คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1801/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การฝากทรัพย์ที่มีบำเหน็จค่าฝาก ผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินที่ฝากเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้น ทั้งนี้ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในการที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 659 วรรคสอง
จำเลยที่ 1 เจ้าของปั๊มน้ำมันรับฝากรถยนต์ของโจทก์ไว้และรับเงินค่ารับฝาก เมื่อรถยนต์สูญหายโดยนำสืบไม่ได้ว่าสูญหายเพราะเหตุใด ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อขาดความระมัดระวัง จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลเจ้าของปั๊มน้ำมัน จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดและรับฝากรถยนต์โดยเก็บเงินค่ารับฝาก จำเลยที่ 1 แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการและให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ช่วยผู้จัดการ เมื่อวันที่ 3มีนาคม 2517 โจทก์นำรถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน ก.ท.ฝ.7615ขนาด 16 แรงม้า 1 คัน ราคา 63,500 บาทไปฝากค้างคืนไว้กับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับฝากไว้ในนามของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต่อมาวันที่ 4 มีนาคม2517 เวลาประมาณ 3 นาฬิกา มีคนร้ายลักรถยนต์ของโจทก์ที่ฝากจำเลยที่ 1ไป ทั้งนี้ด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ไม่เก็บรักษารถยนต์ของโจทก์ไว้ในที่ปลอดภัย จำเลยจึงต้องรัลผิดคืนรถยนต์หรือชดใช้ราคารถยนต์ให้โจทก์เป็นเงิน 63,500 บาท โจทก์ไม่ได้ใช้รถยนต์ประกอบกิจการงานตามปกติของโจทก์ ต้องจ้างรถยนต์ผู้อื่นเสียค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 250 บาทนับจากวันรถยนต์ของโจทก์สูญหายถึงวันฟ้องเป็นเงิน 10,000 บาท ขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคารถยนต์ 63,500 บาท กับค่าเสียหายถึงวันฟ้อง 10,000 บาทรวมเป็นเงิน 73,500 บาท ให้จำเลยเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในจำนวนเงิน 73,500 บาทต่อจากวันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุหมายเลขทะเบียน ก.ท.ฝ.7615 จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1ไม่มีวัตถุประสงค์รับฝากรถยนต์ จำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในกิจการรับฝากรถยนต์เพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2โจทก์กับจำเลยที่ 3 ร่วมกันรับฝากรถยนต์เอง จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชอบเหตุคดีนี้เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ที่ 2 หากแต่มีคนร้ายใช้กำลังประทุษร้ายลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จนได้รับอันตรายสาหัสแล้วชิงเอารถยนต์หมายเลขทะเบียน ก.ท.ฝ.7615 ไปอันเป็นเหตุสุดวิสัยจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ต้องรับผิดชอบ รถยนต์หมายเลขทะเบียน ก.ท.ฝ.7615เป็นรถเก่าใช้งานมาหลายปี หากเสียหายก็ไม่เกิน 20,000 บาท หากโจทก์จ้างรถยนต์ผู้อื่นมาประกอบกิจการงานก็จ้างไม่เกินวันละ 50 บาท

จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ารถยนต์สูญหายโดยมีคนร้ายชิงเอาไป เป็นเหตุสุดวิสัยจำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิด พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าไม่เชื่อว่ามีคนร้ายชิงเอารถยนต์ของโจทก์ที่ฝากจำเลยไป จำเลยที่ 2 ไม่ใช่หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้รับฝากรถยนต์ของโจทก์ไว้แทนจำเลยที่ 1เท่านั้น จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคารถยนต์ให้โจทก์ 50,000 บาท และค่าเสียหายถึงวันฟ้องอีก 3,000 บาท รวมเป็นเงิน 53,000 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในจำนวนเงิน 53,000 บาทต่อจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่ามีคนร้ายชิงเอารถยนต์ของโจทก์ไป โจทก์มอบรถยนต์ให้อยู่ในความอารักขาของจำเลยที่ 1 เมื่อมีสัญญาฝากทรัพย์เกิดขึ้นผู้รับใากมีหน้าที่จะต้องใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินที่รับฝาก โดยเฉพาะการฝากทรัพย์รายนี้มีบำเหน็จค่าฝาก ผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินที่ฝากเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้น ทั้งนี้ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในการที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย ดังกฎหมายบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 659 วรรคสอง จำเลยที่ 1 รับฝากรถยนต์ของโจทก์ไว้แล้วสูญหายโดยนำสืบไม่ได้ว่าสูญหายเพราะเหตุใด ดังนี้ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อขาดความระมัดระวัง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์

พิพากษายืน

Share