แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยและผู้เสียหายอยู่หมู่บ้านเดียวกันและเป็นเพื่อนกันมาก่อน หากจำเลยมีใจคิดจะฆ่าผู้เสียหายหลังจากทะเลาะวิวาททำร้ายกันแล้วก็สามารถกระทำ ได้ง่ายและคงไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปนานประมาณ 3 เดือนจนเพิ่งมาเกิดเหตุคดีนี้แม้ได้ความว่าจำเลยยังผูกใจเจ็บผู้เสียหายอยู่ ก็ไม่อาจแปลความว่าจำเลยคิดจะฆ่าผู้เสียหายตลอดมา เมื่อจำเลยมาพบผู้เสียหายในงานวัดจึงเกิดความคิดที่จะแก้แค้นผู้เสียหายโดยมิได้มีการพกหรือเตรียมอาวุธมาก่อนแสดงว่าความคิดที่จะฆ่าผู้เสียหายของจำเลยเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อมาพบเห็นผู้เสียหาย ในงานวัดดังกล่าวการที่จำเลยกลับไปบ้านนำอาวุธมีดของกลางมาฟันทำร้ายผู้เสียหายในทันที กรณีจึงไม่แตกต่างกับที่จำเลยไปนำเอาอาวุธมีดจากบริเวณใกล้เคียงมาฟันทำร้ายผู้เสียหายในทันทีที่พบเห็นผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยยังถือไม่ได้ว่าได้กระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4), 371, 33, 91 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) ประกอบด้วยมาตรา 80และมาตรา 52(1), 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้จำคุกตลอดชีวิต และฐานพาอาวุธไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควรปรับ 90 บาท คำให้การจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78ประกอบด้วยมาตรา 53 คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน และปรับ 60 บาทไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 80ลงโทษจำคุก 12 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า ตามวันเวลาที่เกิดเหตุจำเลยใช้อาวุธมีดรวมด้ามยาว 12 นิ้ว ใบมีดกว้าง4.5 เซนติเมตร ของกลางฟันทำร้ายนายทศพร หรือพร สอนพิมพ์ผู้เสียหาย ถูกบริเวณศีรษะเป็นบาดแผลยาวประมาณ 20 เซนติเมตรลึกถึงสมอง กะโหลกศีรษะแตก ยุบ เนื้อสมองฉีกขาดและถูกที่บริเวณแขนซ้ายเป็นบาดแผล หากไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์ทันท่วงที ผู้เสียหายอาจถึงแก่ความตายได้ อันเป็นความผิดฐานพยายามฆ่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ จำเลยและผู้เสียหายให้การในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.11ได้ความว่า เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2538 ผู้เสียหายและจำเลยเกิดทะเลาะวิวาททำร้ายกันแต่ไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กาย หลังจากนั้นจำเลยผูกใจเจ็บผู้เสียหายตลอดมาจนจำเลยมาพบเห็นผู้เสียหายที่งานวัดสว่างอารมณ์ในคืนวันเกิดเหตุแล้วเกิดความต้องการที่จะแก้แค้นผู้เสียหาย จึงกลับไปบ้านเอาอาวุธมีดของกลางมาฟันทำร้ายผู้เสียหายในวัดที่เกิดเหตุเห็นว่าจำเลยและผู้เสียหายอยู่หมู่บ้านเดียวกันและเป็นเพื่อนกันมาก่อนหากจำเลยมีใจคิดว่าจะฆ่าผู้เสียหาย หลังจากทะเลาะวิวาททำร้ายกันแล้วก็สามารถกระทำได้ง่ายและคงไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปนานประมาณ 3 เดือน เพิ่งมาเกิดเหตุคดีนี้ แม้ได้ความว่าจำเลยยังผูกใจเจ็บผู้เสียหายอยู่ ก็ไม่อาจแปลความว่าจำเลยคิดจะฆ่าผู้เสียหายตลอดมา จะเห็นได้ว่าจำเลยมาพบผู้เสียหายในงานวัดจึงเกิดความคิดที่จะแก้แค้นผู้เสียหายโดยมิได้มีการพกหรือเตรียมอาวุธมาก่อน แสดงว่าความคิดที่จะฆ่าผู้เสียหายของจำเลยเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อมาพบเห็นผู้เสียหายในงานวัดดังกล่าวการที่จำเลยกลับไปบ้านนำอาวุธมีดของกลางมาฟันทำร้ายผู้เสียหายในทันที กรณีจึงไม่แตกต่างกับที่จำเลยไปนำอาวุธมีดจากบริเวณใกล้เคียงมาฟันทำร้ายผู้เสียหายในทันทีที่พบเห็นผู้เสียหายซึ่งเป็นคนที่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน การกระทำของจำเลยยังถือไม่ได้ว่าได้กระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน