คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 122/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ผู้เสียหายจะประมาทอยู่ด้วยถ้าจำเลยระมัดระวังตามควรแก่ฐานะแล้วก็จะไม่เป็นอันตรายแก่ผู้เสียหายดังนี้ จำเลยจะต้องรับผิดฐานทำให้บาดเจ็บสาหัสโดยประมาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2493 เวลากลางวัน จำเลยขับรถรางด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง จำเลยเห็นรถยนต์เมล์เหลืองกำลังจอดส่งคนโดยสารอยู่ที่ป้ายรถเมล์ฝั่งรถรางข้างหน้ารถรางของจำเลย ซึ่งกำลังแล่นไปในระยะไกลพอที่จำเลยจะใช้เครื่องห้ามล้อหยุดรถรางได้ทัน แต่จำเลยมิได้ใช้เครื่องห้ามล้อหยุดรถรางในระยะที่ควรจะหยุดได้ ปล่อยให้รถรางแล่นเรื่อยไป เป็นเหตุให้ตัวถังรถรางเบียดตัวนางสาวศะลักษณ์ กุลธนจินดา ซึ่งลงจากรถยนต์เมล์เหลืองเข้ากับตัวถังรถเมล์ ได้รับบาดเจ็บสาหัสทุพพลภาพ ไม่สามารถจะประกอบการหาเลี้ยงชีพเกินกว่า 20 วัน เหตุเกิดที่ตำบลถนนนครไชยศรี จังหวัดพระนคร ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 259 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 29 พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2481 มาตรา 4

จำเลยแก้ว่า เหตุเกิดเพราะรถเมล์เหลืองเข้าจอดข้างทางรถรางในขณะรถรางกำลังแล่นระยะกระชั้นชิด และด้วยความผิดบกพร่องของนางสาวศะลักษณ์ลงจากรถเมล์ โดยมิได้ดูแลตรวจตราเสียก่อน

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ได้วิเคราะห์คำพยานโจทก์จำเลยแล้วเห็นว่า รถเมล์เหลืองจอดยังที่ ๆ จอดรถในขณะที่รถรางยังแล่นมาห่างราว 6-7 วา คือหัวรถรางกำลังเข้าวงเวียนและคนในรถเมล์กับรถรางต่างมองเห็นกันในระยะราว 10 วา ตามแผนที่ที่โจทก์ส่งศาล จำเลยก็รับว่ามองเห็นกันระยะ 26.50 เมตร ย่อมเป็นที่รู้กันว่า เมื่อรถเมล์จอดก็จะมีคนขึ้นหรือลง พยานโจทก์เบิกความว่าจำเลยขับรถมาเรื่อย ๆ ไม่ได้ยินเสียงระฆังรถรางเลย คนโดยสารบนรถเมล์ได้ลงไปแล้วหลายคน นางสาวศะลักษณ์ก็ลงตามไป จำเลยขับรถมาในระยะมองเห็นได้แล้ว และไกลพอจะระมัดระวังชะลอหรือเบรครถเสียก่อนจนกว่าจะเห็นว่า เป็นที่ปลอดภัยแล้ว การที่รถจำเลยเบียดตัวนางสาวศะลักษณ์ก็ด้วยความประมาทของจำเลย จำเลยนำสืบว่านางสาวศะลักษณ์ลงรถในระยะใกล้ชิดเป็นความผิดของนางสาวศะลักษณ์นั้นฟังไม่ได้ ไม่สามารถหักล้างพยานโจทก์ได้ พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 259 พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2477 มาตรา 29 พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2481 มาตรา 4 ให้ลงโทษจำเลยตามบทหนักจำคุก 3 เดือน ปรับ 400 บาท แต่เนื่องด้วยจำเลยไม่เคยกระทำผิดมาก่อนทั้งนางสาวศะลักษณ์ก็ไม่ประสงค์ให้ศาลลงโทษจำเลย จึงให้รอการลงอาญาโทษจำคุกจำเลยไว้ตามมาตรา 41, 42 คงปรับสถานเดียว ไม่ใช้ค่าปรับจัดการตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 18

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้มีวิชาชีพในทางขับรถรางมีหน้าที่ใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เมื่อเห็นรถยนต์เมล์จอดอยู่ที่ป้ายก็ย่อมจะมีคนขึ้นลง ตรงที่เกิดเหตุก็เป็นที่โล่งเตียนซึ่งมองเห็นได้ถนัดในระยะไกล ควรที่จะระมัดระวังชะลอหรือเบรครถจนกว่าจะเห็นว่าปลอดภัย แต่จำเลยมีความประมาทละเลยการอันควรต้องทำ จึงเป็นเหตุให้รถจำเลยที่ขับมาตามรางเบียดนางสาวศะลักษณ์บาดเจ็บสาหัสข้อแก้ตัวของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ภายหลังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 41, 42 ได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ จึงต้องแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายใหม่ พิพากษาแก้ให้รอการลงอาญาจำคุกจำเลยไว้ตามมาตรา 41, 42 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2494 มีกำหนด 3 ปี นอกจากนี้คงพิพากษายืน

มีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ฝ่ายแย้งเห็นว่า นางสาวศะลักษณ์ประมาทเลินเล่อด้วย เวลาลงจากรถเมล์เหลืองแล้วไม่ข้ามรางรถรางไปเหมือนดังคนโดยสารที่ข้ามไปแล้ว 5-6 คน กลับย้อนไปทางหน้ารถเมล์เหลืองโดยไม่ใช้ความสังเกตว่ารถรางกำลังมา นับว่ามีส่วนทำให้อุปัทวเหตุเกิดง่ายขึ้น จำเลยได้เห็นในระยะกระชั้นชิดห้ามล้อหยุดรถรางไม่ทันไม่เป็นที่คาดหมายได้ว่าจะมีคนโดยสารเดินย้อนไปทางหัวรถเมล์เหลืองจำเลยไม่ควรมีความผิดควรยกฟ้องโจทก์

จำเลยฎีกาข้อเท็จจริง โดยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ฝ่ายแย้งอนุญาตให้ฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221

ศาลฎีกาได้ฟังคำแถลงและประชุมพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ถนัดว่ารถยนต์เมล์เหลืองที่นางสาวศะลักษณ์โดยสารไปได้จอดอยู่ริมรางรถรางก่อนที่รถรางซึ่งจำเลยขับจะมาถึง ฝ่ายโจทก์สืบพยานได้ความชัดว่ารถยนต์เมล์หยุดรถเพื่อให้คนโดยสารลง มีคนโดยสารไม่น้อยกว่า 3-4 คนได้ลงจากรถยนต์เดินข้ามรางรถรางไป ข้อนี้ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ฝ่ายแย้งก็เชื่อว่าได้มีคนโดยสารลงจากรถยนต์เมล์เดินข้ามทางรถรางไปแล้ว 5-6 คนตามที่ฝ่ายจำเลยนำสืบว่าได้เห็นแต่นางสาวศะลักษณ์ลงจากรถยนต์เมล์เพียงคนเดียวนั้นไม่พอจะหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ที่กล่าวได้ น่าเชื่อตามพยานหลักฐานโจทก์ว่า ได้มีผู้โดยสารลงจากรถเมล์จริงตามที่พยานโจทก์กล่าวจึงน่าเชื่อต่อไปว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ขับรถรางจะได้เห็นรถยนต์เมล์จอดอยู่ข้างรางรถรางในระยะซึ่งยังห่างอยู่จริงดังที่พยานโจทก์กล่าว จำเลยให้การชั้นสอบสวนก็รับอยู่ว่า ได้มองเห็นรถเมล์เหลืองจอดรับส่งคนโดยสารในระยะห่าง30 เมตร จำเลยเห็นว่าระยะยังห่างก็เบารถลง โดยคิดว่าเมื่อไปถึงรถเมล์เหลืองก็คงออกพอดี เมื่อรถรางที่จำเลยขับมาแล่นไปถึงจึงเห็นหญิงคนหนึ่งก้าวลงจากรถทางบันไดหลังซึ่งรถเมล์เหลืองยังจอดนิ่งอยู่ จำเลยได้เบรครถ รถก็ยังสืบไปอีกจึงได้เบียดไหล่หญิงคนนั้น ข้อนี้พิจารณาเห็นว่า ถ้าเป็นความจริงอย่างจำเลยกล่าวว่า จำเลยได้เบารถในระยะที่ยังห่างทั้งได้เบรครถให้หยุดด้วยเป็นความจริงดังที่จำเลยกล่าวแล้ว เหตุใดรถที่จำเลยขับไปจะหยุดไม่ทัน เพราะในขณะนั้นจำเลยกล่าวว่า ได้เบาหรือชะลอรถแต่ในระยะที่ยังห่างอยู่แล้ว ได้วินิจฉัยมาแล้วว่าน่าเชื่อตามหลักฐานพยานโจทก์ว่าได้มีผู้โดยสารลงจากรถเมล์เดินข้ามทางรถรางไปหลายคนจริง ถ้าจำเลยมีความระมัดระวังในการขับรถจริงจำเลยควรจะได้เห็นผู้โดยสารรถเมล์เดินข้ามทางรถรางไป จำเลยจึงย่อมต้องใช้ความระมัดระวังยิ่งขึ้นอีก เพราะได้เห็นคนลงจากรถเมล์เดินข้ามทางไปก่อนแล้ว และควรจะได้เห็นขณะที่นางสาวศะลักษณ์ลงจากรถเมล์ ถ้าหากได้ใช้ความระวังพอ แม้จะปรากฏตามคำให้การของนางสาวศะลักษณ์ว่า ไม่ทันมองดูรถรางข้างหน้าว่าจะมาหรือไม่ ขณะที่ลงจากรถนั้นแล้วนางสาวศะลักษณ์เดินเลียบรถเมล์ไปทางข้างหน้ารถเดินไปได้ 4-5 ก้าวยังไม่ทันพ้นตัวรถเมล์ก็เห็นรถรางแล่นสวนมาข้างหน้า เห็นทีแรกรถรางห่างราว 3 เมตร นางสาวศะลักษณ์หลบรถรางไม่ทันจึงหันหลังพิงรถเมล์ รถรางได้แล่นเบียดตัวนางสาวศะลักษณ์กับรถเมล์ ตัวนางสาวศะลักษณ์พลิกหมุนไปตามรถราง อันนับได้ว่าเป็นความประมาทของนางสาวศะลักษณ์อยู่ด้วยก็จริง แต่ได้วินิจฉัยแล้วว่าถ้าจำเลยใช้ความระมัดระวังพอ จำเลยควรจะได้เห็นตั้งแต่คนโดยสารคนอื่นลงจากรถเมล์ตลอดจนกระทั่งนางสาวศะลักษณ์ด้วย ทั้งในขณะนั้นรถรางก็กำลังเบา หรือชะลอเครื่องอยู่แล้วถ้าจำเลยใช้ความระมัดระวังพอแก่ฐานะที่เป็นผู้ขับรถรางแล้ว ก็จะไม่มีทางเป็นอันตรายแก่นางสาวศะลักษณ์ดังเหตุที่เกิดขึ้นในคดีนี้ ศาลนี้เห็นด้วยศาลทั้งสองที่วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยในคดีนี้เป็นการประมาทขาดความระมัดระวัง ศาลอุทธรณ์พิพากษาวางบทกำหนดโทษมาชอบแล้ว ให้ยกฎีกาพิพากษายืน

Share