คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2541/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยฯมีข้อความกำหนดวัตถุประสงค์การจัดตั้งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยฯ ซึ่งเห็นได้อยู่ในตัวว่าเป็นการแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ ดังนี้ ศาลย่อมวินิจฉัยว่าจำเลยมีวัตถุประสงค์แสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ โดยมิต้องให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญในทางเศรษฐศาสตร์ มาให้ความเห็นก่อนเพราะเป็นเรื่องการแปล กฎหมาย มิใช่ข้อเท็จจริง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 จำเลยบรรจุโจทก์เป็นพนักงานของจำเลยในตำแหน่งคนงาน ต่อมาจำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ขณะที่โจทก์ได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นพนักงานของจำเลย จำเลยมีข้อบังคับฉบับที่ 31 ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ พ.ศ. 2519 โจทก์มีสิทธิได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์เมื่อพ้นจากตำแหน่งตามข้อ 7(2)และข้อ 8 จำนวนเท่ากับเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยอายุการทำงาน ต่อมาจำเลยออกข้อบังคับฉบับที่ 24 ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ พ.ศ. 2525เป็นการตัดสิทธิของพนักงาน จึงขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างและขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 ข้อบังคับฉบับที่ 24 ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ พ.ศ. 2525 จึงไม่มีผลบังคับใช้ โจทก์มีสิทธิได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์ทั้งสิ้น 110,240 บาท และได้ทวงถามแล้วแต่จำเลยจ่ายให้เพียง 64,995.61 บาท ยังขาดอยู่อีก 45,244.39 บาทขอให้บังคับให้จำเลยจ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์จำนวน 45,244.39 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ แต่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจัดตั้งขึ้นตามประกาศของคณะปฏิวัติและพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2522 เป็นกิจการที่ไม่ได้มีวัตถุปรุสงค์แสวงกำไรในทางเศรษฐกิจจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ข้อบังคับฉบับที่ 31 ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์พ.ศ. 2519 ถูกยกเลิกไปแล้วและใช้ข้อบังคับฉบับที่ 24 ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ พ.ศ. 2525 ที่กำหนดขึ้นใหม่ เพื่อคุ้มครองรักษาสิทธิของโจทก์และลูกจ้างของจำเลยทุกคนให้ได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่ได้ตัดสิทธิโจทก์แต่ประการใด ข้อบังคับฉบับที่ 24ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ พ.ศ. 2525 ยังเป็นคุณแก่โจทก์ ทั้งไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ข้อ 20 เมื่อคำนวณหักค่าชดเชยที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ไปแล้ว โจทก์คงมีสิทธิได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์เพียง 64,995.61 บาท ซึ่งจำเลยจ่ายให้โจทก์ไปครบถ้วนแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินจำนวน 45,244.39 บาทอีก
วันนัดพิจารณา ทนายจำเลยแถลงรับว่า จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด ข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยฉบับที่ 31 ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ พ.ศ. 2519 และข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 24 ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์พ.ศ. 2525 มิได้เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้อง แต่จำเลยกำหนดขึ้นเองทั้งสองฉบับศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยาน
ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 45,244.39 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่าจำเลยมิได้แสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ และการพิจารณาว่าเป็นการแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจหรือไม่ต้องฟังจากผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญในทางเศรษฐศาสตร์ มิใช่ศาลแรงงานกลางจะสรุปได้เองนั้น เห็นว่า จำเลยตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 6 ว่า “ให้จัดตั้งการนิคมอุตสาหกรรมขึ้น…มีวัตถุประสงค์ดังนี้
(1) การจัดให้ได้มาซึ่งที่ดินที่เหมาะสมเพื่อการจัดตั้งหรือขยายนิคมอุตสาหกรรมา หรือเพื่อดำเนินธุรกิจที่เป็นประโยชน์…
(2) ……
(3) การให้เช่า ให้เช่าซื้อ การขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ในนิคมอุตสาหกรรมหรือเพื่อประโยชน์แก่กิจการของนิคมอุตสาหกรรมโดยตรง
(4) การดำเนินธุรกิจอื่นที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวข้องกับกิจการอันอยู่ในวัตถุประสงค์…
(5) การร่วมดำเนินงานกับบุคคลอื่นตามวัตถุประสงค์ใน (1) (2)หรือ (3) รวมทั้งการเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือถือหุ้นในนิติบุคคลใด ๆ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวเนื่องกับกิจการอันอยู่ในวัตถุประสงค์…”ตามวัตถุประสงค์ของจำเลยตามที่ปรากฏนั้น เห็นได้อยู่ในตัวว่าเป็นการแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ โดยมิต้องให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญในทางเศรษฐศาสตร์มาให้ความเห็นดังอุทธรณ์ของจำเลยแต่ประการใด เพราะเป็นเรื่องของการแปลงกฎหมาย ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางต้องฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหานี้ชอบแล้ว…” (อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น)
พิพากษายืน.

Share