คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 398/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ข้อเดียวว่า โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิครอบครองที่พิพาท การที่จำเลยและจำเลยร่วมนำสืบพยานว่าที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดก เป็นการนำสืบแสดงให้เห็นสภาพของที่พิพาทว่า มีความเป็นมาอย่างใดและเหตุใดจำเลยและจำเลยร่วมจึงมีสิทธิเกี่ยวข้องกับที่พิพาทอันอยู่ในประเด็นข้อพิพาทที่ศาลตั้งไว้ หาใช่เป็นการนำสืบพยานนอกประเด็นข้อพิพาทแต่อย่างใดไม่
ที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่โจทก์จำเลย. โจทก์จำเลยจึงมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกร่วมกันตั้งแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรมเป็นต้นมา และทุกคนต่างมีสิทธิใช้ทรัพย์สินที่พิพาทได้ในฐานะเป็นเจ้าของรวม การที่ฝ่ายจำเลยได้แจ้งการครอบครองตามแบบส.ค.1ไว้ก็ดี และที่โจทก์ทั้งสองเป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่ในที่พิพาทตลอดมาก็ดี ถือว่าเป็นการกระทำในหน้าที่ของเจ้าของรวมและเป็นการทำแทนเจ้าของรวมอื่นด้วย ส่วนที่โจทก์ที่1 และโจทก์ที่ 2ต่างเข้าปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่พิพาทก็ถือว่าเป็นการใช้ทรัพย์สินที่พิพาทตามสิทธิของตนในฐานะที่เป็นเจ้าของรวมเท่านั้น. ไม่ถือว่าเป็นการเข้าแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1375

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนต่างฟ้องเป็นทำนองเดียวกันว่า โจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๒ต่างมีที่ดินสวนและที่อยู่อาศัยคนละ ๑ แปลง ได้มาโดยจับจองบุกเบิกเมื่อประมาณ๒๗ ปีมาแล้ว โจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๒ ได้เข้ายึดถือครองครองทำกินแสดงตนเป็นเจ้าของโดยสงบและเปิดเผย ได้แจ้งสำรวจการเสียภาษีบำรุงท้องที่และเสียภาษีตลอดมา ปลายปี พ.ศ. ๒๕๒๑ โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ นำที่ดินแปลงพิพาทไปแจ้งออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) จำเลยได้คัดค้านอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของตน การกระทำของจำเลยเป็นการรบกวนสิทธิครอบครองของโจทก์ โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองมีสิทธิครอบครองห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง
จำเลยให้การทำนองเดียวกันทั้งสองสำนวนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสอง จำเลย นายเที่ยง นายพันธ์ นางสาวผัน นางสาวฝั้น นายแสง และนายศิริซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันโดยได้รับมรดกตกทอดจากบิดามารดาเดียวกันประมาณ ๓๐ ปีมาแล้ว ที่ดินพิพาทโจทก์จำเลยและญาติพี่น้องครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของร่วมกันตลอดมา ยังมิได้แบ่งปันกันออกเป็นสัดส่วน เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๙๘ ทางราชการให้แจ้งการครอบครองที่ดิน จำเลย นายเที่ยง นางสาวฝั้นและนางสาวฝัน ได้แจ้งการครอบครอง (ส.ค.๑) แทนพี่น้องทุกคน จำเลยและพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันตกลงให้โจทก์อยู่อาศัยในที่ดินพิพาทไปก่อนจนกว่าจะตกลงแบ่งปันกัน การเสียภาษีท้องที่ได้ออกเงินร่วมกัน แต่การแจ้งสำรวจและเสียภาษีกระทำในนามโจทก์ โจทก์ทั้งสองไปขอหนังสือรับรองการทำประโยชน์แต่ผู้เดียวเป็นการไม่ชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยานนางถิน นางสาวผัน นางสาวฝั้นและนายศิริยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม โจทก์ทั้งสองไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้เข้าเป็นจำเลยร่วมได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิครอบครองที่พิพาท ห้ามจำเลยจำเลยร่วมทั้งสี่และบริวารเข้าเกี่ยวข้อง
จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสี่อุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ข้อเดียวว่าโจทก์หรือจำเลยมีสิทธิครอบครองที่พิพาท การที่จำเลยและจำเลยร่วมนำสืบว่าที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดก เป็นการนำสืบแสดงให้เห็นสภาพของที่พิพาทว่ามีความเป็นมาอย่างใดและเหตุใดจำเลยและจำเลยร่วมจึงมีสิทธิเกี่ยวข้องกับที่พิพาทอันอยู่ในประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นตั้งไว้ หาใช่เป็นการนำสืบนอกประเด็นข้อพิพาทแต่อย่างใดไม่
ส่วนปัญหาว่าโจทก์จำเลยและจำเลยร่วมได้ครอบครองที่พิพาทร่วมกันและแทนกันหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่พิพาทเป็นมรดกของบิดาโจทก์จำเลยตกทอดแก่โจทก์จำเลย นายเที่ยงสามีจำเลยร่วมที่ ๑ จำเลยร่วมที่ ๒ จำเลยร่วมที่ ๓และจำเลยร่วมที่ ๔ ผู้เป็นบุตรซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย บิดาโจทก์จำเลยถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒ โจทก์จำเลย นายเที่ยง จำเลยร่วมที่ ๒ จำเลยร่วมที่ ๓และจำเลยร่วมที่ ๔ จึงมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกร่วมกันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และทุกคนต่างมีสิทธิใช้ทรัพย์สินที่พิพาทได้ในฐานะเป็นเจ้าของรวม การที่ฝ่ายจำเลยได้แจ้งการครอบครองตาม ส.ค.๑ ไว้ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ก็ดี และที่โจทก์ทั้งสองเป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่ในที่พิพาทตลอดมาก็ดี ถือว่าเป็นการกระทำในหน้าที่ของเจ้าของรวมและเป็นการทำแทนเจ้าของรวมอื่นด้วย ส่วนที่โจทก์ที่ ๑ เข้าปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่พิพาทในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ก็ดี และโจทก์ที่ ๒เข้าปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่พิพาทในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ก็ดี ถือว่าเป็นการใช้ทรัพย์สินที่พิพาทตามสิทธิของตนในฐานะที่เป็นเจ้าของรวมเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นการเข้าแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตจรา ๑๓๗๕
พิพากษายืน

Share