คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2537/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตและอาคารที่ดัดแปลงไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม มาตรา 4 พระราชบัญญัติ ควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 ได้มีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ดัดแปลงโดยไม่รับอนุญาตภายใน 30 วัน จำเลยรับแจ้งคำสั่งแล้วไม่ปฏิบัติตามผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตได้ ตามมาตรา 42 วรรคสาม เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2528 จำเลยได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารโดยมีเงื่อนไขให้จำเลยรื้อถอนอาคารเดิมออก มิฉะนั้นจะถือว่าปลูกสร้างผิดจากแบบแปลงแผนผังที่ได้รับอนุญาต ปรากฏว่าจำเลยมิได้รื้อถอนผนังกำแพงด้านข้างและต้นเสา 2 ด้านของอาคารเดิม กลับก่อสร้างอาคารชั้นเดียวเชื่อมต่อจากอาคาร 4 ชั้น ไปด้านหน้าด้านถนนและก่อสร้างอาคารเชื่อมต่อจากอาคาร 4 ชั้น ปกคลุมแนวร่นของอาคารไว้ทั้งหมด โดยก่อสร้างขึ้นหลังจาก พระราชบัญญัติ ควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มีผลใช้บังคับแล้วไม่ใช่ก่อสร้างอาคารพิพาทภายในแนวเขตที่ดินและตามแนวอาคารเดิมซึ่งได้ก่อสร้างขึ้นก่อนพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ใช้บังคับ จึงเป็นการดัดแปลงที่ผิดไปจากแบบแปลนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยต้องรื้อถอน การฟ้องขอให้รื้อถอนอาคารส่วนที่ดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย มิใช่ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 โจทก์ฟ้องให้รื้อถอนได้ตราบเท่าที่อาคารซึ่งฝ่าฝืนกฎหมายยังคงอยู่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ดัดแปลงอาคาร 4 ชั้นของจำเลย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และอาคารที่จำเลยดัดแปลงไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างและให้รื้อถอนอาคารส่วนที่ปลูกสร้างดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตภายใน 30 วัน จำเลยได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าวแล้วไม่ปฏิบัติตามโดยไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งนั้นภายในกำหนดขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนส่วนของอาคารที่ดัดแปลงต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาตถ้าจำเลยไม่รื้อถอนก็ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนได้เองโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายหรือเป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยได้ก่อสร้างเพิ่มเติมตัวอาคารโดยความเห็นชอบของหน่วยราชการที่รับผิดชอบ จำเลยได้ปลูกสร้างภายในขอบเขตของแนวอาคารเดิมทุกประการไม่ได้ล่วงล้ำแนวร่น ด้านหน้าและด้านข้างของตัวอาคารแต่อย่างใด โจทก์ทราบถึงเหตุการทำละเมิดของจำเลยโดยเจ้าหน้าที่ของโจทก์รายงานการตรวจพบการทำละเมิดเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2528 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2531ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนส่วนของอาคารที่ดัดแปลงต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาตที่สร้างปกคลุมแนวร่นเชื่อมติดกับอาคารเลขที่ 414/1 ถนนวานิช 1 แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์กรุงเทพมหานคร ของจำเลย ด้านหน้าอาคารที่ติดถนนวานิช 1 กว้าง3.00 เมตร ยาว 4.50 เมตร และด้านข้างอาคารทางทิศตะวันออกด้านที่ติดถนนเยาวพานิช กว้าง 3.00 เมตร ยาว 18.00 เมตรออกไปภายในกำหนด 30 วัน ถ้าจำเลยไม่ยอมรื้อถอนก็ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนได้เองตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42 โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนให้โจทก์ทั้งสิ้น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามที่จำเลยฎีกาเป็นข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ในปัญหานี้จำเลยฎีกาว่า ความเสียหายหรือการโต้แย้งสิทธิในคดีนี้เกิดขึ้นแก่กรุงเทพมหานครโดยตรง มิได้เกิดขึ้นแก่โจทก์โจทก์มีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารในฐานะผู้แทนของกรุงเทพมหานคร เมื่อไม่ปรากฏว่ากรุงเทพมหานครได้มอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเห็นว่า โจทก์เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 และอาคารที่จำเลยดัดแปลงไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ โจทก์ได้มีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ดัดแปลงโดยไม่รับอนุญาตภายใน 30 วัน จำเลยรับแจ้งคำสั่งนั้นแล้วไม่ปฏิบัติตาม โจทก์จึงย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตเช่นนั้นได้ ตามมาตรา 42 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยก่อสร้างอาคารพิพาทภายในแนวเขตที่ดินและตามแนวเขตอาคารเดิม ซึ่งได้ปลูกสร้างขึ้นก่อนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ใช้บังคับ แม้ขณะจำเลยก่อสร้างอาคารพิพาทมีพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ออกบังคับใช้แล้ว กฎหมายดังกล่าวก็มิได้มีส่วนใช้บังคับแก่กรณีของจำเลยนั้น ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงได้ความตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า เมื่อวันที่ 2พฤษภาคม 2528 จำเลยได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารตึกแถว4 ชั้นในที่ดินของจำเลยซึ่งอาคารเดิมถูกไฟไหม้เสียหายตามแบบแปลนแผนผังเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.7 แนบท้ายหนังสืออนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารเอกสารหมาย จ.4 โดยมีเงื่อนไขในหนังสือดังกล่าวให้จำเลยรื้อถอนอาคารเดิมออกทันทีที่ได้รับอนุญาต มิฉะนั้นจะถือว่าปลูกสร้างผิดจากแบบแปลนแผนผังที่ได้รับอนุญาต จำเลยจึงต้องก่อสร้างอาคารตึกแถว 4 ชั้น โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวและตามแบบแปลนแผนผังเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.7 ตามที่ได้รับอนุญาตนั้น ซึ่งตามแบบแปลนแผนผังดังกล่าวจะไม่มีการสร้างอาคารตามแนวร่นของอาคาร แต่ปรากฏว่าจำเลยมิได้รื้อถอนผนังกำแพงด้านข้างและต้นเสา 2 ต้นของอาคารเดิมโดยจำเลยกลับก่อสร้างอาคารชั้นเดียวเชื่อมต่อจากอาคาร 4 ชั้นไปทางด้านหน้า ด้านถนนวานิช 1 กว้าง 3.00 เมตร ยาว 4.50 เมตรและก่อสร้างอาคารชั้นเดียวเชื่อมต่อจากอาคาร 4 ชั้นไปทางด้านข้างด้านทิศตะวันออกด้านถนนเยาวพาณิช กว้าง 3.00 เมตร ยาว 18.00 เมตรปกคลุมแนวร่นของอาคารไว้ทั้งหมด ดังปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ.8ถึง จ.13 การดัดแปลงอาคารพิพาทส่วนที่ปกคลุมแนวร่นทั้งด้านหน้าและด้านข้างในอาคารตึกแถว 4 ชั้นของจำเลยดังกล่าว จึงเป็นการดัดแปลงที่ผิดไปจากแบบแปลนโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นการฝ่าฝืนและต้องห้ามตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 22และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522ข้อ 72 วรรคสอง อย่างแจ้งชัด ซึ่งเป็นที่เห็นได้ว่าอาคารที่จำเลยดัดแปลงนี้ไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ นอกจากจะต้องรื้อถอนออกไปจากแนวร่นของอาคารที่ต้องเว้นไว้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้นที่จำเลยฎีกาว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นการกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพราะเป็นการก่อสร้างอาคารภายในแนวเขตอาคารเดิมที่ได้ปลูกสร้างก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยดัดแปลงอาคารดังกล่าวในปี 2528 หลังจากที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มีผลใช้บังคับแล้ว การกระทำของจำเลยจึงอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติ ดังกล่าว ซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิจะดัดแปลงอาคารได้เช่นนั้น ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
ที่จำเลยฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยภายในกำหนด 1 ปี นับแต่โจทก์ทราบเหตุละเมิดและรู้ตัวว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420และมาตรา 448 นั้น เห็นว่า การฟ้องขอให้รื้อถอนอาคารส่วนที่ดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย มิใช่การฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448หากแต่เป็นการฟ้องโดยอาศัยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษที่มีวัตถุประสงค์คุ้มครองประโยชน์และความปลอดภัยแก่ประชาชนเป็นสำคัญ โจทก์จึงฟ้องบังคับให้รื้อถอนได้เสมอตราบเท่าที่อาคารซึ่งฝ่าฝืนกฎหมายยังคงอยู่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share