คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2547/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยสร้างรั้วรุกล้ำเข้ามา ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนรั้วออกไป จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยกั้นรั้วตามแนวเขตที่ดินของจำเลยซึ่งจำเลยได้กรรมสิทธิ์มาโดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ แม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยรื้อถอนรั้วที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินอยู่ด้วยก็ตาม แต่เมื่อประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นของใคร ส่วนคำขอให้รื้อถอนรั้วออกไปเป็นผลต่อเนื่องในเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเท่านั้น เรียกไม่ได้ว่าเป็นคดีมีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้แยกกันได้จากคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์อย่างเดียว เมื่อราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทคดีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่11235 เมื่อประมาณต้นปี 2532 โจทก์ให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐมทำการรังวัดตรวจสอบที่ดินดังกล่าวของโจทก์ปรากฏว่าจำเลยได้ก่อสร้างรั้วรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตกประมาณ 7 ตารางวา ซึ่งเป็นการรบกวนสิทธิครอบครองของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถใช้ที่ดินของโจทก์ในส่วนดังกล่าวได้ โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนรั้วออกไป แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนรั้วที่ปลูกสร้างรุกล้ำออกไปจากที่ดินโจทก์และทำให้ที่ดินของโจทก์อยู่ในสภาพเรียบร้อยหากจำเลยไม่ยอมรื้อถอนขอให้ถือเอาคำพิพากษาศาลสั่งให้โจทก์มีอำนาจรื้อถอนเองโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการนี้ทั้งสิ้นและห้ามเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์อย่างเด็ดขาด
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้ก่อสร้างรั้วรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตก การก่อสร้างรั้วของจำเลยทำโดยสุจริตตามความเป็นจริง ตามแนวที่ดินที่จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และครอบครองมาแต่เดิมเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว นับแต่จำเลยได้รับโอนกรรมสิทธิ์มาจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเดิม จำเลยครอบครองที่ดินส่วนที่ติดกับที่ดินของโจทก์ตั้งแต่จำเลยได้รับโอนมาจนปัจจุบันนี้เป็นเวลาสิบ ๆ ปีแล้วโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏตามฟ้องโจทก์กล่าวว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยสร้างรั้วรุกล้ำเข้ามาเป็นเนื้อที่ 4.6 ตารางวา ขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยรื้อถอนรั้วออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยกั้นรั้วตามแนวเขตที่ดินของจำเลยซึ่งจำเลยได้กรรมสิทธิ์มาโดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ซึ่งโจทก์ตีราคาที่ดินพิพาทตารางวาละ 1,500 บาท รวมเนื้อที่ดินพิพาท 4.5 ตารางวาเป็นราคา 9,600 บาท จำเลยมิได้คัดค้านราคาที่ดินพิพาทเป็นอย่างอื่น จึงถือได้ว่าคดีนี้มีราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์9,600 บาท แม้จะมีคำขอให้จำเลยรื้อถอนรั้วที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินพิพาทอยู่ด้วยก็ตาม ต้องพิจารณาว่าคำขอนั้นแยกจากกันได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ประเด็นสำคัญของคดีนี้อยู่ที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นของใคร ส่วนคำขอให้รื้อถอนรั้วออกไปเป็นผลต่อเนื่องในเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเท่านั้น เรียกไม่ได้ว่าเป็นคดีมีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้แยกกันได้จากคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์อย่างเดียว เมื่อราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยกั้นรั้วตามแนวเขตที่ดินของจำเลย การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า แนวเขตที่ดินของโจทก์จำเลยอยู่กลางคูน้ำ รั้วไม้ไผ่ที่จำเลยกั้นรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์และกั้นไม่ถึง 10 ปี จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2534มาตรา 14 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะโจทก์ยื่นอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์โจทก์จึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share