และส่งตัวจำเลยมาดำเนินคดีนี้ การที่จำเลยถูกคุมขังตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 937/2541 ของศาลดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกคุมขังในคดีนี้ด้วย จึงนำวันต้องขังของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 937/2541 ของศาลจังหวัดสุโขทัย มาหักโทษตามคำพิพากษาในคดีนี้ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 15, 67 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 (ที่ถูกมาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 67 (ที่แก้ไขใหม่) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ฐานมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประเภทกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจแล้วปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงไม่รอการลงโทษให้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2541 จำเลยกับนายรุ่งธิวา เงินนา ถูกพนักงานอัยการจังหวัดลำปางเป็นโจทก์ฟ้องในความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 456/2541 ของศาลชั้นต้น ต่อมาจำเลยถูกแยกฟ้องเป็นคดีนี้โดยจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวตลอดมา ระหว่างจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราว จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและถูกดำเนินคดีที่จังหวัดสุโขทัยตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 937/2541 โดยไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว ศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีนี้ได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีนี้ไว้ชั่วคราว เพื่อรอให้ศาลจังหวัดสุโขทัยส่งตัวจำเลยมาทำการพิจารณาวันที่ 28 มีนาคม 2546 ศาลจังหวัดสุโขทัยพิพากษาลงโทษจำเลยแต่จำเลยต้องขังมาพอแก่โทษแล้วจึงให้ปล่อยตัวจำเลยเฉพาะคดีดังกล่าว และได้ส่งตัวจำเลยมาดำเนินคดีนี้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจะต้องนำระยะเวลาที่จำเลยถูกคุมขังในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 937/2541 หมายเลขแดงที่ 590/2546 ของศาลจังหวัดสุโขทัย มาหักออกจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 วรรคแรก ที่บัญญัติให้นำจำนวนวันที่ผู้ต้องคำพิพากษาถูกคุมขังก่อนพิพากษามาหักออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษานั้นจะต้องเป็นกรณีที่ผู้ต้องคำพิพากษาถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษาในคดีนั้นเอง หาใช่ถูกคุมขังในคดีอื่นแต่อย่างใดไม่ แม้ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติห้ามไว้ว่า เมื่อจำเลยถูกหมายขังในคดีหนึ่งแล้วจะถูกหมายขังในคดีอื่นอีกไม่ได้ก็ตาม แต่ปรากฏว่านับตั้งแต่จำเลยถูกฟ้องร่วมกับนายรุ่งธิวา เงินนา ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 456/2541 ของศาลชั้นต้น จำเลยมิได้ถูกคุมขังเนื่องจากได้รับการปล่อยชั่วคราวตลอดมา การที่ต่อมาจำเลยไปกระทำความผิด และถูกคุมขังระหว่างพิจารณาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 937/2541 ของศาลจังหวัดสุโขทัย ก็เป็นการถูกคุมขังเฉพาะในคดีดังกล่าวไม่เกี่ยวกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 456/2541 ของศาลชั้นต้น แม้ต่อมานายรุ่งธิวาจะให้การรับสารภาพและศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยเข้ามาใหม่เป็นคดีนี้ ศาลชั้นต้นก็มิได้ออกหมายขังจำเลยในคดีนี้แต่อย่างใด ศาลชั้นต้นเพิ่งจะ
ออกหมายขังจำเลยเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2546 หลังจากศาลจังหวัดสุโขทัยดำเนินคดีแก่จำเลยเสร็จ และส่งตัวจำเลยมาดำเนินคดีนี้ การที่จำเลยถูกคุมขังตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 937/2541 ของศาลจังหวัดสุโขทัย ถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกคุมขังในคดีนี้ด้วย จึงนำวันต้องขังของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 937/2541 ของศาลจังหวัดสุโขทัยมาหักโทษตามคำพิพากษาในคดีนี้ไม่ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2766/2540 ที่จำเลยอ้างมาข้อเท็จจริงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ แต่อย่างไรก็ตามปรากฏว่า เมื่อศาลจังหวัดสุโขทัยพิพากษาคดีอาญาหมายเลขดำที่ 937/2541 และได้ออกหมายปล่อยตัวจำเลยเฉพาะคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2546 แล้วจำเลยยังคงถูกควบคุมตัวไว้เพื่อดำเนินการส่งตัวตามคำขออายัดตัวของศาลที่พิจารณาคดีนี้ ดังนั้น ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2546 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2546 ที่จำเลยถูกควบคุมตัวไว้ระหว่างรอการส่งตัว ถือว่าเป็นวันที่จำเลยถูกคุมขังโดยศาลที่พิจารณาคดีนี้ จึงต้องนำมาหักให้แก่จำเลยด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองคิดหักวันถูกคุมขังให้แก่จำเลยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2546 จนถึงวันที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวเป็นเวลา 3 วัน จึงไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องหักวันถูกคุมขังให้จำเลย 7 วัน ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้หักวันถูกคุมขังแก่จำเลย 7 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5