คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2552/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีโดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามเอกสารพิพาท เอกสารดังกล่าวเป็นสัญญาค้ำประกันการกู้เงินและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นการค้ำประกันเงินกู้และเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เพียงรายเดียว ซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันทำโดยมีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกันคือ ร่วมผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันในการชำระหนี้วงเงินสินเชื่อในหนี้ประเภทเงินกู้และกู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตามสัญญาค้ำประกันฉบับพิพาทเป็นความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม กล่าวคือ มีความผูกพันที่จะต้องชำระหนี้รายนี้โดยสิ้นเชิง หาใช่ต่างคนต่างรับผิดชำระคนละส่วนเท่า ๆ กันไม่
เมื่อสัญญาค้ำประกันฉบับพิพาทเป็นตราสารในเรื่องเดียวกันและมีลักษณะอย่างเดียวกัน จึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติของ ป.รัษฎากรมาตรา 108 ที่จะต้องปิดแสตมป์แยกกันเป็นรายบุคคลหรือคนละ 10 บาท ทั้งตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ที่กำหนดลักษณะแห่งตราสารท้าย ป.รัษฎากรก็ยังกำหนดไว้ว่าสำหรับการค้ำประกันนั้น ข้อ 17 (ง) ค้ำประกันสำหรับจำนวนเงินเกิน 10,000 บาทขึ้นไป กำหนดค่าอากรแสตมป์ 10 บาท เมื่อเอกสารฉบับพิพาทปิดอากรแสตมป์ฉบับละ10 บาท ครบถ้วนแล้ว จึงเป็นเอกสารที่ชอบและใช้เป็นพยานหลักฐานได้ตามกฎหมาย
โจทก์ประกอบธุรกิจการธนาคารมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากผู้มาติดต่อขอสินเชื่อจากธนาคารได้ตามกฎหมาย ซึ่งกำหนดขึ้นโดยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงกำหนดขึ้นตามกฎหมายเมื่อมิใช่เป็นการกำหนดขึ้นตามที่คู่สัญญาตกลงกันเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระให้ถูกต้องสมควรจึงไม่มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งศาลอาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้
การที่ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาถึงดอกเบี้ยในหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีช่วงระหว่างวันถัดจากวันเลิกสัญญาถึงวันฟ้องให้แก่โจทก์ ทั้งที่ในคำวินิจฉัยก็มิได้ตัดดอกเบี้ยในส่วนนี้ เป็นเพียงข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยซึ่งศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงนั้นได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 143 วรรคหนึ่ง

Share