แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีเดิมโจทก์ฟ้องจำเลยอ้างว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นสวนยางพารา จำเลยในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของ จ. ได้รับโอนที่ดินดังกล่าวแล้วนำไปจดทะเบียนจำนอง ขอให้บังคับให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท และจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองร่วมกับจำเลย คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อ้างว่าจำเลยเข้าแย่งทำสวนยางพาราในที่ดินพิพาทระหว่างคดีและเก็บดอกผลรายได้เป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว ขอให้บังคับให้จำเลยส่งมอบรายได้ให้โจทก์ ดังนี้ ดอกผลรายได้จากการทำสวนยางพาราในที่ดินพิพาทก็คือค่าเสียหายอันเป็นผลเนื่องมาจากการที่จำเลยไม่ยอมจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทในคดีเดิมนั้นเอง ซึ่งค่าเสียหายดังกล่าวตามฟ้องคดีนี้ย่อมเกิดขึ้นทันทีที่จำเลยปฏิเสธไม่ยอมจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท สิทธิการฟ้องคดีนี้เกิดจากมูลกรณีเดียวกับข้ออ้างในคดีเดิมจึงเป็นเรื่องเดียวกันฟ้องคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173(1)
ย่อยาว
โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 306 เนื้อที่79 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา ร่วมกับจำเลยคนละเท่า ๆ กัน ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้มีคำพิพากษาแสดงสิทธิครอบครองของโจทก์ทั้งเจ็ดดังกล่าวในคดีที่โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้น ตามคดีแพ่งหมายเลขที่ 826/2530 โจทก์ทั้งเจ็ดในฐานะเจ้าของรวมมีสิทธิจัดการทำสวนยางพาราและมีสิทธิได้รับดอกผลตามส่วนในที่ดินพิพาท เมื่อประมาณต้นปี 2530 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2534 หลังจากโจทก์ทั้งเจ็ดยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีดังกล่าว จำเลยเข้าแย่งทำสวนยางพาราในที่ดินพิพาทระหว่างคดีและเก็บดอกผลรายได้เป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียวรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,323,493 บาท จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งมอบดอกผลรายได้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดคนละหนึ่งในแปดส่วนคิดเป็นเงินที่โจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิได้รับคนละ 165,436.62 บาทหลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษา จำเลยยังคงเข้าแย่งทำสวนยางพาราต่อไปอีก โจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งดอกผลรายได้คิดเป็นเงินคนละ 3,500 บาท ต่อเดือน ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ทั้งเจ็ดคนละ 165,436.62 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และอีกเดือนละ 3,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าโจทก์ทั้งเจ็ดจะได้เข้าไปทำสวนยางพาราในที่ดินพิพาทขอให้มีคำสั่งตั้งโจทก์ที่ 5 เป็นผู้จัดการสวนยางพาราในที่ดินดังกล่าว ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้อง
จำเลยให้การว่า จำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยรับมรดกมาจากนายจำนันท์ สามีของจำเลยซึ่งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองมาแต่เดิมโดยนายจำนันท์ได้ร่วมกับจำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วยการถากถาง ปรับพื้นดินและปลูกต้นยางพารา จนกระทั่งที่ดินพิพาทกลายเป็นสวนยางพารา โจทก์ทั้งเจ็ดเคยฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันนี้ต่อศาลชั้นต้น ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 826/2530 ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลย แต่มิได้ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย ทั้ง ๆ ที่โจทก์ทั้งเจ็ดสามารถฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นคดีเดียวกันได้อยู่แล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าว ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ยังไม่ถึงที่สุดโจทก์เรียกค่าเสียหายสูงเกินความจริง สวนยางพาราในที่ดินพิพาทเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วจะมีรายได้สุทธิปีละไม่เกิน 40,000 บาทขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่า ฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 826/2530 ของศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาสู่ศาลฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 826/2530 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง บัญญัติว่า “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ระหว่างพิจารณาและผลแห่งการนี้
(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือศาลอื่น และ”
ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่คู่ความรับและไม่โต้เถียงกันว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเคยฟ้องจำเลยกับพวกต่อศาลชั้นต้นตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่826/2530 อ้างว่าโจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นสวนยางพารา ซึ่งจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายจำนันท์ วงษ์ขจรได้รับโอนที่ดินดังกล่าวและจดทะเบียนจำนองไว้กับธนาคารพาณิชย์ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทและจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองร่วมกับจำเลย คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแล้วโจทก์ทั้งเจ็ดจึงได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ อ้างว่าจำเลยเข้าแย่งทำสวนยางพาราในที่ดินพิพาทระหว่างคดีและเก็บดอกผลรายได้เป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,323,493 บาท จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งมอบดอกผลรายได้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ด ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ทั้งเจ็ดคนละ 165,436.62 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และอีกเดือนละ 3,500 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าโจทก์ทั้งเจ็ดจะได้เข้าไปทำสวนยางพาราในที่ดินพิพาท ดังนี้ เห็นว่าดอกผลรายได้จากการทำสวนยางพาราในที่ดินพิพาทก็คือค่าเสียหายอันเป็นผลเนื่องมาจากการที่จำเลยไม่ยอมจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 826/2530 ร่วมกับจำเลยนั่นเองซึ่งค่าเสียหายดังกล่าวตามที่ฟ้องในคดีนี้ย่อมเกิดขึ้นทันทีที่จำเลยปฏิเสธไม่ยอมจดทะเบียนใส่ชื่อของโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท สิทธิการฟ้องคดีนี้เกิดจากมูลกรณีเดียวกันกับข้ออ้างของโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 826/2530 จึงเป็นเรื่องเดียวกัน แต่โจทก์ทั้งเจ็ดหาได้ฟ้องเป็นคดีเดียวกันไม่เพิ่งมาฟ้องใหม่เป็นคดีนี้ จึงเป็นคดีที่ฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 826/2530 ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173(1)
พิพากษายืน