คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7225/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาว่าลูกหนี้ร่วมคนใดมีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่อาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือไม่ หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ร่วมคนใดล้มละลายหรือไม่ เป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมแต่ละคนไม่เกี่ยวกับลูกหนี้ร่วมคนอื่น
คำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีล้มละลายที่ให้งดสืบพยานจำเลยที่เหลือเพราะทนายความจำเลยทั้งสามไม่มาศาลและไม่มีพยานมาสืบเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 คู่ความจะต้องโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้จึงจะอุทธรณ์ฎีกาได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยที่เหลือเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2539 เวลา 1 นาฬิกา เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีโอกาสเพียงพอที่จะโต้แย้งคำสั่งได้แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้โต้แย้งไว้ ดังนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะอุทธรณ์ฎีกาขอให้เพิกถอนคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและให้สืบพยานจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อไปอีกไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย

จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 2 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีหมายเลขแดงที่ 11776/2527 คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมโดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมชำระเงิน 354,769.35 บาท แก่โจทก์โดยวิธีผ่อนชำระเป็นงวด แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดนัดไม่ยอมชำระหนี้โจทก์ เมื่อคิดถึงวันฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นหนี้โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยรวม 982,506.99 บาท ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีหมายเลขแดงที่ 12161/2528 คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมโดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยอมชำระเงิน 110,000 บาท แก่โจทก์โดยวิธีผ่อนชำระเป็นงวดแต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ผิดนัดไม่ยอมชำระหนี้ และจำเลยที่ 3 เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาค้ำประกันหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมคดีหมายเลขแดงที่ 11776/2527 ของศาลชั้นต้น โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อคิดถึงวันฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นหนี้โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยรวม 1,220,297.86 บาท

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในข้อแรกว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่อาจชำระหนี้โจทก์ได้ทั้งหมดหรือไม่ โจทก์มีนายจำนงค์ เส็งหะพันธุ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ และนายเชียรชัย สุขสวัสดิ์ หัวหน้าสายงานประเมินราคาและสืบทรัพย์ของโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกันว่า หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งดังกล่าว จำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามคำบังคับโจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดและอายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามตามสำเนาหมายบังคับคดีเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 และให้พนักงานโจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลยทั้งสาม แต่จำเลยทั้งสามไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ ข้อนำสืบของโจทก์ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(5) ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทสุนทรเทพ เอ็ม.พี. จำกัด 10,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท เป็นเงิน 1,000,000 บาท จำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าว2,500 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท เป็นเงิน 250,000 บาท และเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทเทียมคีรี จำกัด 250 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 400 บาท เป็นเงิน 100,000 บาท แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้นำสืบพยานหลักฐานให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวจริง แม้ตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเอกสารหมาย ล.3 ที่จำเลยที่ 1 อ้างส่งศาลจะมีชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทสุนทรเทพ เอ็ม.พี. จำกัด โดยมีจำนวนหุ้นตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กล่าวอ้างก็ตาม แต่ก็เป็นบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2533 ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นหรือจำนวนหุ้นที่ถือในภายหลังก็ได้ และมูลค่าของหุ้นจะถือตามราคาที่ได้จดทะเบียนไว้ครั้งแรกทีเดียวไม่ได้ ย่อมขึ้นอยู่กับผลการประกอบกิจการและฐานะของบริษัทที่ได้จดทะเบียนไว้ คดีนี้ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า บริษัทสุนทรเทพ เอ็ม.พี. จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจตั้งโรงงานแปรรูปหินอ่อน มิได้ดำเนินกิจการแล้ว แต่ให้บุคคลอื่นเช่าดำเนินกิจการ ฉะนั้น แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทสุนทรเทพ เอ็ม.พี. จำกัด ก็เชื่อว่าหุ้นของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่ถืออยู่ไม่มีราคาเพียงพอที่จะชำระหนี้โจทก์ได้ทั้งหมด ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมมีทรัพย์สินและรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้โจทก์ได้ทั้งหมดนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 มิได้ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แสดงว่า จำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้โจทก์ได้ทั้งหมด ทั้งการพิจารณาว่าลูกหนี้ร่วมคนใดมีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่อาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือไม่ หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ร่วมคนใดล้มละลายหรือไม่ เป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมแต่ละคนไม่เกี่ยวกับลูกหนี้ร่วมคนอื่น เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่อาจชำระหนี้โจทก์ได้ทั้งหมด และไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ล้มละลาย

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะขอให้เพิกถอนคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและให้ศาลชั้นต้นสืบพยานจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ได้หรือไม่ เห็นว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานจำเลยที่เหลือเพราะทนายความจำเลยทั้งสามไม่มาศาลและไม่มีพยานมาสืบตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 19 มีนาคม 2539 นั้น เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 คู่ความจะต้องโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้ จึงจะอุทธรณ์ฎีกาได้ คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยที่เหลือเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2539 เวลา 10 นาฬิกา และนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งวันที่ 23 เมษายน 2539 เวลา 13.30 นาฬิกา จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมมีโอกาสเพียงพอที่จะโต้แย้งคำสั่งได้ แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้โต้แย้งไว้ ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้โต้แย้งคำสั่งไว้แล้วในวันนั้น แต่ศาลชั้นต้นมิได้จดข้อโต้แย้งลงไว้ในรายงานกระบวนพิจารณานั้น เป็นข้อกล่าวอ้างที่รับฟังไม่ได้เพราะในวันดังกล่าวทนายความจำเลยทั้งสามและตัวความไม่ได้ไปศาล ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยที่เหลือ เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นไว้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะอุทธรณ์ฎีกาขอให้เพิกถอนคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและให้สืบพยานจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อไปอีกไม่ได้

พิพากษายืน

Share