คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2549/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการภายใต้บังคับบัญชาของกรมทางหลวงจำเลยที่ 2 ขุดคูขวางถนนกว้าง 3.5 เมตร ลึก 2.5 เมตร เพื่อวางท่อระบายน้ำ จำเลยละเลยไม่ปักป้ายบอกว่าบริเวณนั้นมีการขุดถนนทั้งไม่ติดตั้งโคม ไฟในเวลากลางคืน ทั้ง ๆ ที่มีระเบียบให้ปฏิบัติส. ขับรถจักรยานยนต์ตกลงในคูในเวลากลางคืน จนเป็นเหตุให้ส. ถึงแก่ความตายและโจทก์นั่งซ้อน ท้ายได้รับอันตรายสาหัสย่อมเป็นผลจากการประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ค่าซื้อสุราเลี้ยงแขก ค่าสร้างศาลาถวาย วัด และค่าทำบุญ 100 วันไม่เป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการจัดการศพ โจทก์ต้องตัดม้าม ทิ้ง ทำให้โจทก์มีโอกาสติดเชื้อ จากการอักเสบมากกว่าคนปกติ มีอันตรายสูงกว่าคนปกติ 50 ถึง 200 เท่าภายในกำหนด2 ปี จะมีการติดเชื้อ ได้แต่อาจจะยาวนานถึง 25 ปี เป็นการสูญเสียอวัยวะสำคัญย่อมเป็นความเสียหายแก่ร่างกายและจำเลยต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายเพื่อการเสียความสามารถในการประกอบการงาน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ส. ผู้ตายและเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน นน.06931 เมื่อวันที่24 กุมภาพันธ์ 2523 เวลากลางคืน ส. ขับรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไปตามถนนสายสา-น้ำมวบ ถึงบริเวณซึ่งจำเลยได้ขุดถนนเพื่อวางท่อระยายน้ำกว้าง 3.5 เมตร ลึก 2.5 เมตร จำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมดูแลการขุดถนนภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 จำเลยกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและระเบียบปฏิบัติของจำเลยที่ 2 โดยไม่วางสิ่งกีดขวางหรือสิ่งบอกเหตุไว้ข้างหน้าบริเวณถนนที่ขุด ไม่ติดตั้งโคมไฟหรือวัตถุสะท้อนแสง ส. มอบไม่เห็นถนนที่ขุดจึงขับรถจักรยานยนต์ตกลงไปในคู รถจักรยานยนต์เสียหาย และ ส. ถึงแก่ความตาย โจทก์ซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ได้รับอันตรายสาหัสถึงต้องตัดม้ามออก จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ในฐานะผู้บังคับบัญชา ต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า ถนนที่เกิดเหตุอยู่ระหว่างการก่อสร้าง มิได้เปิดให้ประชาชนใช้ จำเลยทั้งสองไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายหรือระเบียบที่จะต้องจัดทำเครื่องหมายจราจร ปากทางเข้าที่เกิดได้ติดป้ายระบุว่าทางอยู่ระหว่างการก่อสร้างยังไม่เปิดเป็นทางสาธารณะ ผู้ใช้โปรดใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ จำเลยที่ 1และคนงานได้ขุดทางตรงที่เกิดเหตุ เพื่อวางท่อระบายน้ำเสร็จแล้วได้กองดินที่ขุดขึ้นเป็นแนวสูงมองเห็นได้ง่ายและได้นำก้อนหินขนาดใหญ่วางเรียงปิดทางทั้งสองด้านห่างจากร่องขุดประมาณ 15 เมตรเป็นที่สังเกตได้ง่าย ทางเบี่ยงที่ทำไว้ให้ผู้ใช้ทางอ้อมฝ่านร่องที่ขุดก็เห็นได้ง่าย เหตุเกิดเพราะความประมาทของ ส. ที่ใช้ความเร็วสูงมาก ค่าเสียหายเกินความจริง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสองในสำนวนคดีแรกและยกฟ้องจำเลยที่ 1 ในสำนวนคดีหลัง ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์สำนวนแรกและจำเลยที่ 2 สำนวนหลังอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า สำนวนแรกให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย สำนวนหลังให้จำเลยที่ 2ใช้เงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ากรมทางหลวงได้เข้าไปก่อสร้างทางสายสา-น้ำมวบ ซึ่งยังมิได้เปิดเป็นทางการแต่ยานพาหนะผ่านไปมาได้…เช้าวันเกิดเหตุนายสันต์ ผัดจันตา ผู้ตายขับรถรถจักรยานยนต์ออกจากบ้านตำบลน้ำมวบตั้งแต่เช้ามีโจทก์ซึ่งเป็นภริยาผู้ตายนั่งซ้อนท้ายไปด้วย ทั้งสองเดินทางผ่านจุดที่เกิดเหตุซึ่งยังไม่มีการขุดถนน ผู้ตายกับโจทก์เดินทางกบับเวลาประมาณ 23 นาฬิกา เมื่อมาถึงบริเวณที่ถนนถูกขุดเป็นร่อง ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ตกลงไปในร่องขวางถนนนั้น รถจักรยานยนต์เสียหายผู้ตายกับโจทก์กระเด็นจากรถ ผู้ตายกระโหลกศีรษะยุบถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ส่วนโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส มีผู้นำโจทก์ส่งโรงพยาบาลน่าน แพทย์ผ่าตัดช่องท้องโจทก์และพบว่ามีเลือดตกในช่องท้องตับกลีบซ้ายมีแผลฉีกขาดเล็กน้อย ตับอ่อนฟกช้ำเล็กน้อย ม้ามมีแผลฉีกขาด 2 แห่ง ต้องตัดม้ามออก…
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยให้การว่า จำเลยที่ 1 และคนงานได้ทำการขุดทางตรงที่เกิเหตุเพื่อวางท่อระบายน้ำและบดอัดดินชั้นล่างฯลฯ เมื่อจำเลยให้การรับว่าได้ขุดทางตรงที่เกิดเหตุจริงการที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยที่ 1 มิได้ขุดแต่นายศุภผลหรือพีระ เสมอเชื้อเป็นคนสั่งให้ผู้อื่นนำรถแทรกเตอร์ไปขุดถนนจึงเป็นการนำสืบขัดกับคำให้การของจำเลย ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่มีหน้าที่จะต้องจัดให้มีเครื่องหมายจราจรเพื่อให้เกิดความปลอดภัยหรือจัดให้มีมาตรการเพื่อความปลอดภัยในที่เกิดเหตุ เพราะทางยังไม่เปิดเป็นทางสาธารณะและมีป้ายเตือนผู้ใช้ทางแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าทางสายสา-น้ำมวบ ไม่มีป้ายห้ามเข้า นายสุทัศน์ สีเขียว พยานจำเลยว่ามีรถประจำทางและรถอื่น ๆ แล่นอยู่ตลอดเวลา ปกติแล้วการขุดถนนจะต้องใช้หินหรือทำสัญญาณเอาไว้ เวลากลางคืนจะต้องมีโคมไฟให้สัญญาณด้วย จำเลยที่ 1 เองก็เบิกความเช่นเดียวกับนายศุภผลหรือพีระ เสมอเชื้อว่ามีระเบียบของกรมทางหลวงว่า ในกรณีที่มีการขุดถนนจะต้องมีการปักป้ายบอกว่าบริเวณนั้นมีการขุดถนนตลอดจนมีสัญญาณต่าง ๆ แสดงให้ผู้สัญจรไปมารู้ว่าบริเวณนั้นขุดถนนด้วยทั้งกลางคืนต้องมีโคมไฟติดไว้เพื่อให้รถที่ขับไปมารู้ด้วย ในจุดอื่น ๆ ที่มีการขุดถนนก็มีการปักป้ายและติดโคมไฟแต่จุดที่เกิดเหตุไม่มี จำเลยที่ 1 ว่า เข้าใจว่ามีไม่พอจึงไม่ได้มาติดตั้งไว้และปรากฏตามรายงานประจำวันสถานีตำรวจภูธรอำเภอสาว่าพนักงานสอบสวนไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ ไม่พบสิ่งกีดขวางหรือสิ่งบอกเหตุวางไว้บนถนนก่อนจะถึงที่ขุดออกแต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 1 ละเลยไม่ติดตั้งโคมไฟบริเวณที่ขุดถนนทั้ง ๆ ที่มีระเบียบให้ปฏิบัติจึงเป็นความประมาทของจำเลยที่ 1 ส่วนข้ออ้างของจำเลยที่ว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทขับรถเร็วมีรอยห้ามล้อยาวถึง 25 เมตรนั้น ปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์ว่า ก่อนเกิดเหตุโจทก์เห็นกองดินที่ปรากฏในภาพ ล.4 จึงบอกผู้ตายให้ระวัง ขณะนั้นไม่เห็นก้อนหินวางอยู่บริเวณถนน ผู้ตายขับรถด้วยความเร็วเท่าเดิมห้ามล้อเพียงเบา ๆซึ่งคงเป็นเพราะผู้ตายสนใจอยู่ที่กองดินข้างหน้าซึ่งเป็นกองใหญ่จึงห้ามล้อเพียงเบา ๆ เพื่อชะลอรถเข้าไปดูใกล้ ๆ แต่กองดินอยู่ฝั่งตรงข้ามร่องขวางถนน รถจึงพุ่งตกลงไปในร่องเสียก่อน ส่วนก้อนหินที่ปรากฏในภาพ ล.4 นั้นมีเพียงก้อนเล็ก 3 ก้อน ก้อนใหญ่1 ก้อน และวางเรียงมาเพียงแค่ครึ่งถนนในเวลากลางคืนย่อมสังเกตได้ยาก บริเวณทางเบี่ยงก็ไม่มีป้ายปักบอกให้รู้ว่าเป็นทางเบี่ยงข้อเท็จจริงไม่พอฟังว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย
ศาลฎีกาเห็นว่าศาลอุทธรณ์กำหนดค่าปลงศพผู้ตายโดยเห็นว่าโจทก์น่าจะมีฐานะปานกลาง ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นเช่น ค่าซื้อสุราเลี้ยงแขก ค่าสร้างศาลาถวายวัด ค่าทำบุญ 100 วัน ศาลฎีกาเห็นว่าเหมาะสมแล้ว จำเลยฎีกาว่า โจทก์รักษาหายภายใน 14 วัน ไม่เสียหายแก่ร่างกายและสุขภาพอนามัยหรือพิการตลอดชีวิต ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์มีนายบุญยงค์ วงษ์รักมิตร แพทย์ผู้รักษาโจทก์เบิกความประกอบสรุปประวัติการเจ็บป่วยของโจทก์ว่า ม้ามโจทก์ฉีกขาดมีขนาดกว้างมากยากแก่การซ่อม จึงต้องตัดทิ้ง ผลจากการตัดม้ามทำให้โจทก์มีโอกาสติดเชื้อจากการอักเสบมากกว่าคนปกติมีอันตรายสูงกว่าคนปกติตั้งแต่ 50 ถึง 200 เท่า ภายในกำหนด 2 ปีจะมีการติดเชื้อได้แต่อาจจะยาวนานถึง 25 ปี หลังจากตัดไหมเย็บแผลแล้วโจทก์อยู่ในสภาพปลอดภัยพอสมควร แพทย์จึงอนุญาตให้โจทก์ออกจากโรงพยาบาลได้ เมื่อโจทก์ต้องสูญเสียอวัยวะสำคัญจากการกระทำละเมิดของจำเลยจนอาจเป็นเหตุให้โจทก์เสียชีวิตก่อนถึงเวลาสมควรเช่นนี้ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้ 50,000 บาทจึงเหมาะสมแล้ว… ฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share