คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2551-2554/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำบรรยายฟ้องเกี่ยวกับความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คนั้น ไม่จำต้องระบุว่า จำเลยนำเช็คไปแลกเงินสดจากโจทก์ที่ไหน เมื่อใด เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับความเป็นมาของมูลหนี้ในทางแพ่ง ซึ่งอาจจะต้องนำสืบชั้นพิจารณา เมื่อมีข้อต่อสู้ของจำเลย ดังนี้ การที่โจทก์มิได้ระบุถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม
ข้อตกลงกันในเรื่องหนี้สิน ไม่มีความตอนใดในเอกสารดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า คู่กรณีมีเจตนาที่จะให้ระงับความผิดทางอาญาด้วยแต่อย่างใด ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ใช่การยอมความที่จะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2524และลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2534 รวม 4 ฉบับ ชำระหนี้โจทก์และจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการ ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 สั่งจ่ายเช็คลงวันที่16 สิงหาคม 2524 และลงวันที่ 5 มิถุนายน 2524 รวม 2 ฉบับ โดยจำเลยที่ 3 ลงชื่อสั่งจ่ายประทับตราห้างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 นำมาแลกเงินสดไปจากโจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนด โจทก์นำเช็คไปเข้าบัญชีธนาคารเพื่อเรียกเก็บเงินธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทุกฉบับ ทั้งนี้จำเลยได้ร่วมกันออกเช็คโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ฯลฯ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 3

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องและสั่งว่าคดีมีมูลทั้งสี่สำนวน ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามฟ้อง ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน950,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า รวมปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 850,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำบรรยายฟ้องของโจทก์ทั้งสี่สำนวนได้บรรยายข้อเท็จจริงที่เป็นการกระทำและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลา และสถานที่ที่เกิดการกระทำโดยครบถ้วน” ที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ข้อที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่ได้ระบุว่าจำเลยนำเช็คไปแลกเงินสดจากโจทก์ที่ไหนเมื่อใดนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่จำเลยกล่าวอ้างนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับความเป็นมาของมูลหนี้ในทางแพ่ง ซึ่งอาจจะต้องนำสืบชั้นพิจารณาเมื่อมีข้อต่อสู้ของจำเลย โจทก์ไม่จำเป็นจะกล่าวถึงในคำฟ้องคดีอาญาดังนั้นการที่โจทก์ได้ระบุถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม

ตามเอกสารหมาย ล.26 ปรากฏในตอนต้นเป็นรายการเคลีย์หนี้สินระหว่างนายจุรเกษ (เจ้าหนี้) และนายวสันต์ (ลูกหนี้) ส่วนข้อความในตอนท้ายที่กล่าวถึงเรื่องเช็คนั้น ก็เป็นเรื่องที่เจ้าหนี้จะต้องติดตามหนี้ตามเช็คต่อไป ถ้าหากการติดตามหนี้ตามเช็คไม่เรียบร้อย เจ้าหนี้จำต้องยื่นยอดหนี้ตามเดิม แสดงให้เห็นว่า ข้อตกลงกันในเรื่องหนี้สินไม่มีความตอนใดในเอกสารดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า คู่กรณีมีเจ้าหนี้ที่จะให้ระงับความผิดทางอาญาด้วยแต่อย่างใด เอกสารหมาย ล.26 จึงมิใช่การยอมความที่จะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(2)

พิพากษายืน

Share