แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
หลังจากศาลฎีกามีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาแล้ว ศาลฎีกามีคำสั่งให้ศาลแรงงานกลางส่งสำเนาคำร้องที่ ร. ผู้ร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์และไต่สวนคำร้องว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามคำร้องหรือไม่ ศาลแรงงานกลางดำเนินการตามคำสั่งศาลฎีกาแล้ว แต่มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ด้วยซึ่งเป็นการไม่ชอบ เพราะเมื่อมีการสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาแล้ว การสั่งเรื่องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะอยู่ในอำนาจของศาลฎีกา จึงให้ยกคำสั่งศาลแรงงานกลางที่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์เสีย แต่เนื่องจากมีการไต่สวนพยานหลักฐานแล้ว ได้ความว่าผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์และโจทก์ถึงแก่กรรมแล้วจึงอนุญาตให้ ร. ผู้ร้องเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะได้
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเพียงว่า ว. ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลของจำเลยได้สอบสวนอย่างไร และวินิจฉัยว่าการที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ยักยอกเงินของเพื่อนพนักงานซึ่งจำเลยถือว่าโจทก์ทำผิดระเบียบของโรงแรมจำเลยนั้น การยักยอกเงินของเพื่อนพนักงานไม่ได้ระบุไว้ในระเบียบข้อบังคับว่าเป็นความผิดร้ายแรงด้วย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทันทีโดยโจทก์มิได้กระทำผิดร้ายแรง จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วย กฎหมาย อันมีความหมายว่า แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ตามข้อต่อสู้ของจำเลยว่า โจทก์ยักยอกเงินที่แขกทิปให้พนักงานก็ยังไม่ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง เท่ากับศาลแรงงานกลางยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ชัดว่าโจทก์ได้กระทำการยักยอกเงินที่แขกทิปให้พนักงานหรือไม่ จึงยังไม่อาจนำข้อเท็จจริงในปัญหาเรื่องนี้ไปวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกระทำของโจทก์ตามที่จำเลยให้การต่อสู้เสียก่อน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายผู้ช่วยหัวหน้าแผนกสจ๊วต ต่อมาจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิด และจำเลยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทำงานกับจำเลยครบ 10 ปีขึ้นไป เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 1,800,000 บาท จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 9 มีนาคม 2547 เป็นค่าจ้าง 24,648.41 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 37,655 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 1,800,000 บาท ค่าจ้างค้างชำระ 24,648.41 บาท และค่าชดเชย 221,500 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์ตามฟ้อง เนื่องจากจำเลยได้รับแจ้งว่าโจทก์ยักยอกเงินของพนักงานซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานเป็นเวลา 10 ปี ติดต่อกัน ขณะจำเลยสอบสวนการกระทำของโจทก์ โจทก์ไม่ได้ทำงาน ขาดงานเกินกว่า 3 วัน โดยจำเลยยังไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ การกระทำของโจทก์ถือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยอย่างร้ายแรง เป็นการกระทำผิดหน้าที่ และเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 37,655 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 287,950 บาท ค่าจ้างที่ค้างชำระ 24,648.41 บาท และค่าชดเชย 221,500 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ถึงแก่กรรม นางสุรัมภาหรือรวงทิพย์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาต
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “หลังจากศาลฎีกามีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาแล้ว ศาลฎีกามีคำสั่งให้ศาลแรงงานกลางส่งสำเนาคำร้องที่นางสุรัมภาหรือรวงทิพย์ผู้ร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ และไต่สวนคำร้องว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามคำร้องหรือไม่ ศาลแรงงานกลางดำเนินการตามคำสั่งศาลฎีกาแล้ว แต่มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ด้วย ซึ่งเป็นการไม่ชอบ เพราะเมื่อมีการสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาแล้ว การสั่งเรื่องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะอยู่ในอำนาจของศาลฎีกา จึงให้ยกคำสั่งศาลแรงงานกลางที่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์เสีย แต่เนื่องจากมีการไต่สวนพยานหลักฐานมาแล้ว ได้ความว่าผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ และโจทก์ถึงแก่กรรมแล้วจึงอนุญาตให้นางสุรัมภาหรือรวงทิพย์ผู้ร้องเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะได้
ตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางได้มีคำวินิจฉัยเพียงว่านายวรัญญูผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลของจำเลยได้สอบสวนเรื่องนี้อย่างไรและวินิจฉัยในตอนท้ายว่าการที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ยักยอกเงินของเพื่อนพนักงานซึ่งจำเลยถือว่าโจทก์ทำผิดระเบียบของโรงแรมจำเลยนั้น การยักยอกเงินของเพื่อนพนักงานไม่ได้ระบุไว้ในระเบียบข้อบังคับว่าเป็นความผิดร้ายแรงด้วย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทันทีโดยโจทก์มิได้กระทำผิดร้ายแรง จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางดังกล่าวมีความหมายว่าแม้ข้อเท็จจริงฟังได้ตามข้อต่อสู้ของจำเลยว่า โจทก์ยักยอกเงินที่แขกทิปให้พนักงานก็ยังไม่ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง เท่ากับศาลแรงงานกลางยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ชัดว่าโจทก์ได้กระทำการยักยอกเงินที่แขกทิปให้พนักงานจริงดังที่จำเลยให้การต่อสู้ไว้หรือไม่ จึงยังไม่อาจนำข้อเท็จจริงในปัญหาเรื่องนี้ไปวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของจำเลยได้ เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกระทำของโจทก์ตามที่จำเลยให้การต่อสู้เสียก่อน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนที่ให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในประเด็นว่าโจทก์ยักยอกเงินที่แขกทิปให้พนักงานของจำเลยหรือไม่ แล้วส่งสำนวนคืนศาลฎีกาโดยเร็ว แต่หากศาลแรงงานกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเป็นผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงก็ให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีใหม่ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง