คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 254/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ก่อนทำสัญญาจะขายที่ดินให้จำเลยทั้งห้าโจทก์ที่1มีรายได้จากการเลี้ยงสุกรและกรีดยางเมื่อโจทก์ที่1ขายที่ดินให้จำเลยทั้งห้าโจทก์ที่1ต้องหยุดกิจการเลี้ยงสุกรและกรีดยางลงฉะนั้นเมื่อจำเลยทั้งห้าผิดสัญญาไม่ซื้อที่ดินความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการไม่ได้เลี้ยงสุกรและการกรีดยางจึงเป็นความเสียหายโดยตรงจากการผิดสัญญาของจำเลยทั้งห้าการที่โจทก์ที่1ไม่หวนกลับไปเลี้ยงสุกรอีกไม่ทำให้ความเสียหายที่โจทก์ที่1มีอยู่แล้วหมดสิ้นไปแต่อย่างใดและการที่โจทก์ที่1ยกรายได้จากการกรีดยางให้มารดาก็เป็นเรื่องที่โจทก์ที่1มีรายได้แล้วยกให้มารดาเมื่อโจทก์ที่1ไม่มียางให้กรีดโจทก์ที่1ย่อมเสียหายจากการขาดรายได้จำนวนนี้จำเลยทั้งห้าจะโต้แย้งว่าโจทก์ที่1ไม่ได้รับความเสียหายจากการขาดรายได้ของมารดาโจทก์ที่1หาได้ไม่ การปรับปรุงที่ดินของจำเลยทั้งห้าภายหลังทำสัญญาก็เพื่อประโยชน์ของจำเลยทั้งห้าเองจำเลยทั้งห้าจะนำเรื่องประโยชน์จากการที่จำเลยทั้งห้าเข้าปรับปรุงที่ดินมาคำนวณเพื่อลดค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าได้ทำสัญญาจะซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 1628 และ 1629 และที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 1 จากโจทก์ทั้งสองในราคา 39,600,000 บาทวางมัดจำในวันทำสัญญา 4,000,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ หากผู้ซื้อผิดนัด ยอมให้ผู้ขายริบเงินมัดจำและยินยอมให้ปรับเป็นเงินจำนวน 3 เท่าของเงินมัดจำต่อมาจำเลยทั้งห้าผิดนัดไม่ไปจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์และชำระเงินส่วนที่เหลือ จำเลยทั้งห้าจึงต้องชำระค่าปรับ 12,000,000 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 12,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งห้าได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจากโจทก์ทั้งสองจริง ก่อนจะครบกำหนดวันโอน โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งห้าได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายกันใหม่โดยยกเลิกสัญญาฉบับเดิม จำเลยทั้งห้ามิได้ผิดสัญญาต่อโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาริบเงินมัดจำและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งห้า ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 โจทก์ที่ 1 ถึงแก่กรรมนางนงลักษณ์ เชวงชวลิต ทายาทของโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามฎีกาจำเลยทั้งห้ามีเพียงว่าค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดให้โจทก์ทั้งสองนั้นมากเกินความเสียหายจริงหรือไม่ ปัญหานี้จำเลยทั้งห้าฎีกาโต้แย้งว่าโจทก์ทั้งสองริบมัดจำตามสัญญาจำนวน 4,000,000 บาท เป็นค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองได้รับเพียงพอแล้ว หลังจากโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งห้าทำสัญญาตามคำฟ้อง จำเลยทั้งห้าได้ปรับปรุงที่ดินที่จะซื้อทำให้โจทก์ทั้งสองได้ประโยชน์จากค่าปรับปรุงที่ดินเมื่อโจทก์ทั้งสองใช้สิทธิเลิกสัญญาผลการปรับปรุงที่ดินของจำเลยทั้งห้า ทำให้ที่ดินโจทก์ทั้งสองมีราคาสูงขึ้น ซึ่งจำเลยทั้งห้าถือว่าค่าปรับปรุงที่ดินเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่งที่โจทก์ทั้งสองได้รับ รายได้จากการกรีดยางโจทก์ที่ 1 ยกให้มารดา โจทก์ที่ 1จึงไม่ได้รับความเสียหายจากการขาดประโยชน์จากการไม่ได้กรีดยางส่วนรายได้จากการเลี้ยงสุกรนั้นปรากฏว่าหลังจากโจทก์ทั้งสองใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว โจทก์ที่ 1 มิได้กลับมาเลี้ยงสุกรอีกแสดงว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ประสงค์จะเลี้ยงสุกรต่อไป ความเสียหายจากการไม่ได้ประกอบกิจการเลี้ยงสุกรของโจทก์ที่ 1 จึงไม่มีนั้นเห็นว่า ตามสัญญาจะซื้อจะขาย ตามเอกสารหมาย จ.16 ข้อ 10 ระบุว่าหากผู้จะซื้อผิดสัญญาหรือไม่สามารถรับโอนที่ดินที่จะซื้อตามสัญญาได้ไม่ว่ากรณีใด ๆ ผู้จะซื้อยินยอมให้ผู้จะขายริบเงินมัดจำตามสัญญาข้อ 2 และยินยอมชดเชยให้ผู้จะขายเป็นค่าเสียโอกาสของรายได้ในที่ดินตามสัญญาข้อ 1 เป็นจำนวนเงิน 3 เท่า (สามเท่า)ของเงินมัดจำตามข้อ 2 ฉะนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลดค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งห้าตกลงกันไว้ล่วงหน้ากรณีจำเลยทั้งห้าผิดสัญญา โดยพิจารณาถึงความเสียหายของโจทก์ทั้งสองตามทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองประกอบแล้วกำหนดให้จำเลยทั้งห้าชำระค่าเสียหายเพียง 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนั้นเหมาะสมกับความเสียหายที่โจทก์ทั้งสองได้รับแล้ว เพราะจำเลยทั้งห้าไม่มีพยานนำสืบให้ฟังได้เป็นอื่น ส่วนการปรับปรุงที่ดินของจำเลยทั้งห้าภายหลังทำสัญญา ก็เพื่อประโยชน์ของจำเลยทั้งห้าเอง จำเลยทั้งห้าจะนำเรื่องประโยชน์จากการที่จำเลยทั้งห้าเข้าปรับปรุงที่ดินมาคำนวณเพื่อลดค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองหาได้ไม่ การยกรายได้จากการกรีดยางของโจทก์ที่ 1 ให้มารดาก็เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 1 มีรายได้แล้วยกให้มารดา เมื่อโจทก์ที่ 1 ขาดประโยชน์ไม่มียางให้กรีดก็ไม่มีรายได้ที่จะยกให้มารดา โจทก์ที่ 1 ย่อมเสียหายจากการขาดรายได้จำนวนนี้ จำเลยทั้งห้าจะโต้แย้งว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ได้รับความเสียหายจากการขาดรายได้ของมารดาโจทก์ที่ 1 เป็นการไม่ชอบศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ส่วนที่จำเลยทั้งห้าโต้แย้งว่า ภายหลังเลิกสัญญาแล้ว โจทก์ที่ 1 มิได้เข้าไปเลี้ยงสุกรในที่ดินอีกโจทก์ที่ 1 ตั้งใจเลิกเลี้ยงสุกร โจทก์ที่ 1 จึงไม่เสียหายจากการไม่ได้เลี้ยงสุกรนั้น เห็นว่า ก่อนทำสัญญาจะขายที่ดินให้จำเลยทั้งห้า โจทก์ที่ 1 มีรายได้จำนวนนี้อยู่เมื่อโจทก์ที่ 1 ขายที่ดินให้จำเลยทั้งห้า โจทก์ที่ 1 ต้องหยุดกิจการเลี้ยงสุกรลง ฉะนั้นเมื่อจำเลยทั้งห้าผิดสัญญาไม่ซื้อที่ดิน ความเสียหายที่โจทก์ต้องได้รับจากการไม่ได้เลี้ยงสุกรเป็นความเสียหายโดยตรงจากการผิดสัญญาของจำเลยทั้งห้า การที่โจทก์ที่ 1 ไม่หวนกลับไปเลี้ยงสุกรอีกไม่ทำให้ความเสียหายที่โจทก์ที่ 1 มีอยู่แล้วหมดสิ้นไปแต่อย่างใดฎีกาจำเลยทั้งห้าฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share