แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้ร้องขัดทรัพย์ได้ไถ่ถอนการขายฝากที่พิพาทซึ่งมี น.ส.3และรับมอบสิทธิการครอบครองที่พิพาทจากจำเลยแล้ว แม้จะไม่มีการจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝาก ผู้ร้องก็ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1378,1379 จำเลยไม่ใช่เจ้าของที่พิพาทที่โจทก์จะนำยึดเพื่อขายทอดตลาดได้อีกต่อไปต้องปล่อยที่พิพาทที่ยึดไว้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมแต่จำเลยไม่ชำระเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินตาม น.ส.3 อ้างว่าเป็นทรัพย์สินของจำเลย
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของผู้ร้องได้จดทะเบียนขายฝากให้แก่จำเลย เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2511 มีกำหนดเวลาไถ่คืนภายใน 1 ปี ต่อมาเมื่อเดือนธันวาคม 2511 ผู้ร้องนำเงินไปชำระหนี้ไถ่ถอนการขายฝาก และจำเลยส่งมอบสิทธิครอบครองในที่ดินให้แก่ผู้ร้องแล้ว แต่จำเลยบ่ายเบี่ยงไม่ไปจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากผู้ร้องครอบครองที่ดินมาโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
โจทก์ให้การว่า ผู้ร้องไม่ได้นำเงินไปไถ่ถอนที่พิพาทที่ขายฝากตามสัญญา จึงไม่มีการจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝาก ทั้งจำเลยไม่ได้มอบสิทธิครอบครองที่พิพาทกลับคืนแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องครอบครองที่พิพาทดังกล่าวในช่วงระยะเวลาไถ่ถอนที่พิพาทแทนจำเลย ทั้งประมาณปี 2528 ผู้ร้องยังได้ทำสัญญาเช่าที่พิพาทจากจำเลย ที่พิพาทจึงเป็นของจำเลยไม่ใช่ของผู้ร้อง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามเอกสารหมาย ปร.1เดิมที่พิพาทเป็นของผู้ร้อง ต่อมาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2511ผู้ร้องได้จดทะเบียนขายฝากให้แก่จำเลยในราคา 7,000 บาท มีกำหนดเวลาไถ่คืนภายใน 1 ปี พ้นกำหนดแล้วไม่มีการจดทะเบียนไถ่ถอนแต่ผู้ร้องทำกินในที่พิพาทตลอดมา จนเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2529จำเลยได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายบัว รอเสนา จดทะเบียนโอนขายที่พิพาทให้แก่นายบัว ระหว่างการประกาศขายของสำนักงานที่ดินอำเภอ ผู้ร้องได้ยื่นคำคัดค้านอ้างว่าผู้ร้องได้ไถ่ถอนการขายฝากภายในกำหนดแล้วเพียงแต่มิได้มีการจดทะเบียนไถ่ถอนเท่านั้นแต่ผู้ร้องก็ได้ครอบครองที่พิพาทตลอดมา เจ้าพนักงานที่ดินให้ทั้งสองฝ่ายฟ้องคดีต่อศาล แต่ต่อมาโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่พิพาท ผู้ร้องจึงได้ร้องเป็นคดีนี้ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่าผู้ร้องได้ไถ่ถอนการขายฝากและรับมอบการครอบครองที่พิพาทภายในกำหนดแล้วดังที่ผู้ร้องฎีกาหรือไม่เห็นว่าผู้ร้องมีตัวผู้ร้องกับนายเอ้ง ศรีสุระ สามีเป็นพยานเบิกความว่าผู้ร้องกับสามีเป็นคนนำเงิน 7,000 บาท ไปชำระให้จำเลยเมื่อเดือนธันวาคม 2511เป็นการไถ่ถอนการขายฝาก แต่ไม่มีการจดทะเบียนไถ่ถอนเพราะจำเลยบอกว่าหากสัญญาไม่พบกำลังยุ่งงานศพนายนิกรญาติของจำเลยให้ผู้ร้องทำกินอย่างเป็นเจ้าของไปได้เลย ผู้ร้องจึงครอบครองที่พิพาทอย่างเจ้าของตลอดมา จะเห็นได้ว่าพยานของผู้ร้องทั้งสองเบิกความได้สอดคล้องตรงกันในสาระสำคัญว่านำเงิน 7,000 บาทไปไถ่ถอนที่บ้านของจำเลยขณะมีงานศพ เหตุที่จำเดือนที่ไถ่ถอนได้ทั้งที่ล่วงมานาน ก็เพราะไปสอบถามถึงวันตายของนายนิกรจากนายวิรัตน์บุตรของผู้ตายแล้วดูจากทะเบียนคนตายตามเอกสารหมาย ปร.9 ส่วนเหตุที่ไม่มีการแก้ไขทางทะเบียนว่ามีการไถ่ถอนแล้วก็เพราะจำเลยอ้างว่าหา น.ส.3 ไม่พบ โดยจำเลยบอกว่าชำระเงินแล้วไม่เป็นไรให้ทำกินไปได้ ผู้ร้องอาจเห็นว่าได้ครอบครองทำกินที่พิพาทอย่างเจ้าของแล้วประกอบทั้งไม่ทราบถึงผลเสียของการไม่จดทะเบียนไถ่ถอนจึงได้ปล่อยปละละเลยมาตลอด หากผู้ร้องมิได้ไถ่ถอนจนตกเป็นสิทธิขาดแก่จำเลยแล้วจำเลยก็ไม่น่าจะปล่อยให้ผู้ร้องได้ครอบครองทำกินในที่พิพาทตลอดมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปีที่นายบารกิจปรีชา ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เบิกความว่าเมื่อเดือนสิงหาคม 2529 จำเลยบอกพยานว่าหลังจากที่พิพาทเป็นของจำเลยแล้ว จำเลยได้ให้ผู้ร้องเช่าทำกินมาตลอดเป็นการเบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน ทั้งไม่ปรากฏว่าพยานมีความเกี่ยวพันอย่างไรจำเลยจึงต้องแจ้งให้ทราบว่าผู้ร้องอยู่ในที่พิพาทโดยเช่าจากจำเลย เป็นคำเบิกความที่ไม่น่าเชื่อถือเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2529 ผู้ร้องได้ยื่นคำคัดค้านการประกาศขายที่พิพาทให้แก่นายบัว อ้างว่าผู้ร้องได้ไถ่ถอนการขายฝากก่อนแล้วดังปรากฏตามเอกสารหมาย ปร.4 ก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ทำให้ข้อนำสืบของผู้ร้องน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักพอหักล้างพยานหลักฐานของผู้ร้อง คดีฟังได้ว่าผู้ร้องได้ไถ่ถอนการขายฝากและรับมอบสิทธิการครอบครองที่พิพาทจากจำเลยภายในกำหนดแล้วแม้จะไม่มีการจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝาก ผู้ร้องก็ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1378, 1379 จำเลยไม่ใช่เจ้าของที่พิพาทอีกต่อไป ต้องปล่อยที่พิพาทที่ยึดไว้ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง”
พิพากษากลับ ให้ปล่อยที่พิพาทที่ยึดให้แก่ผู้ร้อง